รู้จักรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2475 สั้น-ง่าย-ก้าวหน้า เหมาะใช้เป็นต้นแบบกฎหมายสูงสุดฉบับใหม่

รู้จักรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2475 สั้น-ง่าย-ก้าวหน้า เหมาะใช้เป็นต้นแบบกฎหมายสูงสุดฉบับใหม่

รู้จักรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2475 สั้น-ง่าย-ก้าวหน้า เหมาะใช้เป็นต้นแบบกฎหมายสูงสุดฉบับใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัฐธรรมนูญของประเทศไทยมีอยู่ 20 ฉบับในปัจจุบันและกำลังจะมีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ขึ้นอีกภายในปีนี้ ซึ่งนับว่าประเทศไทยนอกจากจะเป็นประเทศที่มีการทำรัฐประหารที่สำเร็จถึง 13 ครั้ง จัดว่ามากที่สุดในโลก แล้วก็ยังเป็นประเทศที่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญถึง 4 สภา แล้วรวมทั้งยังมีรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิก (ฉีก) ถึง 9 ฉบับ

จัดว่ามีการยกเลิกรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลกอีกด้วยซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่ไม่น่าภาคภูมิใจอะไรเลย

อย่างไรก็ตามเมื่อจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ควรตระหนักถึงลักษณะของรัฐธรรมนูญที่ดีตามหลักวิชาการเพื่อประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่ารัฐธรรมนูญที่ดีควรมีลักษณะ 5 ประการคือ

  1. ใช้ภาษาเขียนให้ข้อความชัดเจน ไม่กำกวม (เขียนให้อ่านไม่รู้เรื่องก็อยู่ในข้อแรกนี้เช่นกัน)
  2. บัญญัติสิทธิเสรีภาพของประชาชนรวมทั้งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้ชัดเจนโดยไม่มีการเขียนต่อท้ายไว้ว่าทั้งนี้ "ตามที่กฎหมายกำหนด" (มีรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 เพียงฉบับเดียวที่เป็นเช่นนี้)
  3. ครอบคลุมบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองของรัฐให้ครบถ้วนรวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างองค์การปกครองของรัฐด้วย
  4. ต้องไม่ยาวจนเกินไป (รัฐธรรมนูญไทยที่ยาวที่สุดคือรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ยาว 127 หน้า)
  5. ต้องมีวิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับกาลสมัย (เนื่องจากรัฐธรรมนูญล้าสมัยได้ จึงต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้สมสมัยตามกาลเวลาด้วย)

ตัวอย่างของรัฐธรรมนูญที่ดีของไทยที่มักจะไม่ถูกกล่าวขวัญถึงกันนัก คือ ธรรมนูญการปกครองประเทศสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ร่างขึ้นเพื่อรองรับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) คณะราษฎรฝ่ายพลเรือน อาจารย์โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการร่างขึ้น

ภาษาง่าย ชาวบ้านเข้าใจ

รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้มีความงามในตัวเองเป็นอย่างยิ่งคือ ความงามนั้นมาจากความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย มีเพียง 36 มาตราเท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็อ่านเข้าใจไม่ต้องอาศัยนักกฎหมายมาตีความเป็นหลักการในการปกครอง การแบ่งแยกอำนาจ และตน เช่น ในมาตรา 1 ก็เขียนไว้ง่าย ๆ แต่ชัดเจนสวยงามว่า

"อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย"

มาตรา 2 บอกว่า ให้มีบุคคลและคณะบุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในรัฐธรรมนูญ โดยมีกษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร

อำนาจของกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั้นมีอำนาจอยู่อย่างจำกัดในฐานะประมุขของประเทศ (มาตรา 3) ที่เมื่อกระทำการใด ๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรคนใดคนหนึ่งลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะราษฎร (มาตรา 7)

ส่วนอำนาจทางการปกครองได้ให้อำนาจอย่างเต็มที่แก่สภาผู้แทนราษฎรในการควบคุมดูแลกิจการต่างๆ ของประเทศ และแต่งตั้ง "คณะกรรมการราษฎร" ขึ้นมาบริหารประเทศ จำนวน 15 นาย ประกอบไปด้วย ประธานคณะกรรมการราษฎร 1 นาย และกรรมการราษฎร 14 นาย (มาตรา 32)

หน้าที่ของคณะกรรมการราษฎรก็คือบริหารประเทศตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด (มาตรา 28) และสภาผู้แทนราษฎรยังสามารถถอดถอนคณะกรรมการราษฎรได้อีก ซึ่งระบบการปกครองที่สภามีอำนาจเหนือรัฐบาลแบบนี้ เราเรียกกันว่า "ระบบรัฐบาลโดยรัฐสภา" นั่นเอง

สิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมทุกเพศ

นอกจากซึ่งการจัดวางโครงสร้างการปกครองในรูปแบบใหม่แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ การเลือกตั้งในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองประเทศสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ได้วางแนวทางในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยแบ่งออกเป็น 3 สมัย คือ ในสมัยแรกผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารจะเป็นผู้แต่งตั้งผู้แทนราษฎรจำนวน 70 คน ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นการชั่วคราวภายในเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าประเทศจะมีความสงบเรียบร้อย

หลังจากนั้นจึงดำเนินการในสมัยที่สอง คือ แบ่งประเภทของผู้แทนราษฎรออกเป็นสองส่วน ได้แก่ ผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 เป็นผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน หรือถ้าจังหวัดใดมีประชากรมากกว่า 100,000 ก็จะสามารถเลือกผู้แทนเพิ่มอีกจังหวัดละ 1 คน ในทุกๆ 100,000 คน ส่วนผู้แทนราษฎรประเภทที่สองคือผู้แทนราษฎรในสมัยที่ 1 โดยจะต้องมีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ 1 ถ้ามีเกินก็ให้เลือกกันว่าใครจะอยู่ต่อหรือจะต้องออกจากตำแหน่ง แต่ถ้ามีน้อยกว่าก็ไปคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งจนครบ

และในสมัยที่สามเมื่อหลังจากราษฎรทั่วประเทศสอบไล่ในชั้นประถมศึกษาเกินครึ่งของจำนวนทั้งหมด หรือไม่เกิน 10 ปี หลังจากการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ผู้แทนราษฎรทั้งหมดจะต้องมาจากการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐบาลยังมาจากฝ่ายทหารและคณะราษฎร แต่ก็มีการระบุห้วงเวลาอย่างชัดเจนว่า ลำดับขั้นในการก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และอย่างไร นอกจากแนวทางในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

ยังได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงนั้นจะต้องเป็นราษฎรที่มีสัญชาติไทยไม่ว่าจะเป็นเพศใด ถ้ามีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เสียสิทธิในการออกเสียง หรือเป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถก็สามารถเลือกตั้งได้ทุกคน

แนวคิดในเรื่องของการมีสิทธิเลือกตั้งของคณะราษฎรโดยไม่แบ่งเพศถือว่าเป็นแนวคิดที่ทันสมัยและก้าวหน้าเป็นอย่างสูงในยุคนั้น (มาตรา 14) เพราะสิทธิในการเลือกตั้งของสตรีนั้นเพิ่งจะเกิดมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยมีนิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกที่ให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้ง
แม้แต่ประเทศมหาอำนาจ อย่าง อังกฤษ ก็เพิ่งจะให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2461 ก่อนหน้าที่คณะราษฎรจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 14 ปีเท่านั้น

ครับ! เมื่อจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นแล้วจึงอยากขอฝากรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 เพื่อพิจารณาด้วยเนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ถึงพร้อมแห่งความเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีตามหลักวิชาครบทั้ง 5 ประการเลยทีเดียวโดยเฉพาะความเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ยาวจนเกินไปเพราะรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 นี้มีเพียง 14 หน้าเท่านั้นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook