ธปท.ห่วงเสื้อแดงชุมนุมทำเบิกจ่ายสะดุด

ธปท.ห่วงเสื้อแดงชุมนุมทำเบิกจ่ายสะดุด

ธปท.ห่วงเสื้อแดงชุมนุมทำเบิกจ่ายสะดุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์ชาติยันไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ห่วงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง กระทบเบิกจ่ายงบสะดุด ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน 1 ปีวิกฤติเศรษฐกิจไทยเสียหาย 8 แสนล้าน

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดงานสัมมนาเชิงวิชาการประจำปีของ ธปท. หัวข้อ "รับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลก มองอนาคตเศรษฐกิจไทย" โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปนั้น แม้จะอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวแต่ก็ยังเปราะบาง เพราะยังต้องติดตามการฟื้นตัวของดัชนีวัดเศรษฐกิจบางตัวว่าจะมีความต่อเนื่องหรือไม่ โดยเฉพาะการจ้างงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากไทยต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดโลก และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศเป็นสำคัญ

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ประกอบกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้น แต่ถ้าเทียบกับดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงถือว่าเกาะกลุ่มทิศทางเดียวกันกับภูมิภาค และ ธปท.ก็ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการใหม่เข้ามาควบคุมเงินไหลเข้าออก เพราะยังไม่เห็นสัญญาณการไหลเข้าของเงินทุนว่ามาเก็งกำไร

โดยเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ไม่ได้มีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อ และเห็นว่าในระยะสั้นยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดย ธปท.มองว่าดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปล่อยสินเชื่อแต่อย่างใด

นางธาริษา กล่าวถึงการนัดชุมนุมในวันที่ 19 กันยายนนี้ ว่า หากเกิดความรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแง่ของความมีเสถียรภาพการทำงานของรัฐบาลให้ลดลง เพราะขณะนี้การเบิกจ่ายของรัฐบาลเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถทดแทนการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ตามแผนที่วางไว้ โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพรายได้ให้มากขึ้น จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ด้านบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์ "วิกฤติเศรษฐกิจโลกกระทบไทย ... 1 ปี สูญมูลค่าเศรษฐกิจ 8 แสนล้านบาท" โดยประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยของไทยในรอบนี้ พบว่า ตลอดช่วงเวลา 1 ปีมานี้ ไทยสูญเสียโอกาสของการเติบโตทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 8 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลที่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เข้ามากระทบ ขณะที่ส่วนที่มีน้ำหนักรองลงมาคือผลกระทบจากปัจจัยทางการเมือง ส่วนผลกระทบอื่นๆ มาจากเหตุการณ์ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และปริมาณพืชผลทางการเกษตรลดลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook