ครูเซ็นค้ำประกัน กยศ. ให้ลูกศิษย์ สุดท้ายแบกหนี้กว่า 1.7 แสนบาท บ้านกำลังจะถูกยึด
เห็นแก่อนาคตของศิษย์ เซ็นค้ำประกัน กยศ.ให้ สุดท้ายอดีตครูเมืองคอน ต้องหาเงินจ่ายหนี้แทนศิษย์กว่า 1.7 แสน ร้องสื่อทั้งน้ำตา วอนศิษย์ช่วยจ่ายหนี้บ้าง
แทนที่ชีวิตหลังวัยเกษียณจะได้อยู่อย่างสบายๆ แต่กลับกลาย ต้องมาหาเงินใช้หนี้ กยศ. แทนลูกศิษย์ นางวันดี จินา อายุ 77 ปี อดีตครูของโรงเรียนฉวางรัชดาภิเษก อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช พร้อมนายวราพงษ์ จินา อายุ 80 ปี สามีได้เดินทางเข้าร้องเรียนสื่อมวลชน หลังจากเมื่อปี 2540 นางวันดี ได้เซ็นค้ำประกันเงินกู้จากกองทุนเงินกู้เพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้นายศราวุฒิ อายุ 40 ปี ชาว ต.ฉวาง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช อดีตลูกศิษย์
แต่ผ่านมากว่า 20 ปี นายศราวุฒิ และครอบครัวกลับไม่รับผิดชอบหนี้ กยศ.จนกระทั่ง บริษัท เศรษฐคณา จำกัด ผู้รับมอบอำนาจจากกองทุน กยศ.ได้ยื่นฟ้องนางวันดี ในฐานะผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้นายศราวุฒิ ต่อศาลจังหวัดทุ่งสง ตามคดีหมายเลขดำที่ 1747/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 2096/2551 จนศาลสั่งยึดทรัพย์บ้านและที่ดิน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนางวันดีและสามีในปัจจุบัน
นางวันดี เล่าว่า ในปี 2540 นโยบายเงินกู้เงิน กยศ. เพิ่งเริ่มดำเนินการใหม่ๆ ณ ตอนนั้น นายศราวุฒิ เรียนในระดับชั้นมัธยมปลาย และต้องการกู้เงินแค่ 8,000 บาทเศษ เท่านั้น นายศราวุฒิและครอบครัว ก็มาวิงวอนขอให้ตนช่วยเหลือเซ็นค้ำประกันเงินกู้ให้ ตนเห็นแก่อนาคตของลูกศิษย์ อยากให้ลูกศิษย์ได้เรียนจบ ม. 6 จึงเซ็นค้ำประกันเงินกู้ให้ จนกระทั่ง ตนเกษียณอายุราชการมาหลายปี ทางกองทุน กยศ. ได้ส่งเอกสารทวงหนี้มาถึงตน เพราะนายศราวุฒิ ลูกศิษย์ในฐานะผู้กู้ ไม่ได้จ่ายหนี้เงินกู้ กยศ.เลย ที่สำคัญตนเซ็นคำประกันให้แค่ 8,000 บาท ในช่วงเรียนมัธยมปลายเท่านั้น แต่นายศราวุฒิ กลับนำหลักฐานเดิมไปกู้เงิน กยศ.ต่อเนื่องในการเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
จากการตรวจสอบพบว่ายอดเงินกู้เป็นเงินต้นสูงถึง 86,490 บาท ดอกเบี้ย 12,574.98 บาท เบี้ยปรับ 75,058.03 บาท รวมยอดหนี้ทั้งสิ้น 174,123.01 บาท ตนจึงไปทวงถามกับพ่อแม่ของนายศราวุฒิ ด้านพ่อแม่ของนายศราวุฒิ ก็ยืนยันว่าเขาพร้อมรับผิดชอบเองทั้งหมด คุณครูไม่ต้องเป็นห่วง หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยโดยตนได้พาพ่อแม่ของนายศราวุฒิ ไปพบเจ้าหน้าที่ ซึ่งตนคิดว่าพ้นภาระการรับผิดชอบจากตนไปแล้ว
แต่เมื่อเดือน พฤศจิกายน ปี 2561 ตนได้รับหนังสือสำนักงานบังคับคดีนครศรีธรรมราช สาขาทุ่งสง ลงวันที่ 11 ก.ย. 2561 ให้บังคับคดีตามยึดทรัพย์จำเลยที่ 1-3 และบัดนี้ได้ยึดบ้านสิ่งปลูกสร้างของตน ในฐานะที่ตนเป็นจำเลยที่ 2 คือ บ้านและที่ดินที่ตนและสามีอยู่อาศัย
ในวันที่ 12 พ.ย. 2561 ตนจึงไปขอไกล่เกลี่ยผ่อนจ่ายมีกำหนด 24 เดือน ชำระงวดแรกวันที่ 5 ธ.ค. 2561 และหากไม่จ่ายให้เสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนด ภายในเดือน พ.ย. ปี 2563 ถือว่าข้อตกลงเป็นอันยกเลิกและจะยินยอมให้ กยศ.บังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป ซึ่งก็คือการขายทอดตลาดบ้านพร้อมที่ดินของตน
และเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2561 ตนแจ้งได้ไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ไว้เป็นหลักฐาน เนื่องจากราคาบ้านและที่ดินที่ถูกยึดทรัพย์มีมูลค่ามากกว่าหนี้สินที่ตนค้ำประกัน โดยมียอดหนี้ที่ต้องจ่าย 149,904.02 บาท
นางวันดี น้ำตาคลอเบ้าเล่าต่อว่า ตนเป็นข้าราชการเกษียณมีเงินบำนาญเดือนละไม่ถึง 20,000 บาท มีภาระที่ต้องจ่ายหนี้สินส่วนตัวและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ส่วนสามีประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ซึ่งหลายปีที่ผ่านมายางพาราราคาตกต่ำ จนมีรายได้น้อยมาก ตนจึงต้องปลูกผักสวนครัว เก็บไปขาย เพื่อเก็บเงินเดือนละ 3,000-4,000 บาท นำไปจ่ายหนี้ กยศ.ตามที่ตกลงกับกองทุน ฯ ไว้ทุกเดือน
แต่ในระยะหลัง ตนมีอายุมากขึ้นปลูกผักไม่ค่อยไหว จึงไม่มีเงินไปจ่ายหนี้ กยศ.ตามที่ตกลงไว้ ในขณะนี้เหลือยอดที่ต้องจ่ายอีกกว่า 70,000 บาท แต่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือน ตนคงไม่มีทางหาเงินมาจ่ายหนี้ดังกล่าวได้ทันแน่ และคงถูกบังคับคดียึดบ้านและที่ดินไปขายทอดตลาดอย่างแน่นอน
นางวันดี เล่าอีกว่า ตอนแรกที่ถูกตามทวงหนี้นายศราวุฒิ มีครอบครัวและอาศัยอยู่ในกรุงเทพ แต่ในปัจจุบันนายศราวุฒิ ย้ายกลับมาอยู่บ้านในตลาด อ.ฉวาง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ทำธุรกิจเปิดร้านขายอาหาร มีฐานะดีพอสมควร ตนพยายามวิงวอนขอร้องลูกศิษย์รวมทั้งพ่อแม่ของนายศราวุฒิ ให้แสดงน้ำใจช่วยเหลือตนจ่ายหนี้ กยศ.ที่เหลือกว่า 70,000 บาท แต่นายศราวุฒิและครอบครัวกลับเมินเฉย ไม่สนใจใยดี ทั้งยังพูดจาไม่ดีใส่ตนอีก
ตอนนี้ตนไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร จึงมาร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากสื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตนฝากวอนถึงครอบครัวและนายศราวุฒิว่า อย่าทำอย่างนี้ อย่ามาทิ้งภาระทั้งหมดให้กับตนเลย ตนไม่ได้มีส่วนได้เสียกับเงินกู้แม้แต่สตางค์เดียว ขอให้สงสารตนด้วย ตนและสามีอายุมากแล้ว เดือดร้อนมาก ทำงานหาเงินมาจ่ายหนี้แทนลูกศิษย์ไม่ไหวแล้ว