อนุดิษฐ์ ชู 3 นิ้วกลางสภาฯ อัดรัฐบาลบริหารล้มเหลว จี้ ประยุทธ์ ลาออก
"อนุดิษฐ์" นำทีมชู 3 นิ้ว อภิปรายอัดรัฐบาลบริหารล้มเหลว ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาประเทศผิดพลาด จี้นายกฯ ลาออก
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (9 ก.ย.) ที่มี ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องวิกฤตทางเศรษฐกิจและวิกฤตทางการเมือง โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ได้เริ่มขึ้น
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุมพร้อมกับรัฐมนตรี อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ซึ่ง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำเสนอญัตติ นำอภิปรายต่อที่ประชุมถึงวิกฤตทางการเมืองซึ่งมีเยาวชนและนักเคลื่อนไหวช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และเชื่อว่าจะได้รับการขนานนามว่าเป็นนายกฯ ที่ทำให้มีม็อบก่อตัวมากที่สุด
ทั้งนี้ ขอให้ยกเลิกหมายจับเยาวชนนักเคลื่อนไหวทั่วประเทศ รวมถึงยุติการคุกคามการเคลื่อนไหว การปิดกั้นการแสดงความเห็น เปลี่ยนเป็นการคุ้มครองและรับฟัง อย่างไรก็ตาม ปัญหาในประเทศที่เกิดขึ้นสร้างความกังวล โดยด้านเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลใช้การกู้ยืมเงินจำนวนมาก เป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะล้มละลาย และความสูญเสียศักยภาพทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลพลเรือนวางแผนไว้นั้นหายไปเพราะการยึดอำนาจ และทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะลำบาก นอกจากนั้นปัญหาด้านเศรษฐกิจมีผลสืบเนื่องจากการไม่เคารพสิทธิพื้นฐานประชาชน และเสรีภาพ
นอกจากนี้ น.อ.อนุดิษฐ์ อภิปรายด้วยว่า ขีดความสามารถของประเทศด้านการลงทุนต่อความต้องการของโลก อยู่ที่การจัดสรรเงินและการลงทุนภาครัฐ รัฐบาลต้องคำนึงถึงการบริหารงานที่เน้นเป้าหมายนำกระบวนการ ซึ่งต่างจากผู้นำของทหารที่ใช้กระบวนการนำเป้าหมาย โดยมีตัวอย่างคือ การระบาดของโรคโควิด-19 นายกฯ ใช้กระบวนการส่วนตัวคือ กู้และกู้ วันนี้หากกำหนดยุทธศาสตร์ต้องมีเป้าหมายชัดเจน หากอะไรที่ไม่ตอบสนองยุทธศาสตร์ต้องยกเลิก เช่น การเข้าร่วม CPTPP เป็นต้น
"ผมมองว่ายุทธศาสตร์ที่ไม่ตอบโจทย์ทำให้เกิดปัญหาด้านการจัดงบประมาณเพื่อแก้ปัญหา ดังนั้นผมมีข้อเสนอแนะ คือ ลดรายจ่ายประจำ ลดจำนวนข้าราชการประจำที่เกินความเหมาะสม เพื่อนำเงินไปลงทุนสิ่งที่มีคุณภาพ กำหนดเป้าหมายประเทศสร้างฐานการผลิตใหม่ตอบสนองความต้องการของโลกตามศักยภาพของประเทศ ต้องเปลี่ยนวิธีงบประมาณ โดยกำหนดเป้าหมายนำกระบวนการ และเรื่องสำคัญสุดท้ายคือ เคารพสิทธิเสรีภาพและอำนาจของประชาชน เพราะหากประเทศเป็นประชาธิปไตย นักลงทุนจะให้ความเชื่อมั่น ต้องหยุดการคุกคาม และทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" น.อ.อนุดิษฐ์ อภิปราย
น.อ.อนุดิษฐ์ อภิปรายอีกด้วยว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลทำให้ประเทศจมกองหนี้ คนส่วนใหญ่เดือดร้อนมีปัญหาเศรษฐกิจ โดยหลายปัญหาเกินเยียวยา ซึ่งตนมีข้อเสนอสุดท้ายต่อรัฐบาลถึงนายกฯ ว่า หากต้องการช่วยเหลือประเทศไทยอย่างแท้จริง คือ การลาออก ตามเสียงเรียกร้องของคนไทยทั้งประเทศ