ไม่อยากเห็นลูกสูบบุหรี่ ทำอย่างไร คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมมีข้อแนะนำ
พบเด็กไทยอายุเพียง 9 ขวบ เริ่มสูบบุหรี่เพราะเลียนแบบคนใกล้ชิด[1]
จากการสำรวจวัยรุ่นไทยอายุ 13-17 ปี พบว่า กลุ่มที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่ห้ามสูบบุหรี่ จะมีแนวโน้มในการเริ่มสูบบุหรี่มากกว่ากลุ่มที่ครอบครัวที่ห้ามสูบบุหรี่ถึง 3 เท่า[2]
ข้อมูลทั้งสองนี้ชวนให้สงสัยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการเริ่มสูบบุหรี่ในเด็กกับการสูบบุหรี่ของผู้ใหญ่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงชวน รศ.นพ.พงศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม มาให้ความกระจ่างกับเรา
“การเรียนรู้และพัฒนาการของคนเราเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทารกในครรภ์จะเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงหายใจ เสียงหัวใจเต้น หรือการเคลื่อนไหวของแม่ และเมื่อคลอดออกมา เด็กจะเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 สิ่งใดที่เด็กรับรู้ ก็จะเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้ นำมาซึ่งพัฒนาการทางความสามารถหรือเกิดเป็นพฤติกรรม ทั้งผ่านการลองเลียนแบบทำตาม จนเพิ่มพูนเป็นพัฒนาการด้านต่างๆและพฤติกรรมของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เด็กจะเลียนแบบจากสิ่งแวดล้อมใกล้ชิดที่สุด นั่นก็คือ พ่อแม่
เช่น ถ้าพ่อแม่สูบบุหรี่ ต่อให้พยายามไปสูบให้ไกลจากลูก เช่น หนีไปสูบหน้าบ้าน ออกไปสูบนอกห้อง เพราะกลัวควันบุหรี่ไปทำร้ายลูก แต่หารู้ไหมว่า ถ้าเป็นเด็กโตหน่อย พวกเขาจะสามารถคิดเชื่อมโยงได้อยู่ดีว่า พ่อแม่ออกไปทำอะไรมา ขณะที่ในเด็กเล็กที่ยังเชื่อมโยงสิ่งที่เป็นนามธรรมไม่ได้ เขาอาจไม่รู้ว่า พ่อแม่ทำอะไร แต่พอพวกเขาได้กลิ่นบุหรี่ที่ติดตัวพ่อแม่มา ก็จะจดจำไว้ จนวันที่โตขึ้นและคิดเชื่อมโยงได้ ก็จะเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่ทำ เช่น รู้ว่าพ่อแม่จะออกไปสูบบุหรี่เวลาเครียด และพอพวกเขาเจอกับความเครียดบ้าง เด็กเหล่านี้จะมีแนวโน้มที่จะลองสูบบุหรี่บ้าง” คุณหมอพงษ์ศักดิ์อธิบาย
อย่างไรก็ตามการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบไม่ได้มาจากการรับรู้สิ่งแวดล้อมภายนอกเท่านั้น แต่ยังร่วมกับกระบวนการภายในร่างกายเราอีกด้วย ซึ่งคุณหมอพงษ์ศักดิ์ได้อธิบายเพิ่มเติมให้ฟังว่า
“กระบวนการเลียนแบบเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของเซลล์สมองซึ่งเริ่มตั้งแต่การรับรู้ เช่น มองเห็นปุ๊บ เซลล์สมองก็จะเอาไปแปลผล และส่งต่อไปในส่วนการจดจำ แล้วถึงวันหนึ่งก็จะถูกดึงออกมาเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งสมองส่วนนี้ถูกเรียกว่า เซลล์สมองกระจกเงา (Mirror Neuron)”
ฟังมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มกังวลว่า จะป้องกันไม่ให้ลูกหลานของเรามีพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่พึงปรารถนาอย่าง การสูบบุหรี่ได้หรือไม่ คุณหมอพงษ์ศักดิ์ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้
“ถ้าพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกสูบบุหรี่ อย่างแรก พ่อแม่ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีด้วยการไม่สูบ อย่างที่สองพ่อแม่ต้องสร้างบรรทัดฐานของครอบครัวให้ลูกรู้ว่า พฤติกรรมอะไรบ้างที่ครอบครัวเราไม่ยอมรับ เช่น เวลาเห็นใครสูบบุหรี่ หรือเห็นฉากสูบบุหรี่ในหนัง แม่อาจคุยกับลูกว่า บุหรี่ไม่ดีเลย เหม็นมาก แม่ไม่ชอบเลย ถ้าพ่อแม่ตอบสนองกับพฤติกรรมเหล่านี้อย่างเหมาะสม พฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่ต้องการก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลง”
แต่ความน่ากลัวของบุหรี่ก็คือ มันเป็นสิ่งเสพติด ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพ่อแม่ทุกครอบครัวที่จะเลิกบุหรี่ได้ในทันที แม้จะรู้ว่า ไม่ดีต่อสุขภาพลูกก็ตาม ซึ่งกรณีแบบนี้อาจทำให้ลูกสับสนระหว่างคำสั่งสอนกับพฤติกรรมกับพ่อแม่ได้ แต่อย่าเพิ่งท้อไป คุณหมอได้พูดถึงกรณีนี้ว่า
“ความพยายามในการเลิกบุหรี่ของพ่อแม่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกได้เรียนรู้คำว่า ความยากลำบาก และเมื่อสามารถทำสิ่งยากลำบากเหล่านั้นจนสำเร็จ จะไม่ใช่แค่พ่อแม่ภูมิใจในตัวเอง ลูกก็จะภูมิใจในพ่อแม่อีกด้วย ที่สำคัญลูกจะได้รู้ว่า ไม่มีสิ่งไหนยากเกินไป ขอเพียงมีความมานะอดทน ดังนั้นการเลิกบุหรี่จึงถือเป็นภารกิจของทุกคนในครอบครัว กำลังใจจากครอบครัวสำคัญมาก พ่อแม่ลูกต้องช่วยกัน”
จากคำแนะนำต่าง ๆ จากคุณหมอทำให้เรารู้ว่า “พฤติกรรมเลียนแบบ” ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากังวลเสมอไป หากพ่อแม่สร้าง “พฤติกรรมตัวอย่าง” ให้ลูกเห็น โดยเฉพาะการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ ที่นอกจากดีต่อสุขภาพของพ่อแม่ แต่ยังเป็นการสร้างพฤติกรรมเลียนแบบที่พ่อแม่ทุกคนอยากเห็นจากลูกอย่างแน่นอน ซึ่งคุณหมอพงษ์ศักดิ์ ยังได้ฝากทิ้งท้ายถึงพ่อแม่ทุกคนว่า
“ดีที่สุดคือหยุดสูบครับ”
หากสนใจบทสัมภาษณ์เต็มของคุณหมอสามารถเข้าไปดูได้ที่นี่
ส่วนพ่อแม่ท่านใดอยากเลิกบุหรี่เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูก แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ขอแนะนำให้ลองโทร.1600 สายด่วนเลิกบุหรี่ โทรฟรีทุกเครือข่าย
[1] รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกสูบบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
[2] รศ.บุปผา ศิริรัศมี มหาวิทยาลัยมหิดล