ครั้งแรกบนถนนราชดำเนินของ 5 คนรุ่นใหม่ใน “ม็อบเยาวชน”

ครั้งแรกบนถนนราชดำเนินของ 5 คนรุ่นใหม่ใน “ม็อบเยาวชน”

ครั้งแรกบนถนนราชดำเนินของ 5 คนรุ่นใหม่ใน “ม็อบเยาวชน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากจะพูดถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองที่มีชีวิตชีวาที่สุดในขณะนี้ ก็คงหนีไม่พ้นการชุมนุมของเยาวชนที่เกิดขึ้นแทบจะรายวันทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มมาจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ตอกย้ำด้วยการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ณ แลนด์มาร์กสำคัญอย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งปลุกให้ถนนสายการเมืองอย่างถนนราชดำเนินตื่นขึ้นมาอีกครั้ง และกลายเป็นเวที “เดบิวต์” หนุ่มสาวหน้าใหม่ที่มาพร้อมกับจิตวิญญาณอันเป็นอิสระ และพลังที่พร้อมจะพุ่งชนปัญหา เพื่อนำพาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลง และต่อไปนี้ คือเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ 5 คน ที่เปิดตัวในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นครั้งแรกบนถนนราชดำเนิน

User Experience

ที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยมักจะถูกมองว่าสนใจแต่เรื่องตัวเอง และเป็นประชากรหลักใน “สังคมก้มหน้า” ที่ใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน แต่หารู้ไม่ว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กได้นำพาพวกเขาไปสู่โลกที่กว้างกว่าเดิมอย่างที่ผู้ใหญ่คิดไม่ถึง ภาพของสังคมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการในประเทศอื่นๆ ส่งผลให้พวกเขาเริ่มตั้งคำถามกับคุณภาพชีวิตในบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น และแน่นอน พวกเขา “ไม่พอใจ” ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม สิทธิเสรีภาพในโรงเรียน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ระดับโลกอย่างสิทธิมนุษยชน

“มันเป็น user experience เราเป็นผู้ใช้งานจริง แล้วมันไม่ใช่เราคนเดียวที่รู้สึกว่าเรื่องราวรอบๆ ตัวเรามันไม่โอเค แต่เรามีประสบการณ์ร่วมกับหลายๆ คน ทำให้เรารู้สึกว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดกับเราแค่คนเดียว มันมีคนที่รู้สึกไม่โอเคกับสิ่งเดียวกันมาตลอด” จอห์น หนึ่งในผู้จัดแคมเปญ “วิ่งกันนะแฮมทาโร่” อธิบาย

เช่นเดียวกับ เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือ พลอย หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนักเรียนเลว ผู้โด่งดังจากการแสดงที่นั่งมัดมือและให้คนอื่นตัดผมตัวเอง เพื่อรณรงค์เรื่องทรงผมนักเรียน ที่เล่าว่าเธอ “ตาสว่าง” เห็นปัญหาของสังคมจากการเล่นทวิตเตอร์เมื่อหลายปีก่อน และยืนยันว่า “การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว”

“เรามาตามเรื่องการเมืองจริงๆ จังๆ ช่วงเลือกตั้ง ตอนแรกเราก็ไม่รู้ พรรคอะไรก็เลือกๆ ไปเถอะ ตอนนั้นเราเดือดร้อนจากการที่หน้ากากอนามัยขาดตลาด แล้วพอเห็นพรรคการเมืองแจกหน้ากากให้ประชาชน ก็เลยรู้สึกว่า เออว่ะ... เรื่องการเมืองมันใกล้ตัวเรามาก แล้วเราจะเมิน จะไม่สนใจมันเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ ก็เริ่มสะสมอุดมการณ์มาเรื่อยๆ” พลอยกล่าว

AFP

ด้านทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือ ฟอร์ด เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) ผู้ซึ่งทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เล่าให้ Sanook ฟังถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เขารู้สึกว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว เมื่อเขาเข้าร่วมจัดกิจกรรมครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา เมื่อปี 2559 และต้องเดินทางไปรับ “โจชัว หว่อง” แกนนำเยาวชนชาวฮ่องกง ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อมากล่าวปาฐกถาในงาน และพบว่าโจชัวไม่สามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้ด้วยเหตุผลทางการเมือง

“ตอนนั้นก็เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่เราเจอกับอำนาจรัฐ ก็คิดว่า ในพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ หรือแม้กระทั่งเสรีภาพในการแสดงออก เราถูกกดทับโดยรัฐบาลหรือรัฐเผด็จการ เราก็เลยคิดว่าต้องเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงมัน นั่นคือจุดเริ่มต้น” ฟอร์ดเล่า

นอกจากเยาวชนในกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีอีกหนึ่งดาวรุ่งพุ่งแรงในการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ คือ ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ประธานกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย จาก จ.ระยอง ที่เปิดตัวจากการชูป้ายประท้วงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ไมค์เล่าว่า ด้วยนิสัยใจคอที่ชอบช่วยเหลือคนอื่น ชอบทำกิจกรรม ทำให้เขาสนใจความเป็นไปของสังคม จนได้เป็นแกนนำเยาวชนในท้องถิ่น ทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ก่อนจะขยับมาเป็นการเรียกร้องในเชิงนโยบายที่ใหญ่ขึ้น โดยเน้นที่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ซึ่งนั่นหมายถึงครอบครัวของเขาด้วย

“เราอยากให้พ่อแม่เราสบาย ทุกคนก็ต้องสบายไปด้วย เวลาที่เราทำงาน เราจะนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก เพื่อคุณภาพชีวิต เราตั้งธงอย่างนั้นมาตลอดเวลา เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้แค่ไหน แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย มันก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง” ไมค์กล่าว

เพราะฉะนั้น ฉันจึงลงถนน

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ขยับออกจากการส่งเสียงในโลกออนไลน์สู่การ “ลงถนน” ฟอร์ดอธิบายว่า มีหลายปัจจัย ได้แก่ การเมืองที่รัฐกุมอำนาจและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน สภาพเศรษฐกิจที่ทรัพยากรถูกผูกขาดอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ทำให้คนรุ่นใหม่มองไม่เห็นหนทางที่จะลืมตาอ้าปากและทำตามความฝัน รวมถึงปัจจัยทางสังคมอย่างอำนาจนิยม โดยเฉพาะในโรงเรียน แรงกดดันดังกล่าวจึงก่อให้เกิดปฏิกิริยา “ระเบิด” อย่างรุนแรง ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของพลอย ที่มองว่า การลงถนนเกิดจากความโกรธของประชาชน ที่ไม่ต้องการทนกับประชาธิปไตยครึ่งใบและการถูกกดทับโดยโครงสร้างทางสังคม

“เรารู้สึกว่าประชาชนถูกกดทับจากโครงสร้างมานานมากๆ แล้วมันไม่เคยดีขึ้น ประชาชนไม่เคยมีการศึกษาที่ดี ไม่เคยมีเศรษฐกิจที่ดี ไม่มีการคมนาคมที่ดี ไม่มีการขนส่งดีๆ มันทำให้ทุกคนสุดจะทน และลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง อยากจะทำให้คุณภาพชีวิตตัวเองดีขึ้น” พลอยกล่าว

ด้านไมค์ก็มองว่า การลงถนนของเยาวชนครั้งนี้เป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการทำงานของรัฐบาล สร้างแรงกระเพื่อมให้คนในสังคมเห็นถึงปัญหานี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาฟังเสียงของประชาชนอย่างจริงจัง เพื่อนำพาให้ประเทศก้าวหน้าไปด้วยกัน

ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอกAFPไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก

ม็อบแนวใหม่

นอกจากความสดใหม่ของแกนนำผู้ชุมนุม รูปแบบของการชุมนุมของ “ม็อบเด็ก” นี้ยังถือว่าแปลกใหม่และน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งแตกต่างจากการเคลื่อนไหวของเยาวชนในอดีตอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ที่เต็มไปด้วยความหนักแน่นจริงจัง ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง จอห์นมองการเคลื่อนไหวของคนยุคปัจจุบันว่า ภาพการชุมนุมในอดีตมีอิทธิพลกับคนรุ่นใหม่ไม่มากนัก คนที่มาเข้าร่วมการชุมนุมจะมีความเป็นปัจเจกสูงกว่า และออกมาเพื่อที่จะเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหา “ของพวกเขา” จริงๆ

“ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้เราออกมาเคลื่อนไหวไม่ใช่ความเข้าใจในมิติของประวัติศาสตร์ แต่มันเป็นความรู้สึกร่วมในเชิงอัตลักษณ์มากขึ้น แล้วพื้นที่ในเชิงอัตลักษณ์มันขยายตัวได้ไวกว่าความรู้สึกร่วมของประวัติศาสตร์ ก็เลยทำให้การเคลื่อนไหวนี้มันแพร่ขยายไปในหมู่คนที่ยังเป็นเยาวชนในวงกว้าง ประเด็นที่มันยิบย่อยแต่สื่อสารกับพวกเขาโดยตรง ยิ่งทำให้พื้นที่ของแนวร่วมกระจายตัวมากขึ้น เช่น คนที่ทนไม่ได้แล้วกับระบบการศึกษา ความเหลื่อมล้ำของสังคม ปัญหาความยากจน ความไม่เสมอภาคทางเพศ เป็นต้น”

ยิ่งไปกว่านั้น จอห์นมองว่า รูปแบบ “แฟลชม็อบ” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย นอกจากจะเกิดขึ้นอย่างฉับไว จบลงอย่างรวดเร็ว และกระจายตัวไปในทุกพื้นที่ โดยไม่มีรูปแบบและศูนย์กลางที่ชัดเจน ยังเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะต้องทำงานหนักในการรับมือกับการเคลื่อนไหวลักษณะนี้

“แฟลชม็อบมีข้อดีคือทำให้กระแสไม่เงียบ มันทำให้คนจุดติดแล้วก็ส่งไฟ ส่งไม้ต่อให้กันไปเรื่อยๆ แล้วมันก็ทำให้แต่ละพื้นที่สามารถที่จะขยายข้อเสนอไปสู่ประชาชนในวงกว้างได้มากขึ้น ผมว่าเรื่องที่สำคัญตอนนี้คือเราจะส่งสารนี้ไปให้ไกลได้มากแค่ไหน แล้วสร้างแนวร่วมที่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ได้มากแค่ไหนไปพร้อมๆ กัน” จอห์นกล่าว

หนึ่งในผู้เข้าร่วมชุมนุมในแคมเปญวิ่งกันนะแฮมทาโร่AFPหนึ่งในผู้เข้าร่วมชุมนุมในแคมเปญวิ่งกันนะแฮมทาโร่

เรื่องเล่าจากปาตานี

ถนนราชดำเนินไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นเวทีสำหรับผู้ชุมนุมหน้าใหม่และการชุมนุมรูปแบบใหม่เท่านั้น แต่การชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม บนถนนสายนี้ยังเป็นครั้งแรกที่เรื่องราวของ “ปาตานี” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ถูกนำมาพูดถึงในพื้นที่สาธารณะ ท่ามกลางผู้คนนับหมื่นคน ผ่านปากคำของซูกริฟฟี ลาเตะ หรือ ลี ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี (PerMAS) ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ความรุนแรงมาเกือบครึ่งชีวิต

ลีเล่าว่า ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่บ้านเกิดของเขาเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างผู้ที่มีอุดมการณ์ในการปกครองตนเองกับรัฐที่ต้องรักษาความมั่นคงของประเทศ ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ก็มีผู้ที่ไม่ได้ต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่ต้องการประชาธิปไตยด้วย ดังนั้น เป้าหมายของ PerMAS คือสันติภาพที่ยึดโยงกับประชาชน ประชาชนสามารถเลือกได้ว่าอยากเห็นสันติภาพแบบไหน โดยต้องมีฉันทามติร่วมกัน ซึ่งก็คือกระบวนการทางประชาธิปไตย

“มันเป็นกระบวนการที่พูดถึงเสรีภาพของคน พูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น ที่เราเอาป้ายขึ้นไปบนเวทีปราศรัย เมื่อวันที่ 16 ก็คือ Rights to Self-determination สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ซึ่งสิทธินี้เป็นสิทธิที่ถูกระบุในหลักการขององค์การสหประชาชาติ การกำหนดชะตากรรมของตนเอง ในหลายประเทศก็คือการทำประชามติ เพื่อนำไปสู่สันติภาพ แต่การทำประชามติแบบนี้มันไม่สามารถเป็นไปได้ หากประเทศที่เป็นเจ้าอาณานิคม หรือประเทศที่ปกครองปาตานี ไม่เป็นประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ลียังเล่าถึงอำนาจของกฎหมายความมั่นคง ที่กดทับคนในพื้นที่มานานถึง 16 ปี ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้เขาขึ้นเวทีปราศรัยในวันนั้น การปราศรัยของลีถูกเผยแพร่ไปในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว จนเขาเองก็ยอมรับว่าตกใจไม่น้อย และรู้สึกดีใจที่ได้สะกิดให้คนนอกพื้นที่รู้ว่า ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่แค่ปัญหาของคนในพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นปัญหาของทุกคนที่เป็นผู้เสียภาษี

“งบประมาณที่ถูกเทลงไปในพื้นที่ทุกปีๆ มันเยอะมาก แต่เราก็ไม่ได้เห็นดอกผลของการใช้งบประมาณ เราไม่ได้เห็นสันติภาพอย่างที่เขาบอก 16 ปี ก็เป็นตัวชี้วัดที่พอแล้วว่า การแก้ปัญหาแบบใช้เลนส์ความมั่นคง ใช้กฎหมายพิเศษ มันไม่ได้ผลแล้ว แนวทางทางการเมืองต่างหาก การมีพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่มีความคิดต่างมาคุยกัน ออกแบบพื้นที่ร่วมกัน ตกผลึกร่วมกันว่าคนในพื้นที่อยากเห็นสันติภาพแบบไหน ซึ่งถ้าประเทศไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่เคารพเสรีภาพของคน มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นพื้นที่ทางการเมืองแบบนั้น” ลีอธิบาย

ครั้งแรกบนถนนราชดำเนิน

แม้ทั้ง 5 คน จะเคยผ่านการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมและการเมืองมาก่อน แต่ทุกคนก็ยอมรับว่า การขึ้นเวทีปราศรัยบนถนนราชดำเนินไม่เคยอยู่ในความคิดของพวกเขามาก่อน ซึ่งฟอร์ดเล่าว่า กรณี “เคสวีไอพี” ที่ติดเชื้อโควิด-19 และไม่ได้รับการกักตัว จนสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน ทำให้เขาและกลุ่มเยาวชนปลดแอกตัดสินใจจัดการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม

“เราไม่ใช่ผู้ปราศรัยอย่างเดียว การจัดการมันวุ่นวายมาก เราต้องเป็นทั้งคนตัดสินใจ ไปหาคนขึ้นเวทีไม่ให้มันเงียบ ประเมินสถานการณ์เรื่องความปลอดภัย กลายเป็นแกนนำไปโดยปริยาย เราก็ตัดสินใจเองแหละว่าให้สิ่งนี้มันเกิดขึ้น แล้วเราก็คิดไม่ผิด ก่อนหน้านี้มันไม่ได้อยู่ในที่สาธารณะเท่านี้ เมื่อเราทำแล้ว กระแสมันก็สูงขึ้น มีแฟลชม็อบที่รับไม้ต่อจากเราไปเกือบจะทั่วประเทศเลย” ฟอร์ดเล่า

สำหรับลี ผู้ซึ่งเข้าร่วมในกิจกรรมประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ก็เล่าว่า เขาไม่เคยคิดว่าจะได้ยืนอยู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยท่ามกลางผู้คนเป็นหมื่น แล้วบอกเล่าถึงผลกระทบจากความไม่เป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของเขา

“ตื่นเต้นมาก ผมไม่เคยพูดต่อหน้าคนเยอะขนาดนั้น ก็นั่งคิดว่าจะเริ่มอย่างไรดี ก็เลยไปไล่ดูประกาศอิสรภาพของอเมริกา เขาก็พูดถึงสิทธิเสรีภาพ และพูดถึงหน้าที่ของรัฐที่จะประกันสิทธิเสรีภาพเหล่านั้นไว้ ถ้าสิทธิเสรีภาพถูกละเมิดโดยรัฐ มันก็เป็นความชอบธรรมของประชาชนที่จะไม่เอารัฐบาลนั้น ก็เลยขึ้นต้นแบบนั้น พอเราเล่าเรื่องสิ่งที่เราเจอทุกวัน เรื่องที่เราประสบจริงๆ ทุกวัน เราก็รู้สึกว่ามันพูดได้ง่าย จากที่ตื่นเต้นเราก็รู้สึกว่ามันผ่อนคลายลง” ลีเผยความรู้สึก

AFP

ส่วนไมค์เปิดเผยว่า แม้จะไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้ขึ้นเวทีปราศรัย แต่การเป็นแกนนำปราศรัยก็เป็นความฝันหนึ่งของเขา

“เราฝันไว้ว่าวันหนึ่งฉันจะเป็นแกนนำปราศรัย เพื่อทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า นี่คือสิ่งที่เราพูดกับหลายคนที่ระยอง พูดกับน้องๆ ว่า วันหนึ่งกูต้องได้เป็นแกนนำ มึงเชื่อกูไหมว่าวันหนึ่งกูจะได้เป็นแกนนำ ขึ้นเวทีปราศรัยและทำให้ทุกคนตาสว่างว่าสิ่งที่พวกเราทำกันอยู่มันคืออะไร นี่คือความฝัน แล้วมันเป็นความจริง”

ด้านพลอย ที่น่าจะถือว่ามีชั่วโมงบินน้อยที่สุดในกลุ่ม ก็เปิดเผยด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า เธอไม่เคยคิดว่าตัวเธอในวัยเพียง 15 ปี จะมาถึงจุดนี้ได้ การปราศรัยในวันนั้นเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ของเธอ ที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับนักเรียนคนอื่นๆ ในการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย นอกจากนี้ บรรยากาศที่มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมากยังทำให้เธอรู้สึกตื้นตันใจ และรู้สึกว่าเธอไม่ได้สู้โดยลำพัง

ส่วนจอห์น ที่แม้จะไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัย แต่ในฐานะหนึ่งในผู้จัดการชุมนุมม็อบแฮมทาโร่ เขาเปิดเผยว่านี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่เขาภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต เพราะไม่ใช่แค่กิจกรรมได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชนต่างประเทศเท่านั้น แต่เขายังได้รับประสบการณ์จากแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยอารมณ์โกรธแค้น แต่ใช้ประเด็นที่ผู้คนรู้สึกร่วมกันมาสื่อสารด้วยวิธีการอื่นๆ ที่มีความสนุกสนานมากกว่า

“สิ่งที่คาดหวังจริงๆ ก็คือ อยากให้หน้าประวัติศาสตร์ไทยมีรูปแบบการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีรูปแบบเดิมๆ ก็แสดงไปเลยว่านี่คือม็อบของคนรุ่นใหม่จริงๆ แล้วเราจะฉีกทุกมิติ ฉีกทุกกฎเกณฑ์ของขบวนเก่าๆ” จอห์นกล่าว

ความกลัวบนเส้นทางประชาธิปไตย

ขณะที่กระแสการชุมนุมของเยาวชนเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ก็มีเสียงเตือนจากผู้ใหญ่ ทั้งด้วยความห่วงใยไปจนถึงการข่มขู่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ชุมนุม ประกอบกับข่าวคราวการคุกคามนักกิจกรรมและศิลปินที่เข้าร่วมการชุมนุมที่ปรากฏอยู่ในสื่อ ทำให้เราตั้งคำถามถึงความกลัวและความกังวลของเยาวชนกลุ่มนี้บนเส้นทางสู่ประชาธิปไตย

“ไม่กลัวตายครับ ถ้ากลัวตายคงเลิกทำตั้งแต่ที่โดนลอบยิงครั้งนั้นแล้ว” ไมค์กล่าวอย่างหนักแน่น ตามสไตล์นักกิจกรรมที่เคยเผชิญกับการถูกคุกคามถึงชีวิตมาแล้ว “เราเกิดมาแค่ครั้งเดียว ตายก็ตายครั้งเดียว เพราะฉะนั้น เราเกิดมาหนึ่งครั้ง เราต้องใช้ชีวิตให้คุ้มกับสิ่งที่พระเจ้าสร้างเรามา”

เช่นเดียวกับฟอร์ด ที่ยืนยันว่าเขามีภูมิคุ้มกันมากพอที่จะรับความเสี่ยงจากการถูกดำเนินคดีได้ แต่ก็ยอมรับว่ามีความกังวลเล็กน้อยเกี่ยวกับการถูกคุกคาม เช่น การลอบทำร้าย อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังยืนยันที่จะใช้ชีวิตตามปกติ และเคลื่อนไหวทางการเมืองตามอุดมการณ์ของตัวเองต่อไป

ส่วนลีก็เล่าถึงความกังวลหลังจากที่ขึ้นเวทีปราศรัยครั้งแรกนั้นว่า

“ผมทำใจไว้แล้วว่า ถ้าการพูดครั้งนี้ต้องโดนมาตรา 116 ผมก็พร้อมแล้ว ผมก็เลยเลือกที่จะอยู่กรุงเทพฯ ต่ออีก 2 – 3 วัน ถ้าโดนข้อหาก็จะได้ไปรายงานตัวเลย ไม่ต้องบินไปบินมา เพราะว่าระยะทางมันไกล แล้วก็ต้องใช้เงินด้วย ก็กลัวเรื่องคดีความมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่ากลัวในลักษณะที่ไม่อยากพูด คือเรายอมรับผลที่มันจะตามมากับเรา

อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก็สะท้อนให้เราเห็นว่า หลายครั้งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ คนรุ่นใหม่เตรียมใจรับความผิดหวังจากปฏิบัติการครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน ลีตอบว่า

การเรียกร้องประชาธิปไตยมันไม่ใช่การร้องขอในสภาพสังคมแบบนี้ มันคือการสู้กันระหว่างคนที่รู้สึกว่าอยากให้ประเทศนี้ก้าวหน้า กับคนที่บอกว่าแบบนี้ก็ได้แล้ว ให้คนดีเขาบริหารประเทศไป แน่นอนว่าความผิดหวังจากการต่อสู้มันมีมาตลอด ถ้าวันหนึ่งเราไม่ประสบความสำเร็จหรือเราแพ้ เราก็ต้องทำใจยอมรับให้ได้ แต่ลึกๆ แล้วเราเชื่อว่าครั้งนี้จะไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว ผมมั่นใจค่อนข้างมากว่าเราไม่น่าจะแพ้ แต่จะชนะแบบไหนแค่นั้นเอง”

“อย่างน้อยเราก็ได้ทำแล้ว และเราไม่ยอมเข้าไปเป็นหนึ่งในน็อตที่ขับเคลื่อนอำนาจตรงนั้น” พลอยกล่าวเสริม

โลกที่คนรุ่นใหม่อยากเห็น

เมื่อถามว่าโลกที่คนรุ่นใหม่ทั้ง 5 คน อยากจะเห็น หน้าตาเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้คือ โลกที่มีประชาธิปไตย มีการเมืองที่ดี ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต่ำ มีรัฐสวัสดิการดูแลทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีการเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกคน ไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์แบบใดก็ตาม

“เราอยากเห็นโลกที่มนุษย์ที่เกิดมาไม่ถูกลิดรอนสิทธิหรือกดทับ ได้ใช้ชีวิตของตัวเองในการเมืองที่ดี เป็นโลกที่มนุษย์คนหนึ่งเกิดมาแล้วรู้สึกว่าดีใจจริงๆ ที่ได้เกิดมา ไม่ต้องเป็นทาสของใคร ไม่ต้องเป็นหุ่นให้ใครเชิด มีชีวิตเป็นของตัวเองแล้วได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองอยากใช้” พลอยอธิบาย

“โลกใบใหม่ที่ผมอยากเห็นคือประเทศที่เต็มไปด้วยโอกาส มีความหวัง ความฝัน มากพอให้ทุกคนเก็บเกี่ยว เป็นประเทศที่ในช่วงเวลาที่เราจะผิดหวัง มันก็มาจากการเลือกของเราจริงๆ” จอห์นกล่าวเสริม

“ผมพูดในฐานะที่อยู่ในพื้นที่ที่ปกครองด้วยทหารมานาน เวลาที่คนมาตั้งคำถามแบบนี้กับผม ผมแทบจะนึกไม่ออกว่าชีวิตปกติเป็นแบบไหน เราอาจจะเข้าไปนั่งในร้านกาแฟ กินกาแฟได้ แต่เราก็รู้สึกว่าเราก็ทำได้แค่นั่งกินกาแฟ ผมมองว่ามันไม่ใช่เสรีภาพด้วยซ้ำ เสรีภาพที่เราไม่สามารถพูดได้ว่าเราต้องการอะไร เพราะฉะนั้น ผมอยากจะเห็นพื้นที่หรือประเทศที่มีการเคารพศักดิ์ศรีของคน การยอมรับซึ่งตัวตนของคน การให้คนมีเสรีภาพในการแสดงออก ในขณะเดียวกันก็เคารพคนอื่นด้วย” ลีกล่าว

“โลกที่ไมค์อยากเห็นคือความเท่าเทียม ลดชนชั้นศักดินา อยากให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้แบบเสมอภาคกัน ไม่โดนกดขี่ อยากให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญของคำว่ามนุษย์ เราก็คน เขาก็คน สะกดเหมือนกัน” ไมค์สรุป

บทความที่เกี่ยวข้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook