ตำรวจลั่น ดำเนินคดีแกนนำชุมนุม 19 กันยา ทุกข้อหา พบ 3-4 รายปราศรัยเข้าข่ายหมิ่นเหม่

ตำรวจลั่น ดำเนินคดีแกนนำชุมนุม 19 กันยา ทุกข้อหา พบ 3-4 รายปราศรัยเข้าข่ายหมิ่นเหม่

ตำรวจลั่น ดำเนินคดีแกนนำชุมนุม 19 กันยา ทุกข้อหา พบ 3-4 รายปราศรัยเข้าข่ายหมิ่นเหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ (21 ก.ย.) พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติยืนยันจะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมและผู้ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ทุกข้อหา ไม่ละเว้น โดยเฉพาะการกระทำที่ไม่บังควร การปราศรัยที่หมิ่นเหม่ ไม่เหมาะสม กระทบต่อความรู้สึกของคนไทย  

เบื้องต้นมีผู้ปราศรัยเข้าข่ายความผิดนี้ 3-4 ราย และมีข้อมูลว่ามีผู้สนับสนุนด้วย ซึ่งปรากฏข้อมูลชัดเจนในโซเชียลมีเดีย ก็ต้องดำเนินคดีหากหลักฐานไปถึง โดยยืนยันว่า ตำรวจดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ขณะนี้พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม กำลังรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีในทุกกรณี รวมทั้งกรณีที่ตำรวจภูธรภาค 1 ตรวจยึดเอกสารที่จะนำมาร่วมชุมนุมหากเข้าข่ายความผิดก็ต้องดำเนินคดีเช่นกัน

นอกจากนี้ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับการยื่นเอกสารเปิดผนึกถึงประธานองคมนตรี ผ่าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) นั้น พล.ต.ท.ภัคพงศ์ รับเอกสารมา ในฐานะของผู้บัญชาการเหตุการณ์ในขณะนั้น และได้ดำเนินการตามกระบวนการ โดยส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังตรวจสอบเนื้อหา แล้วจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป หากพบว่าเนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินคดีด้วย ทั้งนี้ มีความชัดเจนว่าผู้ชุมนุมเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เนื่องจากชุมนุมโดยไม่ขออนุญาต ซึ่ง ผกก.สน.ชนะสงคราม ดำเนินคดีแล้ว

พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังเข้าข่ายความผิดอื่นๆ ตามที่กรมศิลปากร กรุงเทพมหานคร และที่ประชาชนคนอื่นๆ เข้าแจ้งความก็ต้องดำเนินคดีทั้งหมด เบื้องต้นกลุ่มนี้มีอย่างน้อย 10 ราย
 
"ต้องขอบคุณผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบ แต่ก็มีบางส่วนที่ทำผิดกฎหมาย แกนนำหรือผู้ชุมนุมรายใดทำผิดซ้ำก็ต้องนำไปสู่กระบวนการเพิกถอนประกันต่อไป ทั้งนี้ การชุมนุมต่อไปจากนี้ขอให้อยู่ในกรอบกฎหมาย ไม่อาศัยโอกาสทำสิ่งไม่เหมาะสม รวมถึงการนัดรวมตัวไปรัฐสภาในวันที่ 22 กันยายนด้วย หากทำผิดอีกก็ต้องดำเนินคดีซ้ำ ถือเป็นต่างกรรมต่างวาระ"

ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวว่า เรื่องหมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 ของผู้ชุมนุมที่หายไปนั้น ยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนถอดออกไป แต่ยอมรับว่าเป็นของกลางในคดี เป็นพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนต้องเก็บไว้ อยู่ในการดูแลของพนักงานสอบสวน ขั้นตอนต่อไปต้องตรวจสอบ หากมีความผิดก็ออกหมายเรียกและหมายจับผู้ที่ทำผิดต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนหน้าของวันนี้ (21 ก.ย.) พล.ต.ต.จิรสันต์ ภูมิจิตร และ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ถอนหมุดที่ใช้ชื่อว่า "คณะราษฎรที่ 2" ที่กลุ่มผู้ชุมนุมจัดกิจกรรมฝังไว้ที่สนามหลวง เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (20 ก.ย.) ว่า หลังจากที่ตัวแทนกรุงเทพมหานคร และกรมศิลปากร เข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้จัดให้มีการชุมนุมในความผิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฐานทำให้เสียทรัพย์, ความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน เมื่อเช้ามืดที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และกองพิสูจน์หลักฐาน จึงร่วมกันเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุเพื่อสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม และพบหมุดทองเหลืองดังกล่าวปักไว้บนพื้นซีเมนต์ จึงทำการอายัดไว้ และส่งมอบให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานนำไปตรวจสอบ เพื่อนำไปประกอบการดำเนินคดีตามที่มีการแจ้งข้อกล่าวหา
 
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้น พบแผงเหล็ก 7 แผง, แม่กุญแจที่ใช้คล้องระหว่างแผงเหล็ก 92 อัน รวมถึงจุดที่มีการเจาะพื้นเพื่อวางหมุดดังกล่าวได้รับความเสียหาย จึงมอบให้ผู้อำนวยการเขตพระนคร ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ เป็นตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดี ส่วนความเสียหายอื่นๆ เช่น ต้นไม้, สนามหญ้า ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบประเมินว่ามีความเสียหายมากน้อยเพียงใด แต่มองว่าความเสียหายดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่มาก ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้กลับมาเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการในพื้นที่สนามหลวงได้ตามปกติแล้ว
 
ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวว่า เรื่องการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการตรวจสอบพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ โดยเบื้องต้นพบผู้ที่เกี่ยวข้อง 16 คน ที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้มีการชุมนุม, การโฆษณาชักชวนคนมาร่วมการชุมนุม และปราศรัยบนเวที เข้าข่ายความผิดฐานร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนความผิดอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งคาดว่าเมื่อรวบรวมความผิดได้ชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะเริ่มออกหมายเรียกให้ผู้กระทำผิดมารับทราบข้อกล่าวหาได้
 
ส่วนกรณีที่มีการบุกรุกเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีการแจ้งความให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีการตั้งข้อสังเกตว่าก่อนหน้านี้สนามหลวงก็เคยถูกใช้เป็นสถานที่จัดการชุมนุมมาก่อนนั้น ขอชี้แจงว่าจนถึงขณะนี้ตำรวจยังไม่มีการพิจารณาดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกสถานที่แต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook