ผลวิจัยชี้รัฐบาลไทยสนใจไอที ลงทุนแตะพันล้านดอลล์ใน2ปี
สปริงบอร์ด รีเสิร์ช เดินสายโชว์ผลวิจัยลงทุนไอทีภาครัฐทั่วเอเชีย ชี้ ไทย เกาะกลุ่มลงทุนสูง คาดแตะ 1 พันล้านดอลลาร์ในอีก 2 ปี
นายไมเคิล บาร์นส์ รองประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัท สปริงบอร์ด รีเสิร์ช กล่าวในโอกาสเดินสายโรดโชว์ร่วมกับอินเทล และเอชพี เพื่อให้ข้อมูลการลงทุนไอทีของภาครัฐในเอเชียว่า ผลสำรวจการใช้จ่ายด้านไอทีในเอเชียแปซิฟิกพบว่า รัฐบาลไทยมีการลงทุนด้านไอทีในระดับสูง เมื่อเทียบกับประเทศที่มีจำนวนประชากร และเศรษฐกิจเท่าเทียมกัน เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยใช้จ่ายด้านไอทีถึง 755 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.6 หมื่นล้านบาท) และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2554 โดยสัดส่วน 1 ใน 3 หรือประมาณ 33% จะทุ่มไปที่ภาคการศึกษา
นอกจากนี้ รัฐบาลยังลงทุนไอทีในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมาคิดเป็นสัดส่วนราว 21% ของมูลค่าการลงทุนไอทีโดยรวมของประเทศ
" การลงทุนส่วนใหญ่ของไทยจะเน้นหนักเพื่อการศึกษา และการป้องกันประเทศ โดยมีสัดส่วนรวมกันถึง 47% ซึ่งคล้ายคลึงกับหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน แต่หากเทียบกับการลงทุนไอทีของ รัฐบาลประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ พบว่าจะให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านสาธารณสุข โดยสูงถึง 6% ของจีดีพี ขณะที่ไทยลงทุนแค่ 3.5% ของจีดีพี เพราะให้ความสำคัญกับการศึกษาทั่วถึงมากกว่า" นายบาร์นส์กล่าว
อย่างไรก็ตามเขาคาดการณ์ว่า ภาพรวมการลงทุนไอทีของไทยจะยังขยายตัวได้อีก 11-13% โดยคาดว่าจะยังเป็นการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์มากกว่า 60% ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนด้านบริการไอที และซอฟต์แวร์
ขณะ ที่ นายเจอร์รี่ วาย.ซี.ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ธุรกิจภาครัฐ กลุ่มโซลูชั่นส์เทคโนโลยีด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี โซลูชั่นส์ กรุ๊ป บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น กล่าวว่า เอชพี ยังคงยึดนโยบายเป็นผู้สนับสนุนโครงสร้างไอที โดยที่ผ่านมาได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบไอทีหลายโครงการกับประเทศไทยแล้ว เช่น ระบบซิงเกิล วินโดว์ส โปรเจค และการพัฒนาโซลูชั่นอี-กอฟเวอร์เมนท์
นอก จากนี้ ปัจจุบันบริษัทยังมีนโบายพัฒนาโซลูชั่นสำหรับการพัฒนาประเทศให้ครอบคลุมทุก ด้าน โดยเฉพาะการศึกษา สุขภาพ และการดูแลความปลอดภัย ซึ่งทำให้บริษัทได้เปรียบในการทำตลาดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเอชพีแนะ ว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรฐาน สำหรับโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ เพื่อให้รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต รวมถึงการบริหารระบบไอทีแบบ "คลาวด์ คอมพิวติ้ง" ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มการลงทุนของไอทีทั่วโลก เนื่องจากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรไอทีได้สูงสุด และลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่ม
เขาให้ความเห็นด้วยว่า ในช่วงที่ดีลระหว่างซัน และออราเคิลยังไม่สมบูรณ์ จะยิ่งเป็นโอกาสทางการตลาดให้กับเอชพีอย่างมาก เนื่องจากความไม่นอนของดีล ทำให้ลูกค้าของคู่แข่งเริ่มเกิดความไม่มั่นใจทิศทางของบริษัท และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคต