อราบาด้า ยอดหญิงริมฝั่งโขง

อราบาด้า ยอดหญิงริมฝั่งโขง

อราบาด้า ยอดหญิงริมฝั่งโขง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : สุมาลี โพธิ์พยัคฆ์

แม้ไม่ใช่ ชายจริง หรือ หญิงแท้ แต่พวกเธอก็รู้จักนำส่วนผสมทั้งสองเพศที่มีอยู่ตัว ทำเรื่องดีๆ ให้สังคม ..ชนิดที่ ผม และ ดิฉัน ก็สู้ไม่ได้

ภาพหญิงสาวผมยาว นุ่งสั้น ใส่เสื้อโปโลรัดรูป แต่งหน้าตาพองาม ที่กำลังเดินเสิร์ฟน้ำแขกเหรื่อที่มาร่วมงานประชุมครั้งนี้ ทำเอาหลายคนยิ้มกริ่ม โดยเฉพาะบรรดาหนุ่มๆ ที่มองตาไม่กะพริบ อาจเป็นเพราะกระโปรงที่สั้นเหนือเข่า หรือ สัดส่วนอันโค้งเว้าอย่างชัดเจน รวมไปถึงหน้าตาที่คมคาย จมูกโด่งเป็นสัน สอดรับกับผมยาวสลวย

แต่ถ้าเดินเข้าไปใกล้ และได้พูดคุยกับพวกเธอ หลายคนอาจตกใจและอุทานออกมาคล้ายๆ กันว่า

"อ้าว...ไม่ใช่ผู้หญิงหรอกเหรอ"

ประโยคที่หลุดออกมา ไม่ได้สร้างความขุ่นเคืองให้พวกเธอแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำ กลับฉีกรอยยิ้มกว้าง พร้อมเสียงที่ตอบกลับมาว่า

"ดีใจจัง ที่หนูเหมือนผู้หญิงจนแยกไม่ออก"

ขอแนะนำให้รู้จัก กลุ่ม "ฟ้าสางที่ริมโขง" หรือ "อราบาด้า" กลุ่ม สาวประเภทสองกว่าสิบชีวิต ที่รวมตัวกัน ณ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ที่ทุกวันนี้ไปไหนมาไหนคนในพื้นที่ หรือ คนนอกพื้นที่รู้จักพวกเธอเป็นอย่างดี เพราะบทบาทหน้าที่ที่ต้องเข้าถึงชุมชน เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เอชไอวี ยิ่งทำให้พวกเธอได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น

เอดส์ไม่กลัว กลัวอด

กลุ่มฟ้าสางที่ริมโขง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 นับอายุมาถึง พ.ศ.นี้ก็ได้ 1 ปีแล้ว และกลุ่มของเธอยังไม่รู้ว่าจะได้ทำงานต่อหรือไม่ เนื่องจากเงินทุนสนับสนุนที่ได้จากองค์การแชร์ ประเทศไทย กำลังจะหมดลงในปลายปีนี้ แต่พวกเธอบอกว่า ไม่ท้อใจ หากไม่มีเงินสนับสนุนก็จะรวมตัวกันทำงานต่อไป และอาจจะเขียนโครงการเพื่อยื่นขอเงินสนับสนุนจากองค์กรที่สนใจ และเห็นความสำคัญของพวกเธอ

โดยเฉพาะการที่จะต้องเดินเข้าไปหากลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นกลุ่มรักร่วมเพศ หรือ กลุ่ม MSM (Man have sex with men) ที่มีผลงานวิจัยยืนยันว่ากลุ่มนี้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีไม่แพ้กลุ่ม อื่นๆ

"หนูเริ่มทำงานเมื่อปี 51 ที่ผ่านมา ตอนแรกก็ไม่กล้าเข้ามารวมกลุ่มหรอก แต่พอได้รับรู้ข้อมูลจาก 'พี่เชอรี่' เจ้าหน้าที่องค์กรแชร์ ที่ไปตั้งสำนักงานอยู่ที่ อ.เขมราฐ ทำให้อยากเข้ามา เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มหนูก็เดินไปเดินมา บางคนชอบ บางคนก็เกลียด แต่ถ้าหากเรามาทำประโยชน์เพื่อสังคมเลยจะดีกว่า อาจจะทำให้คนที่เคยเกลียดเรา หันมารักเราและสนใจเรามากขึ้น" น้องเป้ย หรือนายตรีชฎา บำเพ็ญ วัย 25 ปี หนึ่งในสมาชิก เล่าให้ฟัง

เธอยังบอกต่อว่า หน้าที่หลักของพวกเธอคือการเข้าไปให้ข้อมูลกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ทั้งชายและหญิง รวมไปถึงเป้าหมายหลักคือ กลุ่มรักร่วมเพศ โดยการเดินเข้าไปพูดคุยนั้นจะเน้นความเป็นกันเอง ชวนคุยไปเรื่อยๆ ก่อนจะวกเข้ามาเรื่องการป้องกันตัวเอง และการดูแลสุขภาพ โดยไม่ใช่การพูดเพื่อยัดเยียดข้อมูล แต่จะพูดเพื่อให้ผู้รับข้อมูลรู้สึกอยากจะร่วมมือจริงๆ ซึ่งที่ผ่านมาผลตอบรับค่อนข้างดี โดยเฉพาะเด็กนักเรียนในโรงเรียนรวมไปถึงวัยรุ่นในหมู่บ้าน

"อำเภอเขมราฐเป็นอำเภอริมฝั่งแม่น้ำโขง มีปัญหาเรื่องเอดส์ค่อนข้างเยอะ เพราะติดกับประเทศเพื่อนบ้าน มีวงจรของการติดเชื้อแบบชัดเจนมาก ทั้งการมีกิ๊ก การขายบริการทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นตั้งแต่อายุยังน้อย อายุแค่ 11-12 ปีก็รู้จักการมีเพศสัมพันธ์แล้ว และเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่อยากรู้อยากลอง โดยไม่ได้สนใจการป้องกัน เพราะอาย และไม่มีใครให้ความรู้ แต่ถ้าพวกหนูเข้าไปพูด ไปคุย และพูดแบบตรงๆ บ้างคนเขาก็กล้า และอยากจะป้องกันตัวมากขึ้น และเวลามาขอถุงยางอนามัย เชื่อไหมคนที่มาขอคือผู้หญิงนะ ไม่ใช่ผู้ชาย เด็กวัยรุ่นหญิงจะรู้จักป้องกันตนเองมากกว่าพวกผู้ชาย เพราะพวกผู้ชายไม่กลัวหรอกเอดส์ กลัวแต่อด"เป้ย ย้ำถึงการงานที่เธอทำ

ต้อง "สวย" เรียกแขก

ขณะที่เพื่อนร่วมงานอีกคน ซึ่งเป็นสาวสวยระดับนางงามเดินสายอย่างน้องเชอรี่ หรือ นายมนัสนันท์ ศรีมันตะ วัย 22 ปี ก็มีประสบการณ์มาร่วมแลกเปลี่ยน

"เวลาหนูไปทำงาน มีเหมือนกันนะที่มาขอเบอร์ ขอนอนกับหนูตรงๆ เลยก็มี แต่หนูก็บอกว่าไม่ได้ เพราะหนูทำงาน หนูไม่ได้สนใจเรื่องแบบนั้น อาจจะเป็นเพราะเขาเห็นหน้าตาหนูเป็นแบบนี้ คิดว่าจะง่าย ซึ่งเรื่องแบบนี้ หนูก็ต้องสร้างความเข้าใจกับเขาเหมือนกัน เพราะพวกหนูทุกคนทำงานด้วยใจ และร่วมฝ่าฟันมาด้วยกัน 1 ปีที่พวกเราได้ทำงานร่วมกัน มันทำให้พวกหนูมีค่าขึ้นมา หลังจากก่อนหน้านี้สังคมเคยรังเกียจ ว่าเป็นพวกสับสนทางเพศ ไม่รู้จักทางของตนเอง สร้างปัญหาให้สังคม สารพัดที่เขาจะว่า

แต่พอพวกหนูมาทำงานแบบนี้ ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่ามากขึ้น และ ทำให้คนที่เป็นเหมือนพวกหนู ติดต่อขอมาทำงานด้วยเยอะ ทำให้เราขยายเครือข่ายออกไปได้มาก ทั้งอำเภอเขมราฐ และ อำเภอใกล้เคียง ทุกวันนี้ไปไหนสนุก โดยเฉพาะเวลาได้ไปร่วมออกงานในตำบล หรือ อำเภอ ซึ่งพวกหนูเรียกว่า ไปออกแสง หรือ อราบาด้า"น้องเชอรี่บอก พร้อมยิ้มสวย และอธิบายว่าชื่อกลุ่ม "อราบาด้า" หมายถึงการแสดงออกแบบโอเวอร์แอ็คชั่น

"ตอนนี้เราไปไหน เหมือนเป็นดาราย่อมๆ เลย เพราะมีคนสนใจเยอะ เราไปอย่างเต็มที่ ทั้งแต่งหน้า ทาปาก ทำผม เรียกว่าต้องสวยไว้ก่อนถึงจะทำงานได้ และยิ่งเราทำตัวสวย คนก็สนใจ เวลาให้ข้อมูลอะไรเขาก็อยากฟัง เรียกว่าใช้ความสวยเรียกแขก" น้องเชอรี่ ดาวเด่นของกลุ่มบอก ก่อนจะโพสท่าเหมือนนางแบบมืออาชีพเพื่อให้ถ่ายภาพ

ในขณะที่ประธานกลุ่มอย่าง ทวี อรชร วัย 41 ปี ที่อาจจะเสียเปรียบรุ่นน้องเรื่องความสวยและสรีระไปบ้าง แต่เขา(เธอ) ก็บอกว่า "ถึงตัวจะเป็นชาย แต่ใจเป็นหญิง" เพื่อตอกย้ำว่า หน้าไม่ให้แต่ใจรักเกินร้อย

"เราเป็นเพศที่ 3 เป็นเพศที่เคยถูกกดทับ และถูกกดขี่เอาไว้มานาน คนไม่เข้าใจก็มองพวกเราเป็นขยะ ก่อนหน้านี้เคยมีน้องในกลุ่มคนหนึ่งสวยมาก ไปประกวดนางงามสาวประเภท 2 ได้ที่ 1 แต่พ่อแม่ไม่เข้าใจ เพราะลูกไม่เคยแสดงออก ทำให้เขาคิดสั้น ผูกคอตาย ทั้งที่อายุเพิ่งจะ 18 ปี แต่ทุกวันนี้กลุ่มของเราสามารถสร้างความเข้าใจกับสังคมได้มากขึ้น สังคมยอมรับมากขึ้น ส่งผลให้คนเหมือนพวกเรากล้าแสดงออกมากขึ้น มีที่ปรึกษา พูดคุย แนะนำกัน ทำให้พวกเขาไม่เครียดและออกจากมุมมืดมาอยู่ที่สว่างมากขึ้น"ประธานกลุ่มเล่า ถึงพลังของเพศที่ 3

พร้อมกับบอกว่า สำหรับเธอแล้ว แม้จะเกิดมาไม่สวย สู้น้องๆ ไม่ได้แต่ก็อยากจะเป็นกระเทยไปตลอดชีวิต เพราะชีวิตแบบนี้มีความสุขมาก

ส่วนชื่อกลุ่มที่เรียกว่า "ฟ้าสางที่ริมโขง"นั้น ทวีบอกว่ามี 2 ความหมาย

"ฟ้าสาง หมายถึงพวกเราได้เห็นความสำเร็จความสดใส หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถูกกดทับเรื่องเพศมานาน และอีกความหมายหนึ่ง "ฟ้าสาง" หมายถึง เราทำงานอย่างหนักเพื่อสังคม จนฟ้าสางก็ยังไม่เลิกทำงาน"

เชอรี่อีกนาง ศิริวรรณ อาษาศรี เจ้าหน้าที่หญิงขององค์การแชร์ ประเทศไทย ที่เป็นศูนย์กลางการทำงานในพื้นที่ บอกว่า คนกลุ่มนี้มีพรสวรรค์ ในการนำเสนอ ให้ข้อมูล และสามารถเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนๆ เพราะพวกเขารวมทั้งสองเพศอยู่ในร่างเดียว ทำให้งานที่ทำอยู่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ บางงานที่ไปร่วมออกบู๊ท แนะนำ กลุ่มเป้าหมายให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ และรู้จักป้องกันตนเอง

"ที่ผ่านมาพวกเขาเหมือนเพศที่ 3 ที่ถูกสังคมกดทับ และ กดเอาไว้ ไม่ให้มีโอกาสได้แสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง พอมีการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำงานเพื่อสังคม ได้แสดงออก ปรากฎว่าเขาทำได้ดี เข้าได้กับทุกกลุ่ม สามารถทำงานได้ดีไม่แพ้ชายจริง หญิงแท้เลย และทำให้เขามองเห็นคุณค่าในตัวเอง แต่น่าเสียดายที่อีกไม่กี่เดือนพวกเขาก็จะหมดโอกาสแล้ว โครงการกำลังจะปิดตัวลงเพราะไม่มีเงินสนับสนุน" น้องเชอรี่บอก

.............................................

แต่ไม่ว่าจะมีชื่อของกลุ่ม "ฟ้าสางที่ริมโขง" อยู่หรือไม่ แต่อย่างน้อยสิ่งที่พวกเธอได้ทำร่วมกันเอาไว้ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เส้นแบ่งความเป็นเพศไม่มีผลต่อการทำโลกให้น่าอยู่

เหมือนฟ้าสาง ที่แม้จะหายไป แต่จะมาใหม่ในทุกๆ เช้าเสมอ

* รู้จัก "องค์การแชร์"

องค์การแชร์ (SHARE ) เป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานประสานความร่วมมือทั้งในและระหว่างประเทศเน้นการ ดูแลขั้นพื้นฐาน และการรักษาด้านการแพทย์ องค์การแชร์ ก่อตั้งในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2526 โดยความร่วมมือของแพทย์ พยาบาล และนักเรียน ผู้ซึ่งต้องการแบ่งปันความสุขและสุขภาพดีถ้วนหน้ากับมวลมนุษยชน

ปัจจุบันได้มีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่บริการจัดการจากญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินงานในประเทศไทย กัมพูชา ติมอร์ตะวันออก และแอฟริกาใต้ ซึ่งทางหน่วยงานได้พยายามปรับปรุงสถานการณ์ด้านสุขภาพในพื้นที่ดังกล่าวให้ ดีขึ้น โดยการการประสานงานกับคนในพื้นที่นั้น ๆ

ขอบเขตงานขององค์กรมีคร่าวๆ ดังนี้
@ การทำงานกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์
เพื่อ ผลักดัน และส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์มีความมั่นใจและมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ และเข้าถึงระบบบริการ การดูแลรักษาที่เหมาะสม จากโรงพยาบาลระดับอำเภอและผู้ติดเชื้อเข้าไปมีบทบาทในการป้องกันและแก้ไข ปัญหาเอดส์ร่วมกับชุมชน
@ การทำงานกับชุมชน
ชุมชนมีส่วนร่วมในการบูรณาการ การใช้ทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อการดูแลสุขภาพในการดำเนินงานป้องกัน และแก้ไขปัญหาเอดส์ในชุมชน
@ การทำงานกับกลุ่มแรงงานต่างชาติ
เพื่อ สร้างสิ่งที่แวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการทำงานของแรงงานต่างชาติ แรงงานมีความปลอดภัยจากการติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงคนไทยที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายแดน โดยอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
@ การทำงานกับกลุ่มชายรักชาย
เพื่อสร้างความตระหนักในการป้องกันการติดเชื้อ และส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูล เครื่องมือการป้องการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่ม

องค์การแชร์ ประเทศไทย (SHARE THAILAND ) เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2533 และได้ดำเนินกิจกรรมด้านสาธารณสุขมูลฐาน ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมา พ.ศ.2537 ได้เริ่มกิจกรรมด้านโรคเอดส์ เนื่องจากปัญหาด้านโรคเอดส์ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ในปัจจุบันการทำงานขององค์การแชร์ มีพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัด จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

(หมายเหตุ : ติดต่อหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ thai@share.org.jp)

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook