คิงส์เกต เผยรัฐบาลไทยไฟเขียวนำ "สินแร่" มูลค่ากว่า 300 ล้าน ไปถลุงขายได้
คิงส์เกต เผยรัฐบาลไทยไฟเขียวให้นำสินแร่ทองคำ 4,750 ออนซ์ – สินแร่เงิน 34,800 ออนซ์ มูลค่า 14 ล้านเหรียญ หรือราว 300 ล้านบาท ก่อนคิดค่าภาคหลวงออกจากเหมือง สะท้อนจริงใจในการเจรจาหาข้อยุติข้อพิพาท
เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา บริษัทคิงส์เกต ไอ้ออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับสินแร่ทองคำที่ได้เก็บรักษาไว้ที่เหมืองทองคำชาตรี โดยระบุว่า
คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด(“Kingsgate” หรือ “บริษัท”) มีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า อัครา รีซอร์สเซส (Akara Resources) ซึ่งเป็น บริษัทย่อยของบริษัท ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยให้จำหน่าย “สินแร่” ทองคำและเงินที่มีมูลค่าสูงซึ่งได้เก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัยที่เหมืองทองคำชาตรีไปยังโรงถลุงของไทยเพื่อแปรรูปเป็นทองคำและเงินชั้นดี
สินแร่ หมายถึง วัสดุที่ผ่านการทำความสะอาดจากถังและโรงงานแปรรูปหลังจากการปิดเหมืองทองคำชาตรีเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และถือเป็นรวมทั้งรับรู้กันว่าเป็นทรัพย์สินของอัครารีซอร์สเซสมาโดยตลอด
สินแร่ที่ได้ประกอบด้วยทองคำประมาณ 4,750 ออนซ์และเงิน 34,800 ออนซ์และมีมูลค่าประมาณ 14 ล้านเหรียญออสเตรเลียที่ระดับราคาทองคำ 2,678 เหรียญออสเตรเลียต่อออนซ์ (ณ วันที่ 9 กันยายน 2563) ก่อนค่าภาคหลวง ค่าขนส่ง และค่าการถลุง
อัครา รีซอร์สเซสได้ตกลงเงื่อนไขกับโรงถลุงของไทยที่จะดำเนินการตามกรรมวิธีการถลุงสินแร่ตามกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ทองคำที่ขุดในประเทศไทยต้องถลุงในประเทศไทย โดยได้เริ่มขนส่งสินแร่ไปยังโรงถลุงแล้ว
ขณะที่การดำเนินการนี้ค้างคามาเป็นเวลานาน คิงส์เกตมองว่าเป็นขั้นตอนเล็ก ๆ แต่เป็นไปในเชิงบวก และดูเหมือนเป็นการกระทำโดยสุจริตซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจใหม่ของรัฐบาลไทยในการดำเนินการการเจรจาเพื่อหาข้อยุติระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นกระบวนการที่คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ได้สนับสนุนมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร
ทั้งนี้ 14 ล้านเหรียญออสเตรเลีย คิดเป็นเงินบาทไทยประมาณ 318 ล้านบาท
ทั้งนี้ ข้อพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกต และไทย เกิดขึ้นหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออกคำสั่งให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 หลังจากนั้น บริษัท คิงส์เกต ได้ทำหนังสือแจ้งรัฐบาลไทยขอใช้สิทธิหารือภายใต้เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาทั้งสองฝ่าย ก่อนที่เรื่องจะเข้าสู่การพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2563 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีฝ่ายการเมืองออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการต่อสู้คดีกับบริษัท คิงส์เกต บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด กรณีใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทอง ว่า รัฐบาลไม่ได้ใช้ ม.44 สั่งปิดเหมือง แต่เป็นการให้หยุดดำเนินการเหมืองไปก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมี พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ แล้วให้เข้ามาขออนุญาตดำเนินการอีกครั้ง เนื่องจากมีหลายปัญหาเกิดขึ้น เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องการบุกรุกพื้นที่บางส่วน นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)