“ยศธร ไตรยศ” งานภาพถ่ายไม่มีทางเป็นกลาง

“ยศธร ไตรยศ” งานภาพถ่ายไม่มีทางเป็นกลาง

“ยศธร ไตรยศ” งานภาพถ่ายไม่มีทางเป็นกลาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ภาพถ่าย” ป้ายประท้วง ผู้คน และบรรยากาศการชุมนุม ที่ถูกเผยแพร่และส่งต่อกันอย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ ได้ส่งต่อพลังและจุดประกายการเรียกร้องให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ด้วยเหตุนี้ Sanook จึงชวนคุณยศธร ไตรยศ ช่างภาพจากกลุ่ม Realframe กลุ่มช่างภาพที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน สังคม และการเมือง มาพูดคุยกันเพื่อหาคำตอบว่า “ภาพถ่าย” มีฟังก์ชันการทำงานอย่างไร ที่ส่งผลต่อจิตใจของคนดูภาพ และงานภาพถ่ายจำเป็นต้อง “เลือกข้าง” หรือไม่ ในวันที่ “คนรุ่นใหม่” และ “คนรุ่นเก่า” ในสังคมไทยกำลังขัดแย้งกัน

“ภาพถ่าย” เรื่องเล่าที่ไม่ต้องใช้คำพูด 

“ผมทำงานเกี่ยวกับการสื่อสาร แล้วก็ชอบถ่ายภาพ เลยเลือกใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ถ่ายไปถ่ายมา มันก็ทำให้เราเห็นภาพรวมหลาย ๆ อย่างของบ้านเมืองและสังคม แล้วก็ทำให้ผมเริ่มสนใจประเด็นการเมือง ซึ่งจริง ๆ แล้ว การเมืองไม่ใช่เเค่เรื่องการประท้วง หรือสีเสื้อเพียงอย่างเดียว แต่มันคือนโยบายที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของคนทุกระดับ” คุณยศธรเล่าย้อนไปถึงเหตุผลที่ผันตัวมาเป็นช่างภาพในปัจจุบัน 

คุณยศธร หรือ คุณโต้ส คือช่างภาพที่ตัดสินใจกระโดดเข้าไปในพื้นที่ความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงรัฐประหาร ปี 2557 เพื่อบันทึกภาพบรรยากาศของคนหลายกลุ่ม ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร กลุ่มกปปส. และประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร จนได้ชุดภาพถ่ายที่เล่าเรื่องเหตุการณ์ความขัดแย้งของ “คนไทย” ในช่วงเวลาที่อ่อนไหว และสร้างความสะเทือนใจให้กับคนดูภาพได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

“ภาพถ่ายเป็นเหมือนข้อมูลเชิงประจักษ์  มันเป็นพยานหลักฐานในตัวเองอยู่แล้ว คือเวลาที่เราเล่าเรื่องราวอะไรบางอย่างให้ใครฟัง ผ่านคำพูดหรือข้อความเป็นตัวอักษร มันไม่เห็นภาพ แต่ภาพถ่ายคือการทำให้เห็นว่ามีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง มีอารมณ์ สีหน้า แววตา ซึ่งมันสามารถบอกได้เกินกว่าคำพูด น้ำตาของคนบางคน รอยยิ้มของคนบางคน มันเข้าไปอยู่ในใจของคนดูได้ โดยที่เขาไม่ต้องอ่านคำบรรยายด้วยซ้ำ” 

การสร้างงานของช่างภาพขึ้นอยู่กับความรู้สึกหรือความคิดเห็นของช่างภาพแต่ละคน ในขณะที่ช่างภาพบางคนชอบงานที่เป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ช่างภาพบางคนก็ชอบพื้นที่ในการตีความ และสำหรับคุณยศธรแล้ว เขาชอบการเข้าไปคลุกคลีกับผู้คน และหาจังหวะในการเก็บภาพ ซึ่งเป็นเรื่องของอารมณ์ สีหน้า และแววตาที่เขาให้ความสำคัญ นอกจากนี้ เขายังย้ำว่า ความรู้และความเข้าใจในประเด็นของมิติทาง “มานุษยวิทยา” ก็เป็นสิ่งสำคัญในการทำงานเช่นกัน  

“ส่วนตัวผมเชื่อแบบนั้น และใช้วิธีการนี้ ผมจะบอกว่า เรื่องของเทคนิค มุมมอง ใช้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นแหละ อีก 70 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องอื่น ๆ ทั้งมิติทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ซึ่งมันจะพางานของเราไปไกลกว่าของคนอื่น คือมันไม่ได้วัดกันที่เรื่องเทคนิคหรืออุปกรณ์ แต่เป็นเรื่องของคุณค่ามากกว่า” คุณยศธรกล่าว 

ภาพถ่ายไม่มีทางเป็นกลาง  

หากการสร้างงานของช่างภาพขึ้นอยู่กับความรู้สึกหรือความคิดเห็นของช่างภาพแต่ละคน ก็แน่นอนว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาล้วนมีความแตกต่างกันในแง่การนำเสนอ แล้วงานภาพถ่ายจะสามารถเป็นกลางได้จริงหรือ คุณยศธรตอบชัดเจนว่า “งานภาพถ่ายไม่มีทางเป็นกลาง” 

“มันเป็นความจริงด้านเดียว มันเป็นการเลือกนำเสนอมุมที่เราอยากให้คนเห็นอยู่แล้ว มันไม่ใช่ความจริงแบบที่สุด โดยเฉพาะงานของผม คือเราไม่ได้บาลานซ์ว่าเราต้องไปถ่ายภาพกลุ่มนี้ แล้วต้องไปถ่ายภาพอีกกลุ่มด้วย ผมว่ามันไม่จำเป็น มันมีคนที่พยายามทำหน้าที่ตรงนี้เยอะแล้ว ดังนั้น เมื่อมีมุมที่ผมเห็นว่าแตกต่าง เห็นว่ายังไม่มีคนพูดถึง ผมไปนำเสนอตรงนั้นดีกว่า” 

เราก็ต้องยืนยันความเชื่อของตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ และผลิตผลงานออกมาให้ดีที่สุด ให้มันแหลมคมที่สุด จนไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ ภาพถ่ายของผมอาจไม่ได้สวยกว่าคนอื่น แต่ประเด็นของผมต้องดีกว่า ลึกกว่า คมกว่า และผมก็พยายามคงตรงนี้ไว้” 

แม้จะบอกว่าตัวเองทำงานแบบเลือกข้าง แต่คุณยศธรก็มีโอกาสได้เข้าไปถ่ายภาพกลุ่มคนที่มีความเชื่อที่แตกต่างไปจากตัวเองด้วยเช่นกัน และสิ่งหนึ่งที่เขายืนยันเรื่องการทำงานกับคนเห็นต่าง คือ “การไม่เอาเปรียบ” เพราะต่อให้จะเป็นเรื่องที่ตัวเองไม่เชื่อหรือไม่เห็นด้วย แต่สิ่งเหล่านั้นก็เป็นความเชื่ออีกชุดหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีการเชื่อมโยงหรือการอธิบายที่ดีพอ 

ช่างภาพในการชุมนุม

เมื่อถามย้อนไปถึงเหตุผลที่คุณยศธรตัดสินใจเข้าไปถ่ายภาพในการชุมนุมปี 2557 เขาหัวเราะ ก่อนจะบอกว่าไม่ได้มีคำตอบหล่อ ๆ อะไรทั้งนั้น เพียงแต่พื้นที่การชุมนุมถือเป็นพื้นที่เปิด และเป็นพื้นที่ที่ช่างภาพสามารถฝึกทักษะหรือเทคนิคการถ่ายภาพได้ และคนที่โดนถ่ายภาพก็ไม่มีปัญหา เพราะพวกเขาได้เตรียมใจมาแล้ว 

“แต่ความน่ากลัวมันก็มีบางเวลา เวลาเห็นเขาเตรียมการหรือทำท่าว่าจะเอาจริง เตรียมทีมสลายการชุมนุมมาอะไรแบบนี้ มันก็น่ากลัวอยู่นะ เพียงแต่ว่าตอนนั้นเราไม่เชื่อหรอกว่าคุณจะมายิงกันเกลื่อนกลาดได้ง่าย ๆ สถานการณ์มันยังไม่เหมือนตอนปี 53 แต่ถามว่ากลัวอะไร เราไม่ได้กลัวเรื่องความรุนแรง แต่เรากลัวเรื่องการมีคดี หรือมีข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่จะทำให้ชีวิตวุ่นวาย อาจจะโดนปรับหรือต้องไปติดคุกฟรี ซึ่งมันก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนทำมาหากิน

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกกลัวน้อยกว่า คือเขาเข้าไปในที่ชุมนุมในฐานะของผู้สังเกตการณ์ หรือเป็นเหมือนสื่อมวลชนคนหนึ่ง ซึ่งเขาบอกว่า มักจะได้รับอภิสิทธิ์ในการยกเว้น หรือการเลือกปฏิบัติจากรัฐที่แตกต่างจากผู้ชุมนุมอยู่แล้ว

ขณะที่การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อปี 2557 มาก ทั้งในแง่ของบุคคลประเด็นการเรียกร้อง เรื่องความคิดสร้างสรรค์ การใช้เทคโนโลยี การนัดหมาย และรูปแบบความเป็นทางการที่ถูกลดทอนไป คุณยศธรก็มองว่า วิธีการคิดงานของช่างภาพก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย 

“จะเปลี่ยนยังไง ถามผมตอนนี้ก็ยังคิดไม่ออก แต่ผมยังรู้สึกว่า น้อยคนที่จะมีงานที่แตกต่าง เพราะเวลาคนที่จะทำงานที่เป็นคอนเซ็ปต์แบบมีพื้นฐานศิลปะหน่อย มันต้องใช้เวลาในการเก็บสะสม เพราะฉะนั้น มันต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เราถึงจะเห็นงานที่เป็นศิลปะ หรืองานที่ผ่านกระบวนการคิด แล้วก็สะสมมาให้เห็น ตอนนี้อาจจะเป็นงานภาพข่าวออกมาก่อน ส่วนงานอื่น ๆ ก็ต้องใช้เวลา” 

ช่างภาพ VS ศิลปิน 

“จริง ๆ ก็เป็นที่ถกเถียงกันอยู่พอสมควร ว่างานถ่ายภาพควรจะอยู่ในพื้นที่ของศิลปะหรือเปล่า แต่โดยส่วนตัว ผมว่ามันไม่สำคัญเท่าไรแล้ว แต่มันอยู่ที่ว่าเราต้องการถ่ายภาพ เพื่อให้ภาพถ่ายพวกนั้นไปรับใช้อะไรบางอย่าง มันว่ากันที่ชิ้นงาน ในพื้นที่หนึ่ง เขาอาจจะเป็นศิลปิน ในอีกพื้นที่หนึ่ง เขาก็อาจจะเป็นช่างภาพสารคดีหรือช่างภาพข่าวธรรมดา มันขึ้นอยู่กับว่า รูปแบบของงานจะออกมาเป็นแบบไหน มีสัดส่วนของศิลปะเข้าไปผสมในตัวงานระดับไหน ซึ่งจะถูกวัดจากบรรดาคนทำงานในสายศิลปะ คิวเรเตอร์ หรือคนดูงานศิลปะเอง” คุณยศธรอธิบาย เมื่อเราถามถึงเรื่องพื้นที่ของงานภาพถ่ายในแวดวงศิลปะ

หากภาพถ่ายถูกจัดเป็นศิลปะ ก็จะส่งผลดีในแง่ของการขายงานและมีราคา แต่ในทางกลับกัน ภาพถ่ายเหล่านั้นจะไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ของประชาชนได้ ซึ่งคุณยศธรก็มองว่า ศิลปะมีจริตของคนดูและพื้นที่ในการเข้าถึง ซึ่งอาจมีเส้นบาง ๆ คั่นอยู่ และทำให้ประชาชนเข้าถึงงานภาพถ่ายได้ยากกว่าปกติ 

“มันเป็นข้อดีข้อเสียนะ เพราะในพื้นที่ของงานข่าวหรือสารคดี มันง่ายต่อการเสพ การดู และการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นงานศิลปะ มันมีจริตหรือขนบที่มีมาก่อนหน้านี้ มันคือการอยู่ในหอศิลป์ แกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ ซึ่งคนที่เข้ามาดูก็จะเป็นคนเฉพาะกลุ่ม” 

อย่างไรก็ตาม คุณยศธรเชื่อว่า การนิยามงานภาพถ่ายว่าเป็นศิลปะหรือไม่ ไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับ “การให้คุณค่า” กับคนทำงานในแต่ละสาขาอาชีพ เช่นเดียวกับ “การมีคนสนับสนุน” ในทุก ๆ แง่มุม

คุณค่าของงานภาพถ่าย 

ในแง่หนึ่ง งานภาพถ่ายถูกมองว่าเป็นการทำงานที่ง่าย แค่มีกล้องถ่ายรูปก็สามารถสร้างงานได้แล้ว ซึ่งทำให้งานภาพถ่ายมีราคาถูก เมื่อเทียบกับงานศิลปะรูปแบบอื่น ๆ แต่คุณยศธรก็แย้งว่า ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีกระบวนการอีกมากมายอยู่เบื้องหลัง ทั้งเรื่องของการคิดหาไอเดีย ประสบการณ์ รวมทั้งต้องแบกรับเรื่องมูลค่าของอุปกรณ์ และต้นทุนในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย

“ทุกอย่างดูง่ายไปหมดในสายตาคนดูงาน คือมันง่ายจนบางทีคนที่ดูศิลปะก็ไม่ดูมันเลย คือมันเฉลยหมดแล้ว มันไม่สนุก แต่สำหรับผม ถ้าคุณจะมองว่าง่าย เราก็ยินดีที่จะให้มองแบบนั้น เพราะเราต้องให้ใครก็ได้ที่ดูแล้วเข้าใจ บางทีมันยากเกินไป แล้วเขาไม่เข้าใจ หรือคนจำนวนน้อยมาก ๆ ที่เข้าใจหรือชอบมัน ก็อาจจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร” 

แม้งานศิลปะจะเป็นเรื่องของปัจเจก ความชื่นชอบและความหลงใหลของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันไป แต่คุณยศธรมองว่า สิ่งที่สำคัญมากกว่าการดูงานศิลปะ คือ การสนับสนุนและให้คุณค่ากับงานศิลปะ ซึ่งสังคมไทยควรสร้างพื้นที่ในการเข้าถึงและให้ความเคารพงานของศิลปินทุกแขนง ซึ่งอาจหมายรวมถึงการให้เครดิต การให้ราคากับงานศิลปะที่สมน้ำสมเนื้อ เพื่อให้ศิลปิน กลายเป็นอาชีพได้จริง ๆ 

“บางทีมันก็ยากมาก ๆ ที่จะไปบอกว่า คุณต้องจ่ายเพื่อดูงานของเรา แต่เรายังเชื่อว่า ถ้าโครงสร้างของสังคมดี หรือว่าเราเป็นประเทศที่เจริญแล้ว ทุกคนลืมตาอ้าปากกันได้ ก็คงไม่มีใครอยากใช้ของปลอม หรือไม่สนับสนุนสินค้าที่เป็นของเถื่อน คือถ้าเราท้องอิ่ม สุนทรียะก็จะตามมาเอง” คุณยศธรทิ้งท้าย 

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ “ยศธร ไตรยศ” งานภาพถ่ายไม่มีทางเป็นกลาง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook