นายกฯหนุนผลิต แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
พร้อมแก้โจทย์ระบบสุขภาพ 3 ข้อ หนุนการทำงานเชิงรุก สร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิให้เป็นรูปธรรม
ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท วันนี้(10 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการโรงพยาบาลชุมชนประจำปี 2552 และได้ปาฐกถาพีร์คำทอน เรื่อง "แพทย์ชนบท : แรงบันดาลใจในระบบสุขภาพพอเพียง" ว่า ปัจจุบันสภาวการณ์เกี่ยวกับสุขภาพเป็นเรื่องท้าทาย ไม่เฉพาะประเทศไทยแต่เป็นสิ่งที่ท้าทายทั่วโลก แม้แต่ประเทศมหาอำนาจก็มีปัญหาระบบสุขภาพไม่จบไม่สิ้น เพราะไม่มีอะไรที่มีคุณค่ากว่าชีวิตคน ดังนั้น การดูแลสุขภาพรักษาจึงต้องทุ่มเทเต็มที่ การดูแลภารกิจสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีการพัฒนาและทำให้การรักษาง่ายขึ้น แต่ในความเป็นจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากมาตรฐานการรักษาและความคาดหวังก็ถูกทำให้สูงขึ้นตาม เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้การบริการรักษาที่เพียงพอและบรรลุเป้าหมายการมี สุขภาพวะที่ดี
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้มีปัญหาระบบสุขภาพที่ต้องแก้ไข โดยมีประเด็นหลักๆ 3 ประการ คือ 1.ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรในระบบสาธารณสุขที่ไม่รุนแรงถึงขั้นวิกฤต เพียงแต่ทรัพยากรที่มีอยู่กระจายไม่เป็นธรรม โดยพื้นที่เจริญที่สุดเมื่อเปรียบกับพื้นที่ขาดแคลนบุคลากร สัดส่วนต่างกัน 10 เท่า 2.ความเป็นธรรมของระบบสุขภาพ มีอยู่ 3 ระบบด้วยกัน คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ดูแลประชากรกว่า 40 ล้านคน ระบบประกันสังคมที่ถูกตั้งคำถามว่า จ่ายเงินสมทบแล้วสิทธิประโยชน์กับด้อยกว่าระบบแรก และระบบข้าราชการที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าระบบหลักประกันสุขภาพ 10 เท่า ถือเป็นเรื่องที่ต้องสะสาง รวมถึง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่ต้องปรับรื้อพอสมควร และ 3.ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าตามซ่อมสุขภาพมากว่าการสร้างเสริมสุขภาพ ตนคิดว่าโจทย์ทั้ง 3 ข้อเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการในการสนับสนุนการทำงานเชิงรุกและระบบ สุขภาพปฐมภูมิให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ยังมีโจทย์สำคัญที่ต้องปรับปรุงระบบรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น คือ การสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ดี เช่นเดียวกับในหลายประเทศให้บริการอยู่ โดยเฉพาะในยุโรป คือ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งหากมีอุปสรรคอะไรรัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันเพราะเรื่องนี้ถือเป็นหัวใจ สำคัญในการดูแลและป้องกันปัญหาสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะการดูแลปัญหาโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่
ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวเห็นด้วยกับแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่จะสนับสนุนการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ ครอบครัวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวไม่ถึง 200 คนทั่วประเทศ อีกทั้งโรงเรียนแพทย์ก็เปิดสอนน้อยลง เนื่องจากไม่มีแพทย์สนใจเรียนเพราะไม่มีแรงจูงใจเรื่องค่าตอบแทน ส่วนใหญ่จะเลือกเรียนแพทย์เฉพาะทางที่รายได้และความก้าวหน้าในอาชีพมากกว่า หากมีการดำเนินการเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคเพราะ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะทำหน้าที่เหมือนแพทย์ประจำครอบครัว ซึ่งจะรู้ประวัติสุขภาพของคนในครอบครัวที่ตนรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามอยากให้แพทยสภากำหนดสัดส่วนการผลิตแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น.