“ทำแท้งปลอดภัย” แอกใหญ่ของผู้หญิงที่ยังไม่ถูกปลด

“ทำแท้งปลอดภัย” แอกใหญ่ของผู้หญิงที่ยังไม่ถูกปลด

“ทำแท้งปลอดภัย” แอกใหญ่ของผู้หญิงที่ยังไม่ถูกปลด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานพยาบาลไฟสลัวในตึกแถวเก่า ๆ ย่านชานเมือง อบอวลไปด้วยด้วยกลิ่นเหม็นสาบและคราบสกปรก มีเสียงร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวดของหญิงสาวดังกึกก้องจากห้องตรวจ สร้างความหวาดหวั่นให้กับหญิงสาวคนอื่นที่นั่งรออยู่ด้านนอก 

นี่คือภาพจำของ “การทำแท้ง” ที่ปรากฏอยู่ในสื่อกระแสหลักของสังคมไทย บวกกับทัศนคติและความเชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ผีเด็ก” ที่ติดตามผู้หญิงที่เคยทำแท้ง หรือความเชื่อที่ว่าผู้หญิงที่เคยทำแท้ง “ทำอะไรก็ไม่เจริญ” เพราะบาปกรรมจากการฆ่าลูก รวมทั้งกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้ง ทำให้ทุกครั้งที่พูดถึงการทำแท้ง คนทั่วไปมักคิดถึงภาพความน่ากลัวและการกระทำที่ไร้ศีลธรรมเสมอ

แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ห้ามการทำแท้งในทุกกรณี แต่ประเด็นการทำแท้งก็จุดกระแสการถกเถียงในสังคมได้เสมอ  ขณะที่ฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการให้แก้ไขกฎหมายการทำแท้ง และยกเรื่องศีลธรรมขึ้นมาอ้าง อีกฝ่ายก็มองไปถึงเรื่องของความจำเป็นในชีวิตและสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ผู้หญิงมีทางเลือกที่ดีต่อทั้งตัวเองและสังคม ที่จริงแล้ว กฎหมายทำแท้งและทัศนคติของคนต่อเรื่องนี้ควรได้รับการแก้ไขหรือไม่ และจะทำได้อย่างไร Sanook คุยกับ “กลุ่มทำทาง” กลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานให้คำปรึกษาผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และทำงานขับเคลื่อนเรื่องการทำแท้งปลอดภัยมานานกว่า 10 ปี เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้

“กลุ่มทำทาง” เพื่อ “สิทธิการทำแท้ง” ของผู้หญิง

ย้อนกลับไปในปี 2553 ข่าวการพบซากทารกมากกว่า 2,000 ศพ ในบริเวณวัดไผ่เงินโชตนาราม กรุงเทพฯ เป็นข่าวดังที่ทั้งสะเทือนใจคนไทยและส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามต่อระดับศีลธรรมของคนในสังคม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ “กลุ่มทำทาง” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและต้องการเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย แม้จะก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานของสังคมต่อเรื่องการทำแท้งที่รุนแรง เพราะสังคมยังมองว่า การทำแท้งเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม

คุณนิศารัตน์ จงวิศาล อาสาสมัครของกลุ่มทำทางชี้ว่า สังคมมัก “ลงโทษผู้หญิงด้วยการเป็นแม่” ซึ่งเป็นผลมาจากทัศนคติอย่าง “ก็เธอไปอ้าขาให้เขาเอง” ที่มองว่าผู้หญิงที่ยอมมีเพศสัมพันธ์โดยง่ายเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี และการตั้งท้องก็เป็นการลงโทษที่พวกเธอสมควรได้รับ แต่เมื่อผู้หญิงเลือกที่จะทำแท้ง ความเชื่อของสังคมก็ยังคงทำงานกดทับผู้หญิงเช่นเดิม เช่น ผีเด็กและบาปกรรมที่จะติดตามพวกเธอไป 

“มันเป็นเพราะสังคมไม่มีข้อมูลอื่นที่ทำให้เราคลี่คลาย พอพูดเรื่องทำแท้ง ก็ต้องมีผีเด็กมาเกาะแน่นอน หรือถ้าดูทีวี ดูภาพยนตร์ ก็ไม่มีข้อมูลว่าไปทำแท้งได้ หรือไม่มีข้อมูลที่บอกว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยผ่านการทำแท้งมาก่อน” คุณสุไลพร ชลวิไล อาสาสมัครอีกคนของกลุ่มอธิบาย 

“ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้ง ไม่ใช่ว่าเขาตัดสินใจทำแล้วเขาจะสบายใจ เขาจะมีความรู้สึกเป็นคนไม่ดี หรือเขาจะมีบาปกรรม มันเป็นความเชื่อที่ถูกกดทับมาจากสังคม ดังนั้น สิ่งที่เราทำงานกับเขาได้ คือเราก็อธิบายด้วยเหตุผล และคำพูดช่วยปลดล็อกผู้หญิงได้นะ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้หญิงถามว่า จริงไหมที่ผู้หญิงทำแท้งแล้วชีวิตจะแย่ ทำอะไรก็ไม่ขึ้น เราก็บอกตรง ๆ ว่ามันมีผู้หญิงที่ทำแท้งแล้วชีวิตดี แล้วก็มีผู้หญิงที่ชีวิตไม่ดี ไม่ต่างอะไรจากคนที่ไม่เคยทำแท้ง ชีวิตมีขึ้นลงปกติ” คุณนิศารัตน์เล่า 

“มันเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง ทั้งเรื่องศีลธรรม สุขภาพ หรือสิทธิ เพราะฉะนั้นมันก็จะเถียงกันอยู่ไม่จบ ฝั่งที่สนับสนุนก็จะพูดเรื่องสิทธิของผู้หญิง ฝั่งที่คัดค้านก็จะพูดเรื่องสิทธิตัวอ่อนและศีลธรรม แต่สิ่งที่สำคัญคือ ถ้าเราห้ามทำแท้ง ผลที่ตามมาคือผู้หญิงไปทำแท้งแบบไม่ปลอดภัย และเขาเสียชีวิต มันควรเกิดขึ้นหรือ คือถ้ามองเรื่องศีลธรรม คุณจะยอมให้ผู้หญิงตายใช่ไหม” คุณสุไลพรตั้งคำถาม

แม้การให้คำปรึกษาจะเป็นงานที่สำคัญที่สุดของกลุ่มทำทาง เพราะยังมีผู้หญิงอีกมากมายที่ประสบปัญหา และต้องการความช่วยเหลือ แต่การผลักดันเชิงนโนบายและการเปลี่ยนแปลงกฎหมายก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของกลุ่ม

“เราต้องทำงานเชิงผลักดันนโยบายหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้วย คือทำให้เห็นว่า การทำแท้งปลอดภัยเป็นการบริการสุขภาพ เป็นสิทธิที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงได้” คุณสุไลพรชี้

กฎหมายเอาผิดผู้หญิง

ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้ระบุให้การทำแท้งเป็นความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย โดยมีทั้งหมด 5 มาตราที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง (มาตรา 301 - มาตรา 305) แต่มาตราที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ มาตรา 301 ที่ระบุว่า หญิงใดที่ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในขณะที่มาตรา 305 ระบุถึงข้อยกเว้นในการทำแท้ง โดยระบุว่า ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์ และ (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามบัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำจะไม่มีความผิด

ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งที่ถูกบังคับใช้มานานถึง 64 ปีนี้ ได้รับคำวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลังจากที่แพทย์หญิงศรีสมัย เชื้อชาติ ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการเปิดคลินิกรับทำแท้ง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ สิ่งที่กลุ่มทำทางคาดหวังไม่ใช่เพียงการแก้ไขกฎหมาย แต่เป็นการ “ยกเลิกกฎหมาย” ที่กดทับและเอาเปรียบผู้หญิงมาอย่างยาวนาน เพราะการที่ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย จะทำให้มีความเสี่ยงที่ผู้หญิงจะได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น พวกเธอยังถูกบังคับให้เป็นแม่โดยไม่พร้อม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาของผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่สังคมต้องหันหน้าเข้ามาพูดคุยและหาทางออกไปด้วยกัน

กฎหมายเปลี่ยนทัศนคติ

เมื่อ “กฎหมาย” มีส่วนในการชี้นำความเชื่อ ความคิด และทัศนคติของคนในสังคม จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า แล้วการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายทำแท้งจะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคมหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ คุณสุพีชา เบาทิพย์ ผู้ประสานงานกลุ่มทำทาง มองว่า การแก้ไขกฎหมายอาจจะไม่สามารถทำให้ทัศนคติของคนในสังคม และแนวคิดเรื่องศีลธรรมเปลี่ยนไปในทันที แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะได้รับการเปลี่ยนแปลง คือ สุขภาพของผู้หญิง 

“การที่เราแก้ไขกฎหมาย ทัศนคติจะไม่เปลี่ยนในวันพรุ่งนี้แน่นอน เพราะความคิดเรื่องบาปและความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ก็จะยังอยู่ แต่สังคมของเราจะเดินไปข้างหน้าและมีทางเลือกมากมายที่จะมองสถานการณ์เหล่านั้น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงกฎหมายจะเป็นตัวหนึ่งที่บอกว่า สังคมของเรากำลังเดินไปถึงจุดที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิที่จะคิดและเชื่อ ขณะที่การตั้งครรภ์ การเลี้ยงดูบุตร การทำแท้งก็ไม่ใช่ตราบาปของผู้หญิงฝ่ายเดียวอีกต่อไป ตรงกันข้าม เราจะเริ่มมองว่ามันเป็นเรื่องสุขภาพที่จับต้องได้” คุณสุพิชาอธิบาย

เช่นเดียวกับคุณสุไลพรที่เสริมว่า เมื่อมีการยกเลิกกฎหมายทำแท้ง ผู้หญิงจะสามารถเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ในขณะที่แพทย์ผู้ให้บริการ ก็ไม่ต้องคอยกังวลว่ากำลังทำผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับภาครัฐและเอกชน ที่สามารถประชาสัมพันธ์เรื่องการทำแท้งได้มากขึ้น และเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ข้อมูลการทำแท้งปลอดภัยก็จะกระจายไปในวงกว้าง และผู้หญิงก็ไม่ต้องเสี่ยงชีวิตกับการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตของพวกเธออีกต่อไป

ทางด้านคุณนิศารัตน์ก็เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมายจะเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในสังคมอย่างแน่นอน เนื่องจากกฎหมายมีผลต่อนโยบายด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำแท้ง 

“กฎหมายทำแท้ง คือการตั้งต้นที่ผิด ดังนั้น ถ้าเราเอาความผิดออกไป และตั้งต้นด้วยความไม่ผิดเมื่อไร เราจะมองการทำแท้งเปลี่ยนไปเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น รัฐมีอิทธิพลกับประชาชนมากกว่าที่เรารู้ตัว เมื่อไรก็ตามที่กฎหมายตรงนี้ยกเลิกไป นโยบายที่อยู่ใต้กฎหมายก็จะเปลี่ยนแปลง เช่น หนังสือเรียนจะเปลี่ยนเนื้อหา และโรงพยาบาลจะเปลี่ยนท่าที เป็นต้น” คุณนิศารัตน์แสดงความคิดเห็น

เสียงของผู้หญิงยังไม่ถูกได้ยิน

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้แก้ไขมาตรา 301 และมาตรา 305 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีก็มีมติมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 สิงหาคม 2563 มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำการแก้ไขร่างกฎหมายทำแท้งเสร็จเป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนไปแล้ว ในระหว่างวันที่ 13 - 28 สิงหาคม 2563 ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ทำให้กลุ่มทำทาง และเครือข่ายทำงานอื่น ๆ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้แจ้งเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานในเรื่องนี้ให้รับทราบว่ามีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยคุณสุไลพรระบุว่า “เรารู้อยู่แล้วแหละว่ามันจะเป็นแบบนี้ เพราะมันเป็นกับทุกกฎหมายเลย ซึ่งมันคือการหักหลังประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมเลย ถึงเขาเขียนว่าประชาชนมีส่วนร่วม ก็เหมือนเขียนไปแบบนั้น แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริง”

ในร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำการแก้ไขล่าสุด มีใจความสำคัญที่ระบุว่า มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ขณะที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ใน มาตรา 305 ระบุว่า ถ้าการกระทำผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ในกรณีดังต่อไปนี้

  1. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น
  2. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
  3. หญิงมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำผิดเกี่ยวกับเพศ หรือ
  4. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ 

      ผู้กระทำไม่มีความผิด

ร่างกฎหมายฉบับแก้ไขที่ออกมา ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามเรื่องความเข้าใจในเรื่องสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงของผู้มีส่วนรับผิดชอบในการแก้ไขกฎหมาย รวมถึงข้อลงโทษผู้หญิงทำแท้ง ซึ่งระบุอยู่ในกฎหมายฉบับก่อนหน้าและในร่างฉบับล่าสุด

สิ่งที่เราต้องการคือให้ยกเลิก หรืออย่างน้อยก็ระบุไปเลยว่า ผู้หญิงที่ทำแท้งไม่มีความผิด คือช่วยทำให้มันหายไปจากสารบบของกฎหมาย และเหลือข้อที่จำเป็น หรือช่วยเขียนให้ชัดเจน เพราะเราไม่ต้องการให้การทำแท้งเป็นเรื่องแอบ ๆ ซ่อน ๆ ท่าทีของกฎหมายและความรู้สึกของเรา เหมือนกับเราต้องมุดรูเข้าไปทำแท้ง เราต้องมุดรูโหว่ของกฎหมายภายใต้เงื่อนไขเล็ก ๆ เราจึงอยากให้เปลี่ยนกฎหมาย เพื่อที่ผู้หญิงไม่ต้องมุดเข้าไปทำแท้งแบบนั้นอีก กฎหมายใหม่ที่จะออกมา เราก็อยากให้ตรงนี้หายไป แต่ไม่เลย มันยังอยู่ที่เดิม มันแค่ขยายรูให้กว้างขึ้นมาอีกหน่อยเท่านั้นเอง” คุณนิศารัตน์อธิบาย 

กฎหมายทำแท้งไม่เพียงกำหนดชีวิตของผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อแพทย์ที่ให้บริการทำแท้ง หรือแพทย์ในเครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย (RSA หรือ Referral system for Safe Abortion) ซึ่งคุณสุพีชา มองว่า ร่างกฎหมายฉบับแก้ไขล่าสุด ยังขาดการรับฟังเสียงของผู้ประสบปัญหาโดยตรง นั่นคือ เสียงของผู้หญิงและแพทย์ผู้ให้บริการ 

“ประเด็นก็คือว่า กฎหมายนี้กำลังกำหนดชีวิตของใครบ้าง หนึ่งคือชีวิตของผู้หญิง สองคือชีวิตของหมอ ทั้งสองกลุ่มนี้เป็นคนที่ได้รับผลกระทบหนัก ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขกฎหมาย ไปถามคนพวกนี้สิ ไปถามหมอว่าเขารู้สึกยังไง เขากลัวหรือเปล่าว่าครอบครัวจะโดนข่มขู่คุกคาม ในขณะที่เขารู้สึกว่ากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่เขากล้าเปิดเผยตัวอย่างภาคภูมิใจไหม เขาไม่สบายใจ เพราะเขาอยู่ท่ามกลางทัศนคติของสังคม และด้านหนึ่งคือกฎหมายที่เขาจะโดนจับเมื่อไรไม่รู้ ดังนั้น เวลาจะออกกฎหมาย ก็ต้องไปถามหมอกลุ่มนี้ด้วย แต่ตอนนี้มันกลายเป็นว่า คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ใช้สถานภาพของตัวเองมาครอบชีวิตของคนอีกกลุ่มหนึ่ง คุณออกกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้หญิงโดยตรง แล้วคุณได้ทำอะไรเพื่อรับฟังความคิดเห็นของคนเหล่านั้นบ้าง ผู้หญิงที่เคยทำแท้ง หรือผู้หญิงที่ยังไม่เคย แต่อาจจะต้องทำในสักวันหนึ่ง คุณมีพื้นที่จะรับฟังเสียงของพวกเขาไหม คำตอบคือไม่มี เขาไม่ฟังและเขาไม่ได้สนใจด้วยว่าเขาต้องฟัง” คุณสุพีชากล่าว 

กลุ่มทำทางและเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม จึงตัดสินใจเข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ในวันที่ 9 กันยายน 2563 เพื่อขอให้พิจารณาเรื่องการยกเลิกมาตรา 301 ซึ่งกำหนดให้การทำแท้งมีความผิด รวมทั้งให้ชี้แจงกรณีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมาย 

สิทธิการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย เป็นสิทธิมนุษยชน ถามว่าการที่เขาออกกฎหมายมาแบบนี้ แปลว่าเขาไม่ได้ศึกษากฎหมายอะไรเลยที่เป็นสากล การที่ยังคงแก้ไขกฎหมายให้มีความผิดต่อผู้หญิง เป็นสิ่งที่อันตราย และเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว ในฐานะประชาชน เราควรรู้สึกเศร้าใจที่เราอยู่ในประเทศที่ปิดหูปิดตาประชาชนตลอด ผูกขาดความรู้หรืออำนาจแค่ในบางสถาบัน เขาจะชี้ให้ไปทางไหนก็ไปทางนั้น ประชาชนไม่รู้ข้อมูลที่อัปเดต และเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง” คุณสุไลพรแสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายทำแท้งเกี่ยวข้องกับผู้หญิงและแพทย์ที่ให้การบริการเป็นอย่างมาก คุณสุพีชาจึงเสนอว่า หากจะมีการเปิดพิจารณาร่างกฎหมายอีกครั้ง เสียงของผู้หญิงและแพทย์ต้องไม่เลือนหายไปจากกระบวนการของกฤษฎีกา ดังที่เกิดขึ้นไปก่อนหน้านี้

จิ๋มก็ต้องการประชาธิปไตย 

ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “ประชาชนปลดแอก” เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวของกลุ่ม “ผู้หญิงปลดแอก” ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเป็นการรวมกลุ่มของคณะทำงานเพื่อผู้หญิงหลาย ๆ กลุ่ม ที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิทธิ์ต่าง ๆ ของผู้หญิง และประเด็นเรื่องการทำแท้งของกลุ่มทำทาง ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ผู้หญิงปลดแอกเรียกร้อง เมื่อถามถึงเหตุผลที่ผู้หญิงปลดแอกเข้ามาร่วมในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย คุณสุไลพรก็ตอบชัดเจนว่า “เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน” 

“ถ้าเรามองเรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องการเมืองที่เป็นทางการเพียงอย่างเดียว ก็คับแคบมาก ในขณะที่ชีวิตเราไปไม่ถึงเรื่องการเมืองที่เป็นทางการหรอก เราอาจจะมีส่วนร่วมแค่การเลือกตั้ง แล้วเราจะพูดเรื่องอะไรยังทำไม่ได้เลย วิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ไม่ได้ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นกับเราทุก ๆ วัน รัฐกลับมาควบคุมสิทธิของเรา เราอยากจะยุติก็ทำไม่ได้ ต้องไปขอให้หมออนุญาต ดังนั้น เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับตัวเรามากกว่าไปเรียกร้องให้ประยุทธ์ออกไปอีก” คุณสุไลพรกล่าว 

แม้ประชาธิปไตยจะถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมืองทางการ แต่ชีวิตของประชาชนทุกคนล้วนแล้วแต่ข้องเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองแทบทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเนื้อตัวร่างกาย และเรื่องของการทำแท้ง ที่คณะทำงานกลุ่มทำทางเชื่อว่า หากทุกคนเข้าใจเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองแล้ว การได้มาซึ่งประชาธิปไตยก็คงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝัน

“หลักการของความเป็นประชาธิปไตย คือ เห็นค่าของปัจเจกทุกคน ทุกคนมี 1 เสียงเท่ากัน ทุกคนมีความคิดและความเชื่อ เราจึงเปิดเสรีภาพทางด้านศาสนา ทางด้านการแสดงออก เช่นเดียวกับการที่ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือก เช่น บางคนเลือกว่าถ้าท้องเกิน 20 สัปดาห์ จะไม่ทำแท้ง แต่บางคนอาจเชื่อว่าถ้าเกิน 12 สัปดาห์ ก็จะไม่ทำแท้ง ถ้าเรามีประชาธิปไตย เราจะให้เกียรติกัน แต่ถ้าเราไม่มีประชาธิปไตย เราเป็นสังคมที่ปกครองกันแบบผู้ใหญ่ เราจึงไม่ให้เกียรติความคิดของคนอื่น นี่จึงเป็นจุดเชื่อมโยงว่าทำไมเราจึงอยากได้ประชาธิปไตยไปพร้อม ๆ กัน” คุณนิศารัตน์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมลงชื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอยกเลิกกฎหมายมาตรา 301 ยกเลิกความผิดผู้หญิงทำแท้งได้ที่: https://www.change.org

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook