เอกสารระบุชัดรัฐไทยเสื่อมลงทุกปี สิงคโปร์-มาเลฯ ทิ้งห่างหลายช่วงตัว

เอกสารระบุชัดรัฐไทยเสื่อมลงทุกปี สิงคโปร์-มาเลฯ ทิ้งห่างหลายช่วงตัว

เอกสารระบุชัดรัฐไทยเสื่อมลงทุกปี สิงคโปร์-มาเลฯ ทิ้งห่างหลายช่วงตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เอกสารยุทธศาสตร์ตรวจราชการระบุดัชนีชี้วัดเกือบทุกด้านของรัฐไทยเสื่อมทรุดลงทุกปีตั้งแต่ 2544-2551 ประสิทธิภาพภาครัฐ-การคลัง-ความโปร่งใสมีแนวโน้มตกต่ำลงเรื่อยๆ พบสิงคโปร์-มาเลเซียทิ้งห่างไทยไปหลายช่วงตัว มีระดับความสงบสุขต่ำเป็นอันดับที่สองในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากประเทศพม่า

เมื่อวันที่ 12 กันยายน มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมระดมความเห็นและชี้แจงข้าราชการระดับสูงทำเนียบรัฐบาล และผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับ "แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการตรวจราชการ พ.ศ.2552-2556" ที่โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา บรรดาผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนหนึ่งได้หยิบยกเนื้อหาในบทสรุปสำหรับผู้บริหารมาหารือในวงประชุม บทสรุปส่วนหนึ่งได้รายงานความตกต่ำเกือบทุกด้านของรัฐไทยผ่านดัชนีชี้วัดด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 1.ดัชนีความสงบสุข 2.การบริหารจัดการที่ดี 3.ประสิทธิภาพของภาครัฐ ฯลฯ ดัชนีชี้วัดระบุว่าอันดับและคะแนนมีแนวโน้มลดลงทุกปี นับตั้งแต่ปี 2544-2551 ผู้เข้าร่วมสัมมนาต่างแสดงความเป็นห่วงว่า หากเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นในเร็วๆ นี้ จนนำไปสู่ความรุนแรง จะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของรัฐไทยในสายตาโลกย่ำแย่ลงกว่าเดิม และประเทศไทยมีสิทธิถูกปรับอันดับประสิทธิภาพของภาครัฐลงต่ำกว่าเดิม และจะโดนประเทศมาเลเซียทิ้งห่างไปเรื่อยๆ

เอกสารยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการตรวจราชการ ระบุผลการประเมินสังคมไทยด้วยดัชนีความสงบสุข พบว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับดัชนีความสงบสุขอยู่ในระดับต่ำ ในปี 2551 แย่ลงกว่าปี 2550 คือมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 105 ไปอยู่อันดับที่ 118 จากการจัดอันดับประเทศทั่วโลก 140 ประเทศ ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับความสงบสุขต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และต่ำที่สุดเป็นอันดับที่สองในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากประเทศพม่า (อันดับที่ 126) เพียงประเทศเดียว ทั้งนี้ ปัจจัยเชิงลบที่มีผลต่อสถานการณ์ความสงบสุขของไทย อาทิ การมีอาชญากรรมที่รุนแรงเพิ่มขึ้น เสถียรภาพรัฐบาล การละเมิดมนุษยชน การแสดงออกด้านความรุนแรง เป็นต้น

ส่วนระบบบริหารจัดการยังมีปัญหาด้านภาพลักษณ์ ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยมีคะแนนอยู่ในระดับปานกลางและมีแนวโน้มลดลงทุกปีนับตั้งแต่ปี 2545 และมีแนวโน้มห่างจากมาเลเซียมากขึ้นเรื่อยๆ ในด้านภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2547-2551) มีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซียล้วนมีค่าคะแนนมากกว่าเกือบเท่าตัว ทางด้านผลการจัดอันดับประสิทธิภาพภาครัฐ และฐานะการคลังในปี 2546-2551 มีแนวโน้มแย่ลง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านความโปร่งใส การทุจริตและประพฤติมิชอบ และการให้บริการสาธารณะ ทำให้อันดับลดลงจากอันดับที่ 21 ในปี 2547 เป็นอันดับที่ 46 ในปี 2551

เอกสารยังนำเสนอทิศทางใหม่เพื่อการพัฒนาสังคมไทยให้เข้าสู่สภาวะสมดุล อาทิ 1.ปรับกระบวนทรรศน์การบริหารงานของภาครัฐใหม่ ให้เข้าสู่ระบบบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ประชาชน/ชุมชนมีบทบาทหลักในการเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการแก้ปัญหา และการหาวิธีป้องกันปัญหา ตลอดจนการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนให้การดำเนินงานของภาคประชาชนสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ 2.พัฒนากระบวนการ "สัญญาประชาคม" บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ 3.สร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้าง กลไกและกระบวนการบริหารจัดการของทุกภาคส่วนในสังคม บนพื้นฐานหลักธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมการเมืองไทย ที่ยึดโยงกับแนวปฏิบัติภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 4.สนับสนุนภาคเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้น 5.รณรงค์สร้างจิตสำนึกและส่งเสริมบทบาทภาคประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยจัดระบบการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด วางรากฐานคุณธรรม จริยธรรมแก่ประชาชน เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook