เปิดใจเจ้าอาวาสวัดเจดีย์ "ไอ้ไข่" จดลิขสิทธิ์แล้ว ไม่เคยอนุญาตให้วัดอื่นสร้างรูปจำลอง

เปิดใจเจ้าอาวาสวัดเจดีย์ "ไอ้ไข่" จดลิขสิทธิ์แล้ว ไม่เคยอนุญาตให้วัดอื่นสร้างรูปจำลอง

เปิดใจเจ้าอาวาสวัดเจดีย์ "ไอ้ไข่" จดลิขสิทธิ์แล้ว ไม่เคยอนุญาตให้วัดอื่นสร้างรูปจำลอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เจ้าอาวาสวัดเจดีย์จดลิขสิทธิ์  "ไอ้ไข่" ลั่นไม่เคยอนุญาตให้วัดอื่นอัญเชิญไปสร้างรูปจำลอง ไม่อยากให้จบเร็วแบบยุคจตุคาม

ที่วัดเจดีย์ ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ยังคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่มีความศรัทธา "ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์" ที่มากราบไหว้ขอพรไอ้ไข่เป็นจำนวนมาก โดยผู้ที่ประสบความสำเร็จหลังมาขอพรก็ได้นำประทัดมาจุดแก้บน ซื้อของเด็กเล่น ไก่ชนมาถวายไอ้ไข่ นอกจากนี้คนที่มาเป็นกลุ่มก็ได้นำคณะกลองยาวมารำถวายที่หน้าเจดีย์ สร้างบรรยากาศให้มีความคึกคักเป็นอย่างมาก

พระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์ หรือ อาจารย์แว่น เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ไอ้ไข่ กล่าวว่า จากกรณีที่มีวัดต่างๆ ได้มีการออกมาบอกว่าได้มีการเชิญไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ไปอยู่ที่วัดนั้นวัดนี้ และมีการเปิดเป็นวัดสาขาไอ้ไข่ต่างๆ มากมาย อาตมาอยากจะถามว่า การที่บอกว่าเชิญไอ้ไข่ไป ใช้อะไรเชิญไป ถ้าเชิญต้องเชิญไปทั้งหมด ต้องเชิญพระพุทธรูปที่เป็นจุดกำเนิดของไอ้ไข่ เขาปฏิบัติมาเป็นเวลา 100-200 ปี 

คนที่รับรู้และสื่อสาร รวมทั้งเป็นผู้สร้างชื่อไอ้ไข่ที่ต้องเชิญเป็นคนแรกคือ ผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอิน ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงวิทยาคมตั้งแต่ครั้งสมัยวัดร้าง การที่บอกว่าเชิญไอ้ไข่เชิญยังไง ถ้าบอกว่าอธิษฐาน คนที่มาที่วัดเขาก็อธิษฐานกันทุกคน เชิญได้ทุกคนแล้ว แต่จริงๆ ทำไม่ได้ เพราะอาตมาและวัดไม่เคยได้อนุญาตให้ที่ใดวัดไหนสถานที่ใดทำหรือเอาไอ้ไข่ไป เพราะไอ้ไข่คือความศรัทธาของคนที่ทำให้คนเข้าวัด แล้วเราเอาพระพุทธศาสนาสอดแทรกเข้าไป

ส่วนคนที่บอกว่าเชิญไป อาตมาถามว่าเชิญไปเพื่ออะไร เพื่อหารายได้ใช่ไหม เขาไม่เรียกว่าเชิญเค้าเรียกเกาะติดกระแส เหมือนนักร้องคนหนึ่งเป็นเจ้าของเพลง คนจะเชิญไปร้องทุกบ้านไม่ได้ เราก็ซื้อได้แค่แผ่นเสียงไปฟัง ก็มีแผ่นปลอมแผ่นเก๊อีกก็ว่ากันไป และช่วงนี้เรื่องของไอ้ไข่ก็เยอะมาก มีทั้งในทีวี ในโซเชี่ยล ไม่อยากให้คนตกไปเป็นเครื่องมือ ซึ่งทั้งหมดไม่เกี่ยวกับวัดเจดีย์แต่อย่างใด ส่วนของวัดมีความชัดเจนจะทำอะไรจะมีการปรึกษาหารือมีการประกาศให้สาธารณชนรับทราบโดยตลอด

พระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์

ต่อข้อถามจะมีการเอาผิดทางกฎหมายต่อผู้ที่เอาไอ้ไข่ไปแอบอ้างหรือไม่ พระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์ กล่าวว่า อาตมาไม่คิด แต่มีบางวัดเอารูปของอาตมาไปขึ้นป้ายแล้วบอกว่าอาตมาอนุญาตแล้ว ซึ่งกรณีแบบนี้อาตมาจะเอาเรื่อง แต่จะมีการโทรไปบอกกล่าวกันก่อนให้หยุด หากไม่หยุดก็คงจะต้องว่ากันตามกระบวนการ แต่อาตมาเองก็ไม่อยากจะทำแบบนั้นเพราะไม่มีเวลา อยากให้คนที่ทำคิดให้ได้ว่าเขาอาจได้เงินทองแต่จะทำให้ไอ้ไข่จบเร็วเหมือนกับตอนกระแสจตุคาม หากอาตมาเล่นด้วยอนุญาตให้ทำ สุดท้ายก็จะจบเหมือนจตุคาม แต่อาตมาไม่อนุญาตให้ที่อื่นทำ ส่วนกรณีที่ใดเอาวัดหรืออ้างว่าได้อนุญาต หรืออภิสิทธิ์จากวัดเจดีย์แล้ว อันนี้ต้องว่ากันตามกฎหมาย

ส่วนกรณีของ บิณฑ์-เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ มาไลฟ์สดที่วัดเจดีย์แล้วบอกว่าอัญเชิญไอ้ไข่ไปด้วยนั้น จริงๆ กลุ่มนี้ได้มาทำพระที่วัดเขาพระทอง อ.ชะอวด และได้เชิญอาตมาไปด้วย เพื่อที่จะให้อาตมาส่งมอบพระให้แล้วจะได้ถ่ายรูปเพื่อเป็นสื่อ แต่อาตมาติดกิจนิมนต์เลยไม่ได้ไป เขาก็เลยมากันที่วัดแต่ไม่เจออาตมาเลยขึ้นไปในอุโบสถที่ห้ามไม่ให้ขึ้นไป ซึ่งคณะกรรมการที่ดูแลอยู่เขาได้ห้ามแล้วแต่เขาไม่ฟัง ที่เค้าบอกว่าเป็นการอัญเชิญแต่จริงๆ ไม่ใช่การอัญเชิญ แต่เป็นการโปรโมทกันเท่านั้น 

“ซึ่งสังคมจะเป็นผู้ตัดสินเค้าเองว่าเป็นอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาตมาต้องเอาผิดกับคณะกรรมการที่รับผิดชอบตรงนั้นที่ปล่อยให้คุณบิณฑ์กับเอกพันธ์เข้าไปทั้งที่เป็นเขตหวงห้าม ทางวัดต้องเชิญเจ้าหน้าที่ออกทั้งหมด 16 คน แต่คิดว่าน่าจะให้พักงานก่อน 1 เดือน ซึ่งต้องคุยกันอีกครั้ง หากยังไม่มีแนวปฏิบัติที่จะช่วยป้องกันก็ต้องหาคนอื่นมาทำแทน ส่วนคนที่เป็นภาพในข่าวก็คิดเอาเองว่าจะปล่อยไลฟ์สดออกไปอีกหรือจะยุติ”

พระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์ กล่าวอีกว่า ทางวัดได้มีการจดลิขสิทธิ์ทุกอย่าง ตั้งแต่รูปปั้นไอ้ไข่ หนังสือประวัติความเป็นมาจดหมดวัตถุมงคลก็จด ซึ่งงานที่วัดสร้างสรรค์ขึ้นมาถือเป็นลิขสิทธิ์ของวัดอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ อาตมาไม่อยากจะเอาเรื่องกฏหมายมาดำเนินการ แต่อยากจะให้ทุกคนโดยเฉพาะคนนครศรีธรรมราช ช่วยกันรักษาปกป้องไอ้ไข่ไว้ให้ยืนยงคู่กับจังหวัด เพราะไม่ได้เลวร้าย แต่มันช่วยสังคมได้พอสมควร อยากให้ช่วยกันดูแลและรักษาดีกว่า อยากให้ดูยุคจตุคามรามเทพเป็นตัวอย่าง หากต่างคนต่างสร้าง ใครก็สร้างได้ ท้ายที่สุดก็จบเร็วล่มสลายเร็ว อาตมาไม่อยากให้ไอ้ไข่เป็นอย่างนั้น อยากให้ช่วยกันรักษาเป็นวัฒนธรรมความเชื่อของท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ทรงคุณคุณค่าประจำถิ่นเท่านั้น

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook