ส.ส.พัชรินทร์ ยืนยัน "ฉีดให้ฝ่อ" แค่ชั่วคราว หลังผู้ทำผิดพ้นโทษ ชง สธ.-ยุติธรรม ศึกษาต่อ

ส.ส.พัชรินทร์ ยืนยัน "ฉีดให้ฝ่อ" แค่ชั่วคราว หลังผู้ทำผิดพ้นโทษ ชง สธ.-ยุติธรรม ศึกษาต่อ

ส.ส.พัชรินทร์ ยืนยัน "ฉีดให้ฝ่อ" แค่ชั่วคราว หลังผู้ทำผิดพ้นโทษ ชง สธ.-ยุติธรรม ศึกษาต่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"พัชรินทร์" สรุปข้อเสนอ กมธ.วิสามัญแก้ปัญหาการข่มขืนฯ เสนอฉีดให้ฝ่อชั่วคราว หลังพ้นโทษ พร้อมชงรายละเอียดให้ สาธารณสุข-ยุติธรรม พิจารณาอีกครั้ง

นางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนและกระทำชำเราและล่วงละเมิดทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงาน กมธ.วิสามัญแก้ปัญหาการข่มขืนฯ ว่า ที่ประชุมสภาฯ รับทราบถึงรายงานพิจารณาการศึกษาและข้อสังเกตของ กมธ.ไปยังรัฐบาลในการปรับใช้ โดยมีเนื้อหาสาระตั้งแต่กระบวนการป้องกันแรกเริ่ม จนถึงการลงโทษผู้กระทำความผิด ซึ่งมีการหารือกันในเบื้องต้นตั้งแต่ชั้น กมธ.ว่า ที่ผ่านมาโทษการข่มขืนสูงที่สุดคือการประหารชีวิต แต่การกระทำความผิดคดีประเภทนี้ยังไม่สิ้นสุด จึงมีการถกเถียงกันและหาข้อมูลว่าในต่างประเทศมีการลงโทษอย่างไรบ้าง ทั้งการประหารชีวิต และการบำบัดฟื้นฟูด้านต่างๆ รวมไปถึงการฉีดฮอร์โมนให้ฝ่อ

"ยืนยันว่าไม่ได้ให้ฝ่อถาวร แต่เป็นการใช้ฮอร์โมนไประงับอารมณ์ทางเพศเพียงชั่วคราวในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นทางเลือกโดยการยินยอมจากผู้กระทำความผิด โดยเป็นการฉีดหลังจากพ้นโทษทุก 3 เดือน สำหรับกรณีที่มีความเสี่ยงว่าจะกระทำความผิดซ้ำ แต่ก็มีประเด็นเรื่องงบประมาณที่สูงมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ดังนั้นทาง กมธ.จึงให้ข้อสังเกตว่าจะนำกระบวนการนี้มาปรับใช้ในสังคมไทยอย่างไร" นางสาวพัชรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ นางสาวพัชรินทร์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันยังมีการเสนอให้ลงทะเบียนดีเอ็นเอ (DNA) และระบบติดตามผู้กระทำความผิดในกลุ่มเสี่ยงที่จะทำความผิดอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนของผู้กระทำความผิดด้วย แต่ก็อยากให้คำนึงถึงสิทธิของคนที่อยู่ในสังคมอย่างปลอดภัยเช่นกัน ซึ่งสาระสำคัญทั้งหมดไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะการป้องกันความปลอดภัยของเพศหญิงเท่านั้นแต่รวมถึงทุกเพศ

นางสาวพัชรินทร์ กล่าวอีกว่า รายงานของคณะ กมธ.เป็นมติที่เห็นด้วยทั้งหมด ไม่มีผู้สงวนข้อสังเกตที่ต่างออกไป และจะส่งไปยังรัฐบาลเพื่อไปปรับใช้ โดยมีข้อเสนอว่าการศึกษารายละเอียดจะต้องให้กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุขศึกษาอีกครั้ง และเมื่อรัฐบาลนำข้อสังเกตไปดำเนินการ ก็ขอให้มารายงานความคืบหน้าให้สภาฯ ทราบ แต่เบื้องต้นไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาเอาไว้ แต่ตนจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการผลักดันในด้านอื่น ร่วมกับ นายจักรพันธ์ พรนิมิตร และนางสาวกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ เดินหน้ายื่นข้อเสนอแนะตามกระทรวง และร่วมกับภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานต่างๆ เพื่อสร้างเมืองปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เพราะถ้าเมืองปลอดภัย ผู้หญิงก็จะปลอดภัย รวมถึงคนทุกเพศก็จะปลอดภัยด้วยเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook