ผ่อง เซ่งกิ่ง กับศิลปะเพื่อละตัวตน
ผ่อง เซ่งกิ่ง แห่งสถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ เผยเทคนิคการสอนวาดรูปเพื่อภาวนา วิชาว่าด้วยการเข้าใจตัวเองผ่านงานศิลปะ
การวาดภาพแบบนี้ ไม่ต้องการความงาม เป็นการฝึกละความคิด ทลายกรอบต่างๆ ที่สะสมมาทั้งชีวิต ลองเคลื่อนมือวาด โดยไม่มองเส้นที่ลากบนกระดาษ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น...เรื่องนี้คุณต้องค้นหาเอง
ห้วงเวลาที่เราเพลิดเพลินกับการวาดรูป แต่งแต้มสีสัน แม้จะได้สมาธิ แต่ยังมีช่องว่างให้คิด มีความคาดหวังในผลงาน หรือมีความเครียดเพราะอยากให้งานเสร็จเร็วๆ
ส่วนการวาดรูปวิธีนี้ ค่อยๆ จรดดินสอเคลื่อนมือตามความรู้สึกช้าๆ โดยไม่มองภาพที่วาดในกระดาษ ไม่ยกดินสอ แต่เคลื่อนไปตามโครงสร้างของสิ่งที่วาด แบบอาจเป็นใบหน้าของเพื่อน ผลไม้หรือวัสดุสิ่งของ
วิธีการดังกล่าวเป็นบทเรียนหนึ่งจาก อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง หัวหน้าชุมชนบ้านช่าง สถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ผู้สอนศิลปะให้นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรศึกษาศาสตร์ สาขาการศึกษาแบบองค์รวม และปริญญาโทสาขาสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชน รวมถึงเป็นวิทยากรสอนวาดรูปเพื่อการภาวนาด้วย
วาดเพื่อการภาวนา
"รื้อสิ่งที่เคยเรียนมา...ความคิด ความเห็น สัญญะสัญญาที่ติดตัว ทำลายความคิดแบบนั้นออกไป ลองวาดตามความรู้สึก ตามอง มือเคลื่อนไปตามเส้น เขียนจากความเป็นจริง ไม่ใช้ความคิดหรือนึกเอาว่า ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทลายความกลัวออกไป"
ความกลัวเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะมนุษย์มีกรอบในชีวิตมากมายที่ทำให้เราเกิดความกลัวที่จะทำสิ่งใหม่ๆ เหมือนเช่นที่อาจารย์ผ่อง บอกว่า ถ้าให้วาดรูปต่างจากที่เคยเรียน คนวาดก็จะเกิดความไม่มั่นใจ แต่วิธีการแบบนี้ ลายเส้นและลีลาของรูปสามารถบอกถึงสภาวะจิตในห้วงเวลานั้น เพราะการเคลื่อนมือวาดรูปอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ยกดินสอ เป็นอีกวิธีในการตรวจสอบใจตัวเอง เมื่อใดก็ตามที่เรามีความคิดแวบเข้ามา มือที่กำลังลากเส้นก็จะสะดุด
"ลองทำสักครั้ง ก็จะรู้" อาจารย์ผ่องบอก ขณะเคลื่อนมือวาดเส้นด้วยอารมณ์สงบ แม้แบบจะอยู่ไม่นิ่ง แต่ด้วยทักษะศิลปะและชั่วโมงบินที่ผ่านโลกมานาน รวมถึงการฝึกภาวนาในการทำงานอยู่เรื่อยๆ ภาพลายเส้นที่ออกมา จึงมีน้ำหนักสม่ำเสมอและมีความคล้ายแบบที่วาด
เราถามไปว่า ระหว่างลากเส้น วาดโครงหน้า อาจารย์คิดอะไรไหม
"ไม่ได้คิด ผมคงฝึกฝนมานาน ทั้งเรื่องศิลปะและการภาวนา" อาจารย์ผ่องบอก วิธีการแบบนี้ ทำได้เลยในชีวิตประจำวัน
กว่า 7 ปีที่อาจารย์ผ่องนำวิถีการภาวนามาผสมผสานกับงานศิลปะ ด้วยเหตุผลว่า คนส่วนใหญ่จะรู้สึกกลัวและคิดไปก่อนว่า ทำไม่ได้ เพราะไม่เคยทำ จึงต้องกลับไปรับรู้ด้านในของตัวเอง เพื่อเรียนรู้บางอย่าง
"วิธีการนี้ เรียกว่าจิตปัญญาศึกษา เพื่อทดสอบทักษะและการปฏิบัติ คนวาดมีสมาธิไหม มีความกลัวข้างในไหม ถ้าคนที่มีความชำนาญเรื่องศิลปะและมีสมาธิ เส้นจะไม่ติดขัดแม้แต่เส้นเดียว จะต่อเนื่องกันทั้งภาพ"
หากย้อนถามว่า จำเป็นต้องฝึกวาดรูปแบบนี้ด้วยหรือ อาจารย์ผ่องบอกว่า นี่เป็นการวาดภาพเพื่อการภาวนา หากเราต้องการก้าวพ้นความกลัว
"บางคนวาดออกมาเส้นไม่ต่อกัน เส้นแข็งมาก เพราะมีความกลัว ไม่จดจ่อ ถ้ามีใจสัมผัสจริง มันผ่านตรงนี้ได้ การวาดแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องมีทักษะศิลปะ เรื่องนี้แปลกมาก ระหว่างมือเคลื่อน ใจต้องสัมผัสได้จริง เหมือนการรื้อสิ่งที่เรียนในโรงเรียนเดิมๆ ทั้งไปเลย"
ลองรื้อกรอบความคิดบางอย่างที่เรายึดติดทิ้งไป คือ หนทางหนึ่งของการเข้าถึงความรู้สึกด้านใน เพราะการทำงานศิลปะลักษณะนี้ เพื่อค้นภาวะธรรมชาติที่แท้จริงในตัวเรา ข้อสำคัญต้องละวางความคิด
"เพราะเรากลัวที่จะวาดโดยไม่มอง แต่เมื่อใดคิดใหม่ คิดว่าเราทำได้ ในชีวิตเราก็จะทำได้ทุกอย่าง เรื่องนี้บอกถึงภาวะการเรียนรู้แบบใหม่ เพื่อให้ข้างในและข้างนอกผสมผสานกัน จึงต่างจากการวาดภาพที่ทำตามความคิด"
เข้าใจตัวเองผ่านงานศิลป์
สำหรับอาจารย์ผ่องแล้ว วิถีการภาวนาและงานศิลป์ กลายเป็นเรื่องเดียวกัน เขาจึงอยากให้คนอื่นๆ ได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ด้วย หากย้อนถึงชีวิตของครูศิลปะคนนี้ เขาชอบการสอนเป็นชีวิตจิตใจ แต่ระบบราชการทำให้เขาต้องลาออกจากการเป็นอาจารย์สอนศิลปะ คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้นผันตัวไปเป็นผู้อำนวยการศูนย์การพัฒนาเพื่อหมู่บ้านอีสาน จ.ขอนแก่น เป็นเวลา 2 ปี กระทั่งอยากใช้ชีวิตแบบชาวนา จึงซื้อที่ดินในขอนแก่นลองทำการเกษตร แต่ที่สุดแล้วพบว่า การจับจอบขุดดิน มันไม่ง่ายเลย
"อยู่ที่นั่นกว่าสิบกว่าปี ตอนนั้นเป็นความอยาก เราได้ทดลองทำ มีกัลยาณมิตรที่ดี ยุคนั้นการทำเกษตรปลอดสารพิษไม่ง่าย เราไม่มีปุ๋ยขี้วัว ขี้ควาย บางครั้งทำตามกระแสฟูโกโอกะ ผู้ริเริ่มเกษตรธรรมชาติในญี่ปุ่น ใช้วิธีหว่านเมล็ดแล้วเอาฟางกลบ ก็ทำได้แต่ไม่ดี ชาวนาแถวนั้นเห็นก็หัวเราะ ถ้าผมทำอย่างต่อเนื่องสักห้าปีก็คงจะทำได้"
แม้อาจารย์ผ่องจะเป็นคนชนบท แต่เมื่อเติบใหญ่ เขาเข้ามาเรียนหนังสือในเมืองใช้ชีวิตแบบคนเมืองเป็นเวลานาน จนในที่สุดเขาค้นพบว่า
"เราไม่ใช่เกษตรกร เราห่างจากการทำนามานาน เพราะเราเรียนหนังสือมาตลอด แม้จะจับควายสักตัว ก็จับไม่อยู่"
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจเลิกเป็นชาวนา กลับมาเป็นอาจารย์สอนศิลปะอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนผู้บริหารโรงเรียนรุ่งอรุณชวนมาสอนศิลปะที่สถาบันอาศรมศิลป์ และอยู่มาจนถึงปัจจุบันกว่า 7 ปี
หลายสิบปีที่เขาได้เรียนรู้การภาวนาจากครูบาอาจารย์หลายคน หลักการที่เขานำมาใช้คือ แนวปฏิบัติของอาจารย์อมรา สาขากร ครูทางจิตวิญญาณที่สวนพุทธธรรม
"ผมสอนวิชามงคลชีวิตด้วย นอกจากสอนวาดรูปแล้ว ก็มีการภาวนาด้านอื่นๆ ด้วย เพื่อให้จิตระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราแปรงฟันจะมีสักกี่คนที่รู้สึกว่า ขนแปรงสัมผัสฟันซี่ไหน ความคิดมาเร็วมาก เดี๋ยวคิดไปในอนาคต ไปอดีตตลอดเวลา ต้องฝึกให้รู้สึกตัวจริงๆ เมื่อใดก็ตามที่ใจอยู่กับปัจจุบัน ศีลและสมาธิก็จะเกิด หากมีความคิดเกิดขึ้นให้รู้ว่ากำลังคิด"
การปฏิบัติภาวนาในความหมายของอาจารย์ผ่องคือ การเปลี่ยนจากความคิดมาสู่การกระทำ ไม่ทำให้จิตใจฟุ้ง ฟู แฟ่บ งานศิลปะจึงเป็นการค้นหาสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง เพื่อเปิดพื้นที่ในใจ
"เมื่อก่อนผมก็มีความเครียด ความกังวล เวลาคนอื่นทำไม่ดี ก็โทษคนอื่นเยอะ แต่พอมาด้านนี้ เราก็รู้ขอบเขตว่าอยู่ตรงไหน ยกตัวอย่างเวลาคนอื่นขับรถไม่ดี เราก็ไม่โทษเขา ไม่เกรี้ยวกราด ไม่ตัดสินอะไรง่ายเกินไป มีการพินิจพิเคราะห์มากขึ้น"
ข้อดีอีกอย่างของศิลปะ อาจารย์ผ่อง บอกว่า เวลาวาดรูป ศิลปินจะดำดิ่งลงไปในสิ่งที่ตัวเองทำ จนตัวตนหายไป แต่ลักษณะแบบนี้เป็นแค่สภาวะชั่วขณะหนึ่ง ยังไม่ถึงขั้นไร้ตัวตน แต่การภาวนาทำให้เราเปลี่ยนบางอย่างในชีวิต
ความเดียงสาในภาพวาด
ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม
อาจารย์ผ่อง ตั้งคำถามว่า แล้วทำไมชาวพุทธไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้ ต้องแยกศาสนาออกจากหลักวิชาการ และคิดว่า ศาสนาเป็นเรื่องไกลตัว
"เราคิดว่าต้องเข้าวัดทำบุญถึงจะเป็นเรื่องศาสนา ทั้งๆ ที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้เลย เราสามารถภาวนาในชีวิตได้ทุกวัน ไม่ต้องแยกออกจากการทำงานหรือการดำเนินชีวิต ไม่ว่าเราจะเคลื่อนไหวแบบไหน ก็เป็นการปฏิบัติ ล้างจาน แปรงฟัน เราภาวนาได้ทุกขั้นตอน ยกเว้นเผลอ ดิ่งหรือจม
ไม่ต่างจากการฝึกเคลื่อนมือวาดรูป สติต้องระลึกรู้ว่า มืออยู่ตรงไหน จิตเป็นอย่างไร เรื่องนี้จึงต่างจากการวาดภาพทั่วไป ซึ่งบางครั้งมีสติ บางครั้งไม่มีสติ และไม่เคยรู้เลยว่าระหว่างการทำงานศิลปะ เกิดอะไรขึ้นในตัวเรา วิธีการเคลื่อนมือ เรียนรู้ทั้งกายสัมผัสและตรวจสอบจิตใจได้เลย"
เมื่อใดก็ตามที่คนเรารู้สึกว่า ชีวิตขาดจิตวิญญาณ อาจารย์ผ่องบอกว่า ลองหันมาทำงานศิลปะรูปแบบนี้ เพื่อกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง มีความอ่อนเยาว์ เหมือนเด็กเขียน
"การวาดภาพลักษณะนี้ จะมีความเดียงสา เพราะไม่ผ่านกระบวนการคิด แรกๆ ผมให้ผู้เรียนฝึกวาดภาพผลไม้ ถ้าวาดผลส้ม ไม่ต้องคิดว่า ต้องวาดกลมๆ ให้เคลื่อนมือวาดตามแบบที่เห็น เด็กๆ ก็วาดแบบนี้ได้ เส้นออกมาไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เรื่องพวกนี้อยู่ที่สมาธิ ทำบ่อยๆ ก็ดีเอง เหมือนการภาวนา เพื่อให้ปลอดโล่งจากความคิด ความเครียด ความคาดหวัง เวลาลากเส้น ใจและมือต้องอยู่กับปัจจุบัน อันนี้เล็งผลได้เลย"
อาจารย์ผ่อง ยกตัวอย่างปีกัสโซที่นำแนวทางนี้ไปใช้ ก่อนหน้าที่ศิลปินคนนี้จะวาดแนวคิวบิสซึ่ม เขาค้นพบว่า ทำไมงานศิลปะของเขาดูแข็ง ต่างจากงานแกะสลักไม้ของชาวแอฟริกัน ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้เรียนศิลปะ แต่ทำไมงานศิลปะดูอ่อนช้อย และเขายังตั้งคำถามอีกว่า ทำไมลายเส้นที่เด็กๆ วาดดูสวย สด สะอาดหมดจด
เมื่อเห็นเช่นนั้นแล้ว เขาจึงลองเคลื่อนมือวาดภาพลักษณะนี้บ้าง และนำมาใช้กับงานของตัวเอง
"สำคัญว่า เราจะจับหลักอะไรไปใช้ เวลาผมวาด ผมก็ลากเส้นสบายๆ เวลาสอนก็จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดทั้งก่อนทำ ระหว่างทำและหลังทำ การเจริญภาวนาแบบนี้ เพื่อให้ความกลัวและเกร็งหายไป เป็นการวาดเส้นอย่างต่อเนื่อง"
ความต่อเนื่องในคำอธิบายของอาจารย์คือ สภาวะจิตในปัจจุบันขณะ
"ใช้เป็นเครื่องเจริญสติ ค้นหาความเป็นเด็กในตัวเรา"
ความเป็นเด็กในที่นี้ ไม่มีเหตุ มีผล เป็นไปตามสภาพของตัวเอง แต่เป็นเรื่องยากที่จะทำตามสภาพ อาจารย์ผ่องให้เหตุผลว่า ผู้ใหญ่ชอบที่จะมีเหตุผล "ผมเองก็ค้นพบธรรมชาติของตัวเอง บางครั้งผมเครียดและคิดอยู่ตลอดเวลา ถ้ารู้ว่าตอนนี้เครียดแล้ว สมองหนัก คิดมากไป ก็ปรับตัวปรับใจให้สบายขึ้น"
อีกแนวทางของการฝึกให้จิตว่าง คือการสลัดความคิดออกจากความเคยชินที่เห็นและทำมาทั้งชีวิต จากเคยวาดรูปเหมือนจริง แต่งแต้มสีสัน ลองหันมาเคลื่อนมือวาด ใจจดจ่ออยู่กับแบบตรงหน้า แล้วค้นหาธรรมชาติในตัวเอง
ใช่ว่า...จะค้นพบในทันที และใช่ว่า...จะไม่ค้นพบในบัดนั้น