ประชาชนมองทุกคนมีสิทธิ "เห็นต่าง" ทางการเมือง ชี้ไม่ควรโจมตี-ต่อต้านอีกฝ่าย
"นิด้าโพล" ปชช. ไม่เห็นด้วยรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ต่อต้านผู้เห็นต่างทางการเมือง มองทุกคนมีสิทธิที่จะเห็นต่าง -ไม่กลัวโดนต้านหากวิจารณ์
“นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสํารวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศจำนวน1,326 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง“เสรีภาพในการโจมตีผู้เห็นต่าง ” ทําการสํารวจระหว่างวันที่1-3กันยายน 2563 เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อต่อต้าน/โจมตี ผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.58ระบุว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพที่กระทําได้ในระบอบประชาธิปไตย รองลงมา ร้อยละ 13.20ระบุว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองร้อยละ 12.14 ระบุว่า เป็นแค่การทําตามกระแส ร้อยละ 8.90 ระบุว่า ผู้ถูกต่อต้าน/โจมตีผ่านสื่อออนไลน์ก็มีสิทธิตอบโต้กลับ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อต่อต้าน/โจมตี ผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองพบว่า ร้อยละ 17.19ระบุว่า เห็นด้วยมากเพราะ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่สามารถกระทําได้โดยการแสดงออกผ่านสื่อออนไลน์ที่หลากหลายช่องทาง ร้อยละ 17.65ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ เป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองผ่านสื่อออนไลน์ และเป็น ช่องทางที่แสดงความคิดเห็นง่ายที่สุด ร้อยละ 20.36ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ เป็นการละเมิดสิทธิผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ร้อยละ 37.18ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นที่ต่างกัน ควรเคารพความคิดเห็น ไม่ควรโจมตีคนที่เห็นต่างทางการเมืองและร้อยละ 7.62ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนความกลัวของประชาชนหากมีการแสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง แล้วจะถูกต่อต้าน/โจมตี ผ่านสื่อออนไลน์พบว่า ร้อยละ 10.48ระบุว่า กลัวมากเพราะทุกเพศ ทุกวัยมีสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่าย สามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วร้อยละ 20.67ระบุว่า ค่อนข้างกลัว เพราะ เกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่ออาชีพการงาน เรื่องส่วนตัว และครอบครัว ร้อยละ17.35ระบุว่า ไม่ค่อยกลัว เพราะ ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ แต่อยู่ในกรอบของกฎหมายร้อยละ46.30ระบุว่า ไม่กลัวเลย เพราะเป็นสิทธิและเสรีภาพที่สามารถแสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองในพื้นที่ส่วนตัวของตนเองโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงผลกระทบต่อการตัดสินใจในการบริโภคของประชาชน จากกรณีที่มีการรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์เพื่อแบนสินค้า/บริการของผู้สนับสนุนหรือผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง พบว่า ร้อยละ 11.16 ระบุว่า มีผลกระทบมากเพราะ มีผลทางด้านจิตใจกับผู้สนับสนุนหรือผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง ทําให้แบนสินค้านั้น ๆ ตามไปด้วย ร้อยละ 15.31ระบุว่า ค่อนข้างมีผลกระทบ เพราะผู้สนับสนุนหรือผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองไม่มีใจเป็นกลาง ทําให้ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้านั้นๆ ด้วย ร้อยละ 12.90ระบุว่าไม่ค่อยมีผลกระทบ เพราะ การบริโภคสินค้าจะดูจากสรรพคุณ คุณภาพ และคุณสมบัติมากกว่าปัจจัยอื่น ๆ ร้อยละ 57.46ระบุว่า ไม่มีผลกระทบเลย เพราะดูที่ตัวสินค้าเป็นหลักในการบริโภค และขึ้นอยู่กับความพึงพอใจหรือความชอบส่วนตัวมากกว่า พรีเซ็นเตอร์หรือยี่ห้อสินค้า และร้อยละ 3.17ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ