"น้ำปู๋" ของดีภาคเหนือ ตรวจพบปนเปื้อน "พาราควอต" 8 ใน 24 ตัวอย่าง

"น้ำปู๋" ของดีภาคเหนือ ตรวจพบปนเปื้อน "พาราควอต" 8 ใน 24 ตัวอย่าง

"น้ำปู๋" ของดีภาคเหนือ ตรวจพบปนเปื้อน "พาราควอต" 8 ใน 24 ตัวอย่าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลการสุ่มตรวจ น้ำปู๋ หรือ น้ำปู เครื่องปรุงรสภาคเหนือ พบ 8 จาก 24 ตัวอย่าง ปนเปื้อนพาราควอต ทั้งที่ยกเลิกใช้ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 พร้อมเดินหน้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้แบนสารอันตรายออกจากประเทศ

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลการตรวจวิเคราะห์ น้ำปู หรือน้ำปู๋ อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ พบมีสารพาราควอตตกค้างใน 8 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 24 ตัวอย่าง คิดเป็น 33% หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจทั้งหมดใน 6 จังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา, เชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, ลำพูน, และแพร่ ซึ่งทำการเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 7-15 ก.ย. 2563 และส่งตรวจในห้องปฏิบัติการมาตรฐาน โดยตัวอย่างทั้งหมดมีค่าเฉลี่ยของสารตกค้างพาราควอต อยู่ที่ 0.04275 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

ตัวอย่างน้ำปูที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่

1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.090 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.074 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

3.น้ำปู เก็บตัวอย่างจาก ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบปริมาณพาราควอต 0.046 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.042 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.040 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบปริมาณพาราควอต 0.031 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก อ.ปง จ.พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.011 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

8.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.006 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

โดยสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ เปิดเผยว่า แม้ผลตรวจวิเคราะห์จะพบสารพาราควอตปริมาณไม่มาก แต่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย สันนิษฐานว่าปูนาที่เก็บมาจากท้องนามีการปนเปื้อนพาราควอต แม้ไทยจะมีการห้ามนำเข้า ห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย สารดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 แต่ก็ยังมีสารพาราควอตตกค้างในสิ่งแวดล้อมและอาหาร ไม่สอดคล้องกับที่กระทรวงเกษตรฯ นำข้อมูลของ "ฉลาดซื้อ" ไปอ้างว่าไม่พบพาราควอตในปูนา และใช้เป็นเหตุผลในการพิจารณาให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอต ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 28 ก.ย.นี้

เนื่องจากข้อเท็จจริง ข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อที่ถูกนำไปกล่าวอ้าง เป็นการสุ่มตรวจปูนาเลี้ยงดองเค็ม ที่ใช้ในการทำส้มตำในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลเท่านั้น พร้อมย้ำพาราควอตเป็นสารเคมีที่มีพิษเฉียบพลัน และมีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ

หลังจากนี้ทางเครือข่ายผู้บริโภคจะไปยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันให้แบนสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ตัวข้างต้น ออกจากประเทศไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook