ช่อ พรรณิการ์ มาให้กำลังใจผู้ชุมนุม เตือนรัฐบาลยิ่งขวางม็อบ-ประเทศยิ่งพัง
ช่อ พรรณิการ์ ร่วมชุมนุม เผยมาในฐานะประชาชน ขอรัฐบาลฟังเสียงประชาชน หากพยายามขวางมีแต่จะยิ่งพังจะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวว่า มาร่วมชุมนุมวันนี้ในฐานะประชาชน มาเติมเต็มพลังมวลชน และยืนยันว่าวันนี้มามอบกำลังใจให้กับผู้ร่วมชุมนุมเนื่องจากตอนนี้เป็นการต่อสู้ของประชาชน พร้อมเล่าว่าได้มาติดตามบรรยากาศการเตรียมความพร้อมการชุมนุมตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา และเชื่อว่าสุดท้ายแล้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะยอมเปิดพื้นที่ให้ชุมนุม โดยอ้างอิงถึงเมื่อเหตุการณ์ ต.ค.ในอดีตก็มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนชุมนุมเช่นเดียวกัน ทำให้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาไม่มีภาพการตัดโซ่หรือพังประตูซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดี และคาดหวังว่าประชาชนจะเป็นพลังที่ไม่มีใครขวางกั้นได้และรัฐบาลจะฟังประชาชนอย่างคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือไม่
ทั้งนี้ ไม่คิดว่าจะมีความรุนแรงใดและบรรยากาศก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยโดยเฉพาะมีร้านค้าขายอาหาร ของแจก เยอะมากซึ่งบรรยากาศมีแต่ความคึกคัก และรู้สึกดีเป็นพิเศษเนื่องจากว่ามีคนร่วมชุมนุมทุกกลุ่มทุกวัย ซึ่งเมื่อตอนการชุมนุม 18 ส.ค. ส่วนใหญ่ 80% เป็นวัยรุ่น แต่ครั้งนี้มีครอบครัวพาลูกมา มีอดีตข้าราชการเกษียณ เช่น ผู้พิพากษา อัยการ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีเด็กมัธยมและนักศึกษามาร่วม พร้อมย้ำว่าเป็นความสวยงามในการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย
พร้อมกันนี้ พรรณิการ์ ยังเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐพยายามสกัดกั้นการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นทางเรือที่มีผู้ชุมนุมมาจากท่าน้ำนนท์หรือประชาชนที่่เดินทางมาจากภาคเหนือ แต่สุดท้ายก็เดินทางมาได้ พร้อมย้ำว่ารัฐบาลจะต้องยอมรับว่านาทีนี้ประชาชนจะไม่ยอมอีกต่อไป ประชาชนลุกขึ้นต่อสู้แล้วโดยไม่มีอะไรขวางกั้น หากรัฐบาลพยายามขวางมีแต่จะยิ่งพังจะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ พร้อมขอให้รับฟังเสียงประชาชน เชื่อว่าการชุมนุมครั้งนี้จะส่งสัญญาณให้รัฐบาลและรัฐสภาในการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 -24 ก.ย.นี้ พร้อมย้ำว่าให้พิจารณาร่างของฝ่ายค้านที่มีการกำหนดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั่วประเทศ
ส่วนโมเดลของรัฐบาลที่กำหนดมาจากการเลือกตั้ง 150 คน และเป็นการเลือกกันเองอีก 50 คน จากนักวิชาการนักศึกษาตัวแทนรัฐสภา โดยมองว่าเป็นโมเดลหวยล็อค ซึ่งไม่ต่างจากการทำรัฐธรรมนูญปี 2560 และไม่อยากเห็นการแก้ปัญหาแบบพายเรือในอ่างกลับไปสู่วังวนเดิม และถ้ารัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหาก็ควรรับร่างแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน ให้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งประเทศ แต่ถ้าหากไม่ยอมให้เลือกตั้งทั้งหมดก็จะเกิดคำถามว่ากลัวอะไร
พร้อมตั้งข้อสังเกตถึง ส.ส.ร. 50 คน ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลโดยมีการคัดเลือกจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงมองว่าหากเป็นเช่นนี้กกต.จะทำอะไรก็ได้ และยังมีสัดส่วนของรัฐสภา ซึ่งคาดว่าในจำนวนนี้จะมีสัดส่วนของรัฐบาลราว 40 คน ที่ถูกเลือกมา และท้ายที่สุด ส.ส.ร.ที่มีแต่คนของรัฐบาลจะต่างอะไรกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560