“รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์” ศิลปะที่งดงามคือการได้ตั้งคำถาม
“เป็นเด็กเป็นเล็ก ไม่ต้องรู้เรื่องของผู้ใหญ่หรอก” นี่คงเป็นคำพูดที่ใครหลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะในฐานะผู้พูดหรือในฐานะผู้ฟัง จนดูคล้ายกับว่า “เรื่องของผู้ใหญ่” กลายเป็นเรื่องต้องห้าม ที่เด็กไม่สามารถตั้งข้อสงสัยกับประเด็นอ่อนไหวที่ผู้ใหญ่ลงความเห็นว่า “ไม่ใช่เรื่องของเด็ก” ได้เลย และเมื่อไรก็ตามที่เด็กลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับเรื่องเหล่านี้ พวกเขาก็ต้องเผชิญกับการถูกคุกคาม การข่มขู่ และความรุนแรง จนเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ แทบจะไร้โอกาสได้งอกงามอย่างที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุนี้ “คุณรวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์” จึงได้ก่อตั้งพื้นที่ออนไลน์ ชื่อ “หิ่งห้อยน้อย” ขึ้น เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการสื่อสารเรื่องอ่อนไหวของเด็กและเยาวชน ผ่านงานศิลปะที่เธอเชื่อว่าไม่ได้ทำร้ายใคร และการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ตั้งคำถามจะเปลี่ยนแปลงสังคมของเราได้ในระยะยาว
กำเนิด “หิ่งห้อยน้อย”
“เด็ก” มนุษย์ตัวเล็กที่มีความซับซ้อนเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ พวกเขามักมีข้อสงสัยและต้องการคำตอบต่อสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ เช่นเดียวกับคุณรวงทัพพ์ ในวัย 12 ปี ที่สูญเสียคุณพ่อไปอย่างไม่มีวันกลับ และต้องย้ายออกจากบ้านอย่างกะทันหัน โดยไม่มีการพูดคุยทำความเข้าใจ บวกกับความรู้สึกกลัวเมื่อมีคนมาตามจีบคุณแม่ และความรู้สึกไม่เชื่อมโยงกับบ้าน คำถามเกี่ยวกับชีวิตที่อัดแน่นอยู่ภายในใจและไม่มีคำตอบให้กับข้อสงสัยเหล่านั้น ทำให้เธอก้าวเข้าสู่โลกแห่งหนังสือ และความใฝ่ฝันเดียวหลังจากนั้นก็คือการเป็น “นักเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็ก”
“การที่เราอยู่กับแม่ และแม่เป็นผู้หญิงในสังคมแบบนี้ มันลำบากนะ ต้องเลี้ยงลูกสองคน แล้วไหนจะมีเรื่องของอำนาจในสังคม แล้วช่วงนั้นก็กำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เราก็ชอบเพื่อนห้องอื่น ซึ่งมันไม่ใช่ความใกล้ชิดที่เห็นหน้ากันทุกวัน แต่เราก็ชอบเขา ก็เลยเริ่มสงสัยเรื่องความตายของพ่อ การที่เราชอบเพื่อน แล้วเราก็ตั้งคำถามกับมัน เราจึงตัดสินใจว่า โอเค ฉันอยากเป็นนักเขียนที่ทำหนังสือสำหรับเด็ก”
หลังจากได้เข้าเรียนในคณะที่ตั้งใจ คุณรวงทัพพ์จึงได้เข้าใจว่า เด็กมีความซับซ้อนและ “ไม่ใช่ผ้าขาว” แต่เป็นผ้าที่พร้อมจะเปรอะเปื้อนไปเรื่อย ๆ และเมื่อเข้าสู่ชีวิตการทำงาน การพูดคุยกับเด็กจึงทำให้เธอมองเห็นความซับซ้อนของโครงสร้างสังคม ส่งผลให้เธอเริ่มสนใจประเด็น “อำนาจทับซ้อน (Intersectionality)” หรือโครงสร้างสังคมที่ทำให้คนมีความไม่เท่าเทียมกัน จากนั้น “หิ่งห้อยน้อย” ก็ถือกำเนิดขึ้น คุณรวงทัพพ์เล่าว่า ในฐานะคนทำหนังสือเด็ก เธอรู้ดีว่าสื่อหนังสือคงอยู่กับเด็กไม่ได้แล้ว ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเลือกแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะเข้าถึงเด็กได้มากกว่าเดิม และเลือกทำเป็นรูปแบบงานศิลปะ เช่นงานเพลง และแอนิเมชัน เพื่อสื่อสารประเด็นอ่อนไหวที่เด็ก ๆ ไม่ค่อยมีโอกาสได้ซักถาม
“หิ่งห้อยน้อยทำงานในประเด็นที่อ่อนไหว ประเด็นที่สังคมไม่พูดถึงอย่างเปิดเผย หรือให้ข้อมูลเด็กอย่างเปิดเผย หรือพูดออกไปแล้วก็จะมีผลต่อคำถาม ความคิด หรือการกระทำของเรา อย่างเช่น เรื่องเพศ เพศสถานะ ความหลากหลายทางเพศ หรือล่าสุดก็เรื่องประชาธิปไตย การที่เราเผชิญกับปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ก็เป็นรากของประเด็นอ่อนไหวเหล่านี้” คุณรวงทัพพ์อธิบาย
ARTIVIST: คนที่ ACT ด้วย ART
“Artivist คือคนที่ act (แสดงออก) ด้วย art (ศิลปะ) พอพูดมาแล้วมันใช่เลย มันเป็นคำที่ให้เราไปอยู่ในนั้นได้ บางครั้งเราไม่ได้แสดงออกเร็วเหมือนนักกิจกรรม เพราะงานศิลปะมันต้องใช้เวลา เราทำกิจกรรมผ่านศิลปะทั้งหมด แล้ว artivist ในไทยก็มีหลายคน อย่างที่เราจะเห็นในที่ชุมนุม” คุณรวงทัพพ์เล่า
เมื่อถามถึงสาเหตุที่คุณรวงทัพพ์เลือกใช้งานศิลปะในการทำกิจกรรม เธอชี้ว่า ศิลปะเป็นภาษาสากล ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าใจศิลปะได้ ถ้าเขาเหล่านั้นมีความรู้สึกร่วม หรือเป็นประเด็นที่พวกเขารู้สึกว่ามันเชื่อมโยงกับชีวิตของเขา และสำหรับคุณรวงทัพพ์แล้ว ศิลปะทำง่ายกว่าการออกนโยบาย เพราะเมื่อใดก็ตามที่งานศิลปะไปกระทบใจคนดูงาน และพวกเขารู้สึกอยากแสดงออกหรือแสดงความรู้สึกที่อยู่ภายในใจ นั่นเป็นประโยชน์ของงานศิลปะที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ย้อนกลับไปในการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา คุณรวงทัพพ์ก็ได้ใช้งานศิลปะเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และเรียกกิจกรรมนี้ว่า “จิ๋มภาวนา” ซึ่งคุณรวงทัพพ์ได้วาดรูปอวัยวะเพศหญิงหรือ “จิ๋ม” มากกว่า 100 รูป และทำพิธีบูชาจิ๋ม โดยเธออธิบายว่า เพราะจิ๋มเป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่างของโลกใบนี้ เธอจึงอยากเสริมพลังให้กับการต่อสู้กับโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมและการเคลื่อนไหวของคนชายขอบที่ถูกกดทับอยู่
“เราไปกระทุ้งความคิด เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลง เราอาจจะไม่ได้บอกว่าจะเกิดอะไรกับชีวิตในอีกสามเดือน หรือห้าเดือนข้างหน้า แต่เราเขย่าความคิดซึ่งมันจะเปลี่ยนในระยะยาวได้ คืออาจจะค่อย ๆ เปลี่ยนฐานความคิดเรื่องผู้หญิง เรื่องเพศ เรื่องเพศสถานะ เรื่องอำนาจได้ แต่เราค่อนข้างแยบยลตรงที่เราคิดเยอะหน่อย และไม่อยากสร้างความรุนแรงอะไรเพิ่ม”
นอกจากงานศิลปะเชิงสัญลักษณ์ คุณรวงทัพพ์ยังทำงานขับเคลื่อนประเด็นเรื่อง “ผ้าอนามัย” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการไปเรียนที่ประเทศอินเดีย ที่มีปัญหาเรื่องผ้าอนามัยราคาแพง ทำให้เธอมองเห็นการกดทับเชิงโครงสร้างรัฐสวัสดิการที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศอินเดียและประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนมาก โดยคุณรวงทัพพ์ยกตัวอย่างเมื่อครั้งที่เธอลงพื้นที่สำรวจรอบสนามหลวงในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และพบว่าปัญหาผ้าอนามัยเชื่อมโยงกับเรื่องปากท้องมากกว่าที่เราคิด กล่าวคือ เมื่อเป็นประจำเดือน ผู้หญิงต้องมีผ้าอนามัย จึงจะออกไปรับแจกอาหารได้ หรือกลุ่มคนทำงานบริการทางเพศ ที่ไม่สามารถหาเงินได้ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ การได้รับผ้าอนามัย 1 ห่อคือสิ่งสำคัญอย่างมาก แต่อุปสรรคสำคัญของการทำความเข้าใจเรื่องประจำเดือนและผ้าอนามัย ก็คือ “ทัศนคติ” ของคนในสังคมนั่นเอง
“มันยากที่จะถล่มกำแพงนี้ เราเคยไปให้ความรู้เรื่องนี้ในโรงเรียน แล้วเขาไม่โอเค มันยากมาก นอกเสียจากจะมีครูที่มีเลนส์เรื่องเพศ ก็เหมือนแม่ที่ส่งต่อเรื่องนี้มาจากยาย มันต้องมีคนหนึ่งที่รู้เรื่องนี้มาในระดับหนึ่ง ซึ่งนั่นแหละคือปัญหา เราก็เลยไปทางศิลปะ เพราะศิลปะเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก ถ้าเขากับเราเจอสิ่งเดียวกัน แล้วเราเข้าใจร่วมกันในความรู้สึกนั้น เราว่ามันจะทลายกำแพงนั้นได้” คุณรวงทัพพ์กล่าว
การตั้งคำถามคืองานศิลปะ
แม้หิ่งห้อยน้อยจะใช้ศิลปะในการสื่อสารประเด็นอ่อนไหวกับเด็กและเยาวชน แต่อีกบทบาทหนึ่งของหิ่งห้อยน้อยคือการเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ให้เด็กได้ตั้งคำถาม โดยที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าไปกดทับ หรือใช้การบังคับควบคุม และให้เด็กได้หาคำตอบในประเด็นต่าง ๆ ด้วยตัวเขาเอง
“จริง ๆ เด็กมีความรู้สึกเบิกบาน พร้อมพรั่งอยู่ข้างในที่เขาแสดงออก เราว่ามันคือศิลปะที่จะได้ถาม ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ธรรมดามาก แต่เมื่อวันหนึ่ง เขาถูกบอกว่า คุยเรื่องนี้ไม่ได้ ไม่คุยในโรงเรียน มันก็เหมือนกับศิลปะนั้นไม่เบ่งบานแล้ว มันตายไปแล้ว เรากินข้าวในถาดหลุม ใส่ชุดเหมือนกัน ตัดผมเหมือนกัน จะเป็นศิลปะได้อย่างไร ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด ดังนั้น ถ้าเรามอง เราจะเห็นเลยว่าศิลปะได้ตายไปนานแล้ว” คุณรวงทัพพ์ชี้
และในช่วงเวลาที่เด็กนักเรียนลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับระบบการศึกษาและประชาธิปไตยของประเทศ คุณรวงทัพพ์ก็มองว่า นี่คือตัวอย่างของสังคมที่พยายามปิดปากเด็กไม่ให้ตั้งคำถาม เด็กนักเรียนมากมายถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ คุณครู และคนในสังคม ทั้งในโลกออฟไลน์และโลกออนไลน์ เด็กหลายคนได้รับ “หมายศาล” เพียงเพราะพวกเขาแสดงออกสิ่งที่ตัวเองเชื่อ จากเหตุการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า เด็กไม่มีพื้นที่ปลอดภัยที่จะได้พูดคุยในเรื่องที่พวกเขากำลังสงสัย และ “โรงเรียน” ซึ่งเป็นสถาบันที่ควรจะปลอดภัยมากที่สุด กลับเป็นพื้นที่อันตรายมากที่สุด นอกจากนี้ โครงสร้างที่ทุกคนต้องเคารพผู้อาวุโสก็กลายเป็นดาบสองคมที่กำลังทำร้ายเด็กไทยอย่างรุนแรง
“เด็กถูกคุกคามเยอะจนเรารู้สึกสะเทือนใจ สุดท้ายแล้ว สังคมที่ไม่เข้าใจเรื่องอำนาจก็ทำลายเด็ก แล้วชุดนักเรียนนี่แหละที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ใหญ่มาคุกคามเด็ก เรารู้สึกว่าถ้าหวังดีกับเด็ก เราต้องช่วยกันปกป้องเด็ก เราไม่ต้องเป็นพี่หรือเป็นผู้ใหญ่หรอก แต่เป็นเพื่อนที่อยู่กับเด็ก ถ้าเขาต้องการความช่วยเหลือ ผู้ใหญ่ต้องรออยู่ตรงนั้น คือเด็กยังต้องเรียนรู้อีกมากในการที่จะเติบโต ทั้งด้านการเรียนรู้ประชาธิปไตย หรือการบอกว่าผลประโยชน์ของเขาคืออะไร เด็กก็คือคน ๆ หนึ่งที่มีสิทธิ์อย่างเต็มที่ที่จะแสดงออก หรือคิดว่าตัวเองอยากได้ผลประโยชน์อย่างที่เขาต้องการ”
ทุกที่คือพื้นที่ของศิลปะ
เมื่อพูดถึงงานศิลปะ ความคิดแรกของใครหลาย ๆ คนคงเป็นงานศิลปะที่สวยวิจิตร แต่สำหรับคุณรวงทัพพ์เเล้ว เธอย้ำชัดว่างานศิลปะของเธอ เป็นศิลปะที่มุ่งเน้นเรื่องการสื่อสาร มากกว่าความสวยงามแบบวิจิตร และศิลปะของเธอต้อง “ลงไปอยู่บนถนนได้” และตราบใดที่ศิลปะนั้นสามารถจับใจคนดูได้ ถังขยะก็เป็นพื้นที่ของศิลปะได้เช่นกัน
“มันเป็นเรื่องของความคิดที่ว่า ศิลปะควรจะอยู่ที่ไหน หรือศิลปะควรจะเป็นอย่างไร เราว่ามันมีกรอบนั้นมาจำกัด มากกว่าเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก คือเราคิดว่ามันเป็นการกักขังทางความเชื่อ ความคิดมากกว่า แต่ในพื้นที่ของศิลปะแล้ว มันต้องอยู่ได้แม้แต่ในห้องน้ำ ศิลปะต้องอยู่ได้ทุกที่ ดังนั้น เราคิดว่าพื้นที่ของอิสระยังมีอยู่ แต่จะมีการเซ็นเซอร์ หรือการแบนเข้ามาจำกัดมากกว่า ซึ่งเราเองก็โดน ยิ่งทำงานกับเด็ก มันก็มีการแบนเกิดขึ้น เราจึงต้องทบทวนกับตัวเองว่า ในเมื่อมันมีสิทธิในการแสดงอยู่ แล้วทำไมเราถึงโดนปิดกั้น” คุณรวงทัพพ์ตอบเมื่อถูกถามเรื่องเสรีภาพของศิลปินในประเทศไทย
ทั้งนี้ เมื่องานศิลปะสามารถอยู่ได้ในทุกที่ สิ่งที่สังคมโดยรวมจะได้รับจากการทำงานของ Artivist ก็คือความตระหนักต่อปัญหาสังคมที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะปัญหาที่กลุ่มคนรุ่นใหม่กำลังเดินหน้าเรียกร้องแก้ไข เพื่ออนาคตที่ดีกว่าให้กับตัวเอง
“อย่างเช่นสติ๊กเกอร์ที่เราให้เด็กไปติดกระเป๋า คนที่มองเห็นก็คงเอ๊ะอ๋อบ้างว่ามันคืออะไร คือคนที่แสดงศิลปะบนร่างกาย หรือคนที่แสดงศิลปะอยู่ที่บ้าน มันเป็นการกระตุ้นเตือนว่าเขายังมีจิตสำนึกบางอย่างที่เขาอยากแสดงออก เขายืนยันในสิ่งนั้น เราว่าถ้ามีศิลปะที่เป็น artivist มากขึ้นในประเทศนี้ โดยที่ไม่ใช่งานศิลปะแบบวิจิตร เพื่อผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือยกย่องใครคนใดคนหนึ่ง มันก็น่าสนใจว่าประเทศจะเปลี่ยนรสนิยมของการเสพสื่อ และการทำความเข้าใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น” คุณรวงทัพพ์กล่าวปิดท้าย
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ