"ประชาชน" แรงสำคัญหยุดรัฐประหารโซเวียต ต้านกองทัพที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง

"ประชาชน" แรงสำคัญหยุดรัฐประหารโซเวียต ต้านกองทัพที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง

"ประชาชน" แรงสำคัญหยุดรัฐประหารโซเวียต ต้านกองทัพที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต คือ ประเทศที่มีอายุอยู่ในช่วงระหว่างปี 2465-2534 เป็นประเทศอภิมหาอำนาจคู่กับสหรัฐตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สหภาพโซเวียตตั้งอยู่บนทวีปยูเรเชีย (ทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย) มีพื้นที่ 22,402,200 ตารางกิโลเมตร จัดเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดของโลก

สหภาพโซเวียตมีชายแดนยาวที่สุดในโลกเฉพาะดินแดนรัสเซียกว่า 60,000 กิโลเมตร มีช่องแคบแบริ่งคั่นระหว่างสหรัฐ สหภาพโซเวียตมีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถานสาธารณรัฐประชาชนจีน มองโกเลีย เกาหลีเหนือ อิหร่าน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เชโกสโลวะเกีย ฮังการี โปแลนด์ โรมาเนีย และตุรกี

อนึ่งสหภาพโซเวียตเป็นประเทศที่ประกอบด้วยสาธารณรัฐ 15 สาธารณรัฐมีพรรคการเมืองเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์ปกครองประเทศแบบเผด็จการ โดยมีกรุงมอสโกเป็นเมืองหลวงของประเทศและยังเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐรัสเซียซึ่งเป็นสาธารณรัฐที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพโซเวียต อีกด้วย

แพ้สงคราม-น้ำมันร่วง บีบโซเวียตปรับตัว

ช่วงปี 2522-2532 สหภาพโซเวียตส่งกองทัพไปยึดครองประเทศอัฟกานิสถาน แต่ก็ต้องถอนตัวกลับมาอย่างพ่ายแพ้เหมือนสหรัฐแพ้ที่เวียดนาม ซึ่งส่งผลทำให้เศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตตกต่ำ เนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายในการทำสงครามอัฟกานิสถานเป็นเงินมหาศาล ประกอบกับการระดมสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินเพื่อแข่งกับสหรัฐทางด้านนาวี

มิหนำซ้ำราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าหลักของสหภาพโซเวียตตกต่ำต่อเนื่องกันนับ 10 ปี ทำให้รายจ่ายท่วมรายรับทำให้รัฐบาลสหภาพโซเวียตติดหนี้สินนุงนังไปหมด

นายมีคาอิล กอร์บาชอฟได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสหภาพโซเวียต นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2528 โดยนายกอร์บาชอฟได้ริเริ่มการปฏิรูปทางการเมืองหลายอย่างภายใต้นโยบายที่เรียกว่า กลัสนอสต์ ประกอบด้วย การลดความเข้มงวดในการตรวจพิจารณา การลดอำนาจหน่วยเคจีบี และการเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตย

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นั้นมีจุดประสงค์เพื่อกำจัดการต่อต้านการปฏิรูปทางเศรษฐกิจจากกลุ่มอำนาจอนุรักษนิยมภายในพรรคคอมมิวนิสต์ ภายใต้การปฏิรูปนี้ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในพรรคคอมมิวนิสต์จะต้องมาจากการเลือกตั้ง (โดยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เอง) ซึ่งเป็นการใช้ระบบนี้ครั้งแรก ท่ามกลางการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษนิยม

กลุ่มอนุรักษ์เข้ายึดอำนาจ ต้านเปลี่ยนแปลง

วันที่ 19 ส.ค. 2534 มีรัฐประหารโดยกองทัพสหภาพโซเวียตเข้ายึดอำนาจการปกครองจากประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ ผู้ที่ได้ทำปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารครั้งใหญ่ และยินยอมให้ดินแดนต่างๆ ของสหภาพโซเวียตแยกตัวออกไปก่อตั้งประเทศของตนเอง พร้อมประกาศใช้นโยบายการต่างประเทศเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดกับสหรัฐและชาติตะวันตก

ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ ยินยอมให้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในที่สาธารณะ และมอบสิทธิเสรีภาพให้สื่อมวลชนในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้มากขึ้น เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ถาโถมเข้ามาในดินแดนสหภาพโซเวียตจนไม่อาจต้านทานได้อีกต่อไป สหภาพโซเวียตจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันยุคสมัยของโลก

การกระทำดังกล่าวของประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ ได้รับการยกย่องจากประชาชนและกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันตก จนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2533 แต่ยังมีกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐบาลของสหภาพโซเวียตเดิม และหน่วยสืบราชการลับเคจีบี ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเปิดประเทศและผ่อนคลายความตึงเครียดกับกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันตกนี้ จึงได้รวมตัวกันก่อรัฐประหารขึ้นมาในวันที่ 19 ส.ค. 2534 โดยมีการส่งกำลังทหารเข้าไปในกรุงมอสโกเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลของประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ

ประชาชนไม่เห็นด้วย ลงถนนขวางทหาร

อย่างไรก็ตาม การก่อรัฐประหารไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และได้ออกมาขัดขวางกลุ่มทหารที่ออกมาไปทั่วเมือง ภายใต้การนำของนายบอริส เยลต์ซิน

ขณะเดียวกัน สหรัฐ และกลุ่มประเทศชั้นนำในซีกโลกตะวันตกได้ออกมาแสดงความเห็นถึงการก่อรัฐประหาร ว่าเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ เป็นการกระทำที่ละเมิดข้อกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดเจตจำนงของชาวโซเวียตทั้งมวลอย่างร้ายแรง และสหรัฐจะไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากการก่อรัฐประหารโดยเด็ดขาด พร้อมกับหารือกับผู้นำในประเทศยุโรปเพื่อตรียมคว่ำบาตรรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารของโซเวียตอีกด้วย

ภายหลังมีการเปิดเผยชื่อผู้ก่อการรัฐประหารในโซเวียต ทั้งหมดล้วนเป็นข้ารัฐการระดับสูงที่ได้จัดตั้งคณะกรรมการสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งรัฐ หรือแก๊งแปด ก่อนที่จะถูกประชาชนคัดค้านและต่อต้านอย่างหนัก จนการทำรัฐประหารล้มเหลว และยุติลงในวันที่ 21 ส.ค. 2534

การก่อรัฐประหารครั้งนั้น มีประชาชนเสียชีวิต 3 คน ในขณะที่หัวหน้าผู้ก่อการรัฐประหารได้แก่ นายบอริส ปูโก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเซร์เก อะโครเมเยฟ ที่ปรึกษาทางทหารของกอร์บาชอฟ และ นายนิโคไล ครูชินา ผู้บริหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตกระทำอัตวินิบาตกรรมเพื่อหนีความผิด

หลังจากการก่อรัฐประหารล้มเหลว นายมีคาอิล กอร์บาชอฟ กลับมาสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศอีกครั้ง พร้อมกับการสิ้นสุดของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จนก่อให้เกิดประเทศรัสเซียในภายหลัง

ครับ! การทำรัฐประหารหากประชาชนไม่เห็นด้วยและลุกฮือกันเข้าต่อต้านก็จะเห็นว่ารัฐประหารไม่มีทางสำเร็จได้เลยโดยเด็ดขาด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook