ผู้ใหญ่ในจังหวัดยื่นมือช่วย เด็กชายวัย 13 สั่งห้ามขายนมเปรี้ยวเลี้ยงครอบครัว ให้กลับไปเรียน
เด็กชายวัย 13 ขายนมเปรี้ยวเลี้ยงครอบครัว กลายเป็นข่าวดัง ล่าสุดผู้ใหญ่ในจังหวัดให้กลับไปเรียน แต่ตัวน้องอยากทำงานมากกว่า
จากกรณีเกิดกระแสข่าวหนุ่มน้อยวัย 13 ปี ที่มีน้องเป็นผู้พิการ จนต้องขอลาออกจากโรงเรียน ขณะกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 เพื่อออกมาทำงานรับจ้างเป็นพนักงานขายนมเปรี้ยวยี่ห้อดัง ในการหาเงินช่วยเลี้ยงดูน้องที่พิการ จนชาวเน็ตหลายรายต่างพากันสงสาร และพร้อมที่จะช่วยกันบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือ แต่ก็ยังมีกระแสอีกบางส่วน เกิดความดราม่าพาเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการเมืองและสวัสดิการการศึกษาของประเทศไทย จนเกิดการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานานั้น
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว วันนี้ (22 ก.ย.63) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่บ้านเลขที่ 26 หมู่ 7 ต.บางม่วง อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นบ้านของ ด.ช.อนุวัฒน์ หรือ น้องอาร์ม อายุ 13 ปี หนุ่มน้อยผู้ขายนมเปรี้ยวยี่ห้อดังที่ปรากฏเป็นข่าว แต่กลับไม่พบเจอกับเจ้าตัวแต่อย่างใด เนื่องจากน้องอาร์มได้ออกไปตระเวนขายนมเปรี้ยวกับ น.ส.สายฝน อายุ 31 ปี เพื่อนบ้านที่เป็นสาวขายนมเปรี้ยวตั้งแต่เช้าแล้ว จึงพบแต่ น.ส.แอด อายุ 59 ปี ผู้เป็นยาย กำลังดูแล ด.ญ.เปรี้ยว น้องสาวของน้องอาร์มวัย 10 ปี ซึ่งเป็นผู้พิการขาลีบ เดินและพูดไม่ได้อยู่ภายในบ้านเพียง 2 คนเท่านั้น
จากการสอบถาม น.ส.แอด เล่าว่า พ่อแม่ของน้องอาร์มได้เลิกราและแยกทางกันไปนานหลายปีแล้ว และก็ไม่รู้ว่าขณะนี้พ่อของน้องอาร์มไปอยู่ที่ไหน ส่วนแม่ของน้องอาร์มไปทำงานอยู่ในกรุงเทพ และนานๆ จะกลับเยี่ยมลูกสักครั้งหนึ่ง ขณะที่ตัวของน้องอาร์มนั้น เป็นคนเงียบขรึมพูดน้อย และเพิ่งเรียนจบชั้น ป.6 แต่ไม่เรียนต่อ ก็อยู่ที่บ้านช่วยเลี้ยงน้องสาว แต่ก็ออกไปเที่ยวเล่นบ้างตามประสาเด็กๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง ไปพบเจอกับ น.ส.สายฝน เพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงที่รู้จักกัน และทำงานเป็นสาวขายนมเปรี้ยวยี่ห้อดัง มาชักชวนให้ไปขายนมเปรี้ยวด้วยกัน น้องอาร์มจึงตัดสินใจไปทำงานด้วย เพราะน้องอาร์มบอกว่า เห็นยายไม่มีรายได้อะไร จึงขอไปทำงานหาเงินช่วยเหลือยายและน้องชายดีกว่าอยู่ว่างไปวันๆ
“ฉันก็ไม่ค่อยรู้เรื่องรายได้ของหลานมากนักนะ แต่ในแต่ละวันหลานก็จะเอาเงินมาให้ชั้นเก็บไว้วันละ 200-300 บาท เพื่อนำมาให้ไว้ใช้จ่ายภายในบ้าน ทั้งค่าเลี้ยงดูหลายอีกคน ค่าอาหาร และค่าอื่นๆ อีกจิปาถะ ซึ่งทุกวันนี้ ที่มีเงินไว้ใช้จ่ายก็มาจากหลานอาร์มเพียงคนเดียวเท่านั้น ส่วนแม่ของหลานอาร์มไม่เคยส่งเสียเงินมาให้เลย” น.ส.แอด ระบุ พร้อมกับบอกสิ่งที่ต้องการว่า อยากได้ความช่วยเหลือในเรื่องผ้าอ้อมสำเร็จรูปของหลานคนเล็กมากที่สุด
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ติดต่อไปทาง น.ส.สายฝน สาวขายนมเปรี้ยวยี่ห้อดัง ผู้ซึ่งว่าจ้างน้องอาร์มให้ไปช่วยขายของ เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับน้องอาร์ม ได้รับการเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ เห็นน้องอาร์มเดินเตร็ดเตร่ไปมาอยู่แถวบ้าน และทราบว่าน้องไม่เรียนต่อ จึงได้ตัดสินใจชวนน้องอาร์มให้มาขายนมเปรี้ยวด้วยกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ ตนก็เพิ่งตกงานมา เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด จึงได้ตัดสินใจไปสมัครงานเป็นคนขายนมเปรี้ยวยี่ห้อหนึ่ง และเขาก็เพิ่งรับให้ทำงานเป็นคนขายเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนน้องอาร์ม ก็เพิ่งมาช่วยตนขายได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ที่มีน้องอาร์มมาช่วยขาย กลับทำให้ยอดขายของตนดีขึ้นอย่างมาก ต้องยอมรับว่า น้องอาร์มผิดจากที่เห็นในตอนแรก ดูคล้ายเป็นคนดื้อเงียบ แต่พอมาอยู่ช่วยขายของกับตน น้องอาร์มกลับกลายเป็นคนขยัน จะมาช่วยตนขายของทุกวัน
“ทุกวันนี้ หนูมีหน้าที่รับผิดชอบขายนมเปรี้ยวอยู่ในเขตพื้นที่ อ.ท่าตะโก ซึ่งจะต้องพาน้องอาร์มเดินทางด้วยมอเตอร์พ่วงข้างด้วยตู้แช่เย็นเดินทางไปที่ อ.ท่าตะโกทุกวัน ไปกลับรวม 100 กิโลเมตรทุกวัน ซึ่งตลอดระยะทาง ก็จะมีการแวะขายตามบ้านเรือนไปตลอดทางไปกลับด้วย ส่วนค่าจ้างที่หนูให้น้องอาร์มนั้น หนูจะมีการแพ็คขายนมเปรี้ยวเป็นถุงๆ ละ 16 ขวด จะขายถุงละ 100 บาท ให้น้องอาร์มไปเดินขายตามสำนักงานส่วนราชการต่างๆ และตามตลาดในเขตพื้นที่ อ.ท่าตะโก เมื่อขายได้ จะหักกำไรจากการขายให้น้องอาร์มถุงละ 20 บาท ซึ่งก็มีค่าจ้างรายวันที่หนูต้องให้น้องอาร์มด้วยอีกวันละ 200 บาท บอกเลยว่า เวลาน้องอาร์มไปเดินขายของ น้องอาร์มจะขายดีมาก มีรายได้จากการขายตกวันละ 400-500 บาทเลยทีเดียว” น.ส.สายฝน กล่าว
เมื่อถามถึงอนาคตของน้องอาร์ม น.ส.สายฝน บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เคยพูดคุยและถามน้องอาร์มหลายครั้งแล้วเรื่องเรียนต่อ ตนถึงขนาดจะช่วยส่งให้น้องอาร์มเรียนต่อในระดับมัธยมโรงเรียน กศน.ด้วยซ้ำ แต่น้องอาร์มกลับปฏิเสธไม่อยากจะเรียนต่อแต่อย่างใด จึงไม่รู้ว่าต่อไปอนาคตของน้องจะเป็นอย่างไร แต่ปัจจุบันนี้น้องอาร์มมาช่วยตนขายของ ตนก็จะดูแลน้องให้ดีที่สุด
ต่อมามีรายงานว่า นางประภาวดี สิงหวิชัย นายกเหล่ากาชาด จ.นครสวรรค์ ได้รับการประสานจาก นายกฤษฎา บุญราช ผอ.สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด จึงได้มีการร่วมกับตัวแทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บ้านเด็กและเยาวชน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรม และตัวแทนดัชมิลล์ ได้นำเงินและเครื่องอุปโภคในเบื้องต้น ไปเยี่ยมเยียนที่บ้านของน้องอาร์ม แต่เมื่อทราบว่า น้องอาร์มได้ไปขายของกับ น.ส.สายฝนแต่เช้า จึงได้โทรศัพท์ติดต่อกับนางสายฝนให้พาน้องอาร์มมาพบกัน ณ ที่ว่าการ อบต.บางม่วง โดยทันทีที่น้องอาร์มและ น.ส.สายฝนมาถึง ได้พาเชิญตัวขึ้นไปที่ห้องบนชั้น 2 ของ อบต.ทันที โดยไม่ให้นักข่าวเข้าร่วมสังเกตการณ์แต่อย่างใด
ก่อนจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงลงมาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในการพูดคุยหารือกับหลายหน่วยงาน สรุปจะให้น้องอาร์มได้เรียนหนังสือต่อในระดับมัธยม ในโรงเรียน กศน.นครสวรรค์ โดยวันนี้ให้น้องอาร์มกลับไปเตรียมเอกสารเพื่อเรียนต่อแล้ว และสั่งห้ามไม่ให้ออกไปทำงานขายของอีก ส่วนน้องสาวของน้องอาร์มที่พิการ ทางสภากาชาดไทยจะมีการให้ความช่วยเหลือเรื่องการรักษาโดยจะมีการทำเรื่องเพื่อส่งน้องสาวของน้องอาร์มไปรักษายังกรุงเทพต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่น้องอาร์มถูกสั่งไม่ให้กลับไปขายของอีกแล้ว ปรากฏว่า น้องอาร์มรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ และใจยังคงอยากจะกลับไปขายของตามเดิมอยู่ เพราะอยากมีรายได้เลี้ยงยายและน้อง ซึ่งในขณะเดียวกัน เมื่อเพื่อนบ้านทราบข่าวเรื่องน้องอาร์ม ก็ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ รู้สึกไม่เห็นด้วย และให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่น้องอาร์มหยุดเรียน ก็ได้ไปทำงานรับจ้างบรรจุหน่อไม้ดองใส่ปี๊บได้เงินค่าจ้างแค่วันละ 50 บาท ทำให้มีเงินไม่เพียงพอ ก็ต้องไปเดินตระเวนขอเศษเงินจากชาวบ้านที่ผ่านไปมาอย่างเวทนา และเมื่อมาทราบว่าน้องอาร์มไม่สามารถกลับไปทำงานได้อีก เพราะต้องกลับไปเรียน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องดี แต่ก็รู้สึกเป็นห่วงครอบครัวนี้ จะมีรายได้จากตรงไหน เพราะยายของน้องอาร์มก็อายุมากแล้ว ไม่สามารถทำงานหนักได้ แถมยังต้องมีหน้าที่เลี้ยงดูหลานที่พิการอีก จึงอยากให้หน่วยงานส่วนราชการดูแลสวัสดิการความเป็นอยู่ครอบครัวน้องอาร์มให้มีความเป็นอยู่มากขึ้นกว่านี้ หากเปรียบเทียบกับเงิน 3,000 บาท ที่มาช่วยเหลือในเบื้องต้น น้องอาร์มยังสามารถทำงานหาเงินมาเลี้ยงยายและน้องได้มากกว่านี้อีก