ส.ส.ธัญวัจน์ ชงแก้นิยาม "กระทำชำเรา" ในกฎหมาย ให้ครอบคลุมบุคคลข้ามเพศ
ที่อาคารรัฐสภา ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอแนะให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร แก้ไขคำนิยาม "กระทำชำเรา" ให้คุ้มครองบุคคลข้ามเพศ และแก้ไขคำนิยาม "คุกคามทางเพศ" โดยเสนอให้ระบุให้ชัดเจนเพื่อไม่เกิดความคลุมเครือในการพิจารณาคดีและไม่เปิดช่องว่างให้จำเลยใช้เป็นข้ออ้างว่าชอบพอกัน
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กล่าวว่า ข้อเสนอบทนิยามของคำว่า กระทำชำเรา ซึ่งอยู่ใน "ฑ" มณโฑ ของรายงาน คือ "มาตรา 1 (18) กระทำชำเรา หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศหรือสิ่งอื่นใดของผู้กระทำหรือของผู้อื่นล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นหรือของผู้กระทำ" อยากขอเสนอเปลี่ยนแปลงข้อความ โดยให้หมายรวมถึงอวัยวะเพศที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศด้วย เพราะที่ผ่านมามีกรณีที่ ผู้หญิงข้ามเพศ โดนข่มขืนแล้วศาลตีความว่าผู้หญิงที่ผ่าตัดแปลงเพศว่าแผลผ่าตัดเท่านั้น และในบทบัญญัติที่คณะกรรมาธิการเสนอไม่ได้หมายรวมถึงกรณีเช่นนี้ หากไม่นิยามให้ครอบคลุม โทษการข่มขืนกระทำชำเราที่ผู้ที่กระทำผิดควรได้รับอาจได้รับโทษเพียงแค่การทำร้ายร่างกายเท่านั้น
ในประเด็นถัดมาเกี่ยวกับคือข้อเสนอเพิ่มบทนิยามของคำว่า "คุกคามทางเพศ" ในมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งในรายงานฉบับนี้อยู่ในหน้า "ฒ" โดยมีการนิยามดังนี้ "มาตรา 1 การคุกคามทางเพศ หมายความว่า การกระทำหรือพฤติการณ์อื่นใด ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยทางกาย วาจา และ การส่งเสียง การแสดงอากัปกิริยาท่าทาง การแสดงหรือสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ ไม่ว่าจะกระทำต่อหน้า หรือกระทำโดยการสื่อสารในช่องทางใด ที่ส่อไปในทางเพศ เป็นเหตุให้เดือดร้อนรำคาญ อับอายหรือถูกเหยียดหยาม และรวมถึงการติดตามรังควาน หรือกระทำการใดที่ตามวิสัยและพฤติการณ์อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในทางเพศ" ซึ่งในเรื่องนี้ตนมีข้อสังเกตว่า นี่จะเป็นการคาดคะเนเหตุการณ์ของผู้เขียนกฎหมายซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เท่านั้น
"ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เราต้องกำหนดและเพิ่มให้ชัดนั่นก็คือ Consent ซึ่งภาษาไทยแปลว่า การยินยอม หรือไม่ยินยอม ถ้าเราไม่กำหนดตรงนี้ลงไปในการบัญญัติ จะทำให้การพิจารณาคดีนั้นเกิดความคลุมเครือ และตีความได้กว้าง รวมถึงจะเกิดการกลั่นแกล้งโดยใช้ช่องว่างทางกฎหมายได้ เพราะเมื่อเหตุการณ์คุกคามทางเพศเกิดขึ้น และมีการฟ้องร้องกัน มีฝ่ายหนึ่งจะบอกว่าตนเองถูกคุกคาม และอีกฝ่ายหนึ่งก็อาจจะแก้ต่างด้วยให้เหตุผลว่า เป็นการปฏิบัติตามลักษณะคนชอบพอกัน ทำให้ยากที่จะพิจารณาและทำให้เกิดความคลุมเครือ จึงเสนอให้บัญญัติเพิ่มคำว่า "ที่ผู้ถูกกระทำไม่ยินยอม" หลังคำว่า การกระทำโดยการสื่อสารในช่องทางใด ที่ส่อไปในทางเพศ ตามรายงานที่เสนอมาในฉบับนี้ เมื่อกฎหมายบัญญัติเช่นนี้ หากมีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นโดยที่ผู้ถูกกระทำไม่ยินยอม ก็จะทำให้ผู้ถูกกระทำแสดงความชัดเจนว่า "ตนเองไม่ต้องการ และไม่ยินยอม" เป็นการป้องกันตัวจากการเหตุการณ์การคุกคามทางเพศได้"
นอกจากนี้ ธัญวัจน์ ยังได้ทิ้งท้ายด้วยว่า ควรมีการส่งเสริมการเคารพสิทธิร่างกายของตนเองและของผู้อื่น ให้เรียนรู้ว่าไม่ควรจับต้องร่างกายส่วนใดของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และต้องส่งเสริมให้กล้าแสดง Consent ของตนเอง กล้าพูด กล้าปฏิเสธ อย่างชัดเจน