อาร์เมเนีย-อาร์เซอร์ไบจาน ปะทะสุดชุลมุน! ย้อนปมขัดแย้ง 2 ชนชาติร่วมเทือกเขาคอเคซัส

อาร์เมเนีย-อาร์เซอร์ไบจาน ปะทะสุดชุลมุน! ย้อนปมขัดแย้ง 2 ชนชาติร่วมเทือกเขาคอเคซัส

อาร์เมเนีย-อาร์เซอร์ไบจาน ปะทะสุดชุลมุน! ย้อนปมขัดแย้ง 2 ชนชาติร่วมเทือกเขาคอเคซัส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภูมิภาคคอเคซัสเป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างทะเลดำกับทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ชื่อทะเลสาบแคสเปียนเป็นที่ตั้งของประเทศอาร์เมเนีย ประเทศอาเซอร์ไบจาน ประเทศจอร์เจีย และดินแดนของรัสเซียตอนใต้บางส่วน

จุดนี้มีเทือกเขาคอเคซัสซึ่งเป็นเทือกเขาสูงขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของทวีปยุโรป โดยมียอดเขาเอลบรูสที่มีความสูงกว่า 5,642 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปยุโรป

เทือกเขาคอเคซัสทอดตัวยาวเป็นปราการธรรมชาติแบ่งพรมแดนระหว่างทวีปยุโรปและทวีปเอเชียมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งเครือข่ายเทือกเขานี้ประกอบด้วย 2 เทือกเขาใหญ่คือเทือกเขาคอเคซัสใหญ่ เทือกเขาคอเคซัสน้อย ที่ทอดตัวพาดผ่านหลายประเทศ ทั้งยังเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญเรื่อยมา

นับตั้งแต่อดีตในยุคของการค้าที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีในนามของ "เส้นทางสายไหม" จวบจนกระทั่งในยุคของอดีตสหภาพโซเวียตเข้ามาปกครองดินแดนแถบนี้ ก็ยังให้สำคัญอย่างต่อเนื่องถึงกลับสั่งให้สร้างถนนทางหลวงข้ามเทือกเขาคอเคซัส (Georgian Military Highway) เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนส่งกำลังพลเข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อยของจอร์เจียและบริเวณใกล้เคียง

แม้ในปัจจุบันภูมิภาคคอเคซัสยังเป็นเส้นทางลำเลียงสำคัญในการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ได้จากทะเลสาบแคสเปียนในประเทศอาเซอร์ไบจานที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับสามของโลกเลยทีเดียว

แผนที่ภูมิภาคคอเคซัส ที่ประกอบด้วยประเทศ จอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน

อาร์เมเนีย ดินแดนถูกรุกรานเสมอ

ประเทศอาร์เมเนียมีภูมิลำเนาอยู่แถบภูเขาอารารัตมาตั้งแต่ดั้งเดิมจัดเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและอาร์เมเนียเป็นประเทศแรกๆ ในทวีปยุโรปที่หันมานับถือศาสนาคริสต์ แต่เนื่องจากอาร์เมเนียเป็นชาติที่เล็กจึงมักถูกยึดครองโดยมหาอำนาจต่างๆ เช่น อัสซีเรีย เปอร์เซีย กรีซ จักรวรรดิไบแซนไทน์

ประวัติศาสตร์อาร์เมเนียมีเพียงช่วงสั้นๆ ในยุคการปกครองของราชวงศ์บากราตูนีเท่านั้น ที่เป็นเอกราชราว 160 ปีก็ตกเป็นอาณานิคมของชาติต่างๆ ต่อไป

จักรวรรดิออตโตมาน (ตุรกี) กับ จักรวรรดิซาฟาวิด (อิหร่าน) ได้ยึดครองอาร์เมเนียโดยตุรกียึดเอาอาร์เมเนียตะวันตก ส่วนอิหร่านยึดครองอาร์เมเนียตะวันออกเมื่อประมาณ 500 ปีที่แล้ว ต่อมารัสเซียได้เข้ายึดอาร์เมเนียตะวันออกจากอิหร่าน

เมื่อปี 2452 รัฐบาลตุรกีสั่งปราบอาร์เมเนียที่แข็งข้อ ทำให้มีคนตายไปมากกว่า 3 หมื่นคนและรัฐบาลตุรกีมีจุดมุ่งหมายกำจัดชาวอาร์เมเนียให้สิ้นเผ่าพันธุ์ ได้ฆ่าชาวอาร์เมเนียตายไปมากกว่า 1.5 ล้านซึ่งการกระทำอันโหดเหี้ยมของตุรกียังเป็นที่จดจำของชาวอาร์เมเนียเสมอมา

อาร์เซอร์ไบจานใต้ร่มวัฒนธรรมมุสลิม

ประเทศอาร์เซอร์ไบจานนั้นดินแดนของอาเซอร์ไบจานถูกครอบครองโดยชนเผ่าเติร์กมาก่อน จึงได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมแบบมุสลิม ศาสนา และภาษาโดยกลุ่มชนดังกล่าวกว่าหลายศตวรรษจนกระทั่งถูกจักรวรรดิซาฟาวิด (อิหร่าน) ยึดครองในช่วง 500 ปีหลัง ทำให้อาเซอร์ไบจานรับเอาศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์เป็นนิกายประจำชาติถือเป็นประเทศที่มีประชากรที่นับถือนิกายชีอะห์เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอิหร่าน

ครั้นเกิดการปฏิวัติรัสเซียขึ้นใน พ.ศ. 2461 บรรดาประเทศในภูมิภาคคอเคซัสอันได้แก่อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจานและจอร์เจีย ต่างก็ประกาศเอกราช แต่ในปี 2463 ก็ถูกกองทัพแดงของสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) ปราบอย่างราบคาบต้องตกเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตจนสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อพ.ศ. 2534 จึงได้ต่างพากันได้เอกราชอีกครั้งหนึ่ง

นากอร์โน-คาราบัค ดินแดนพิพาทจากน้ำมือสตาลิน

แต่ปัญหาค้างคามาตั้งแต่สมัยที่อาร์เมเนียและอาร์เซอร์ไบจานอยู่ใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตคือแคว้นนากอร์โน-คาราบัคที่มีพื้นที่ประมาณ 4,400 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีชาวอาร์เมเนียนับถือศาสนาคริสต์อาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ แต่สตาลินผู้เผด็จการของสหภาพโซเวียตกลับยกให้เป็นดินแดนของอาร์เซอร์ไบจานปกครองตามนโยบายแบ่งแยกและปกครองของสหภาพโซเวียตนั่นเอง

เมื่อสหภาพโซเวียตใกล้ล่มสลาย รัฐสภาของแคว้นนากอร์โน-คาราบัคลงมติขอเป็นเป็นส่วนหนึ่งของอาร์เมเนียเมื่อเดือนสิงหาคม 2530 จึงเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันของคนสองเชื้อชาติในปี 2531

เมื่อทั้งอาร์เมเนียและอาร์เซอร์ไบจานต่างก็ได้เป็นเอกราชแล้วจึงเกิดสงครามนากอร์โน-คาราบัคขึ้นโดยมีกองกำลังต่างชาติจำนวนมากเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้อย่างเอิกเกริก โดยรัสเซียสนับสนุนอาร์เมเนีย ส่วนตุรกีกับยูเครนหนุนฝ่ายอาเซอร์ไบจาน มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสองฝ่ายร่วม 36,000 คน บาดเจ็บอีกร่วม 70,000

ครั้นกองกำลังฝ่ายอาร์เมเนียเข้าควบคุมแคว้นนากอร์โน-คาราบัคได้เกือบหมดแถมยังยึดครองดินแดนรอบๆ แคว้นนากอร์โน-คาราบัคที่เชื่อมต่อกับดินแดนอาร์เมเนียได้อีก 7 แห่งแล้วก็ประกาศหยุดยิงในปี 2537 จากการที่รัสเซียเข้ามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยโดยตกลงให้แคว้นนากอร์โน-คาราบัคยังเป็นของอาเซอร์ไบจานอยู่แบบนิตินัย แต่ปกครองโดยคนเชื้อสายอาร์เมเนีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอาร์เมเนียโดยพฤตินัย

หลังจากนั้นก็มีการเจรจาสันติภาพอีกโดยกลุ่มโอเอสซีอี มินสก์ (OSCE Minsk Group) ซึ่งนำโดยฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา จัดประชุมที่กรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส แต่ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เคยมีการบรรลุข้อตกลงสันติภาพระหว่าง 2 ประเทศนี้เลย

เรื่องยิ่งชุลมุน เมื่อ ตุรกี-รัสเซีย พัวพัน

ตลอดช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ยังมีการปะทะกันประปราย โดยเฉพาะในปี 2559 ที่การปะทะกันรุนแรงมากจนทหารของแต่ละฝ่ายเสียชีวิตไปหลายสิบนาย ปัจจุบันนี้แคว้นนากอร์โน-คาราบัค ถูกปกครองโดยกลุ่มชาวอาร์เมเนียที่เรียกตัวเองว่า สาธารณรัฐอาร์ทซัค ซึ่งอาร์เมเนียคอยให้การสนับสนุนทางการเงินและอ้างตัวเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้นั่นเองในมิติของภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนและสับสนขึ้นไปอีก เพราะตุรกี ประเทศสมาชิกองค์การนาโต (องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ)

ขณะเดียวกันอาร์เมเนียก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียถึงขนาดอนุญาตให้รัสเซียมีฐานทัพในประเทศได้ และทั้งรัสเซียและอาร์เมเนียได้ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรทางการทหารร่วมกันอีกด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา กองทัพอาเซอร์ไบจานกับทหารของสาธารณรัฐอาร์ทซัคก็เปิดฉากปะทะกันอีกครั้ง ทำให้รัฐบาลอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานต้องเคลื่อนกำลังทหารและประกาศใช้กฎอัยการศึกในหลายพื้นที่ของประเทศขณะที่การต่อสู้ยืดเยื้อเป็นเวลานา
นหลายวันแล้วก็ยังไม่มีทีท่าจะสงบลงและประเทศตุรกีประกาศสนับสนุนอาเซอร์ไบจานในการต่อสู้ครั้งนี้อย่างแข็งขัน

รัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารและมีฐานทัพตั้งอยู่ในอาร์เมเนียได้ออกมาเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยิงทันทีและเสนอตัวเป็นตัวกลางเจรจาลดความขัดแย้งการปะทะกันระหว่างอาเซอร์ไบจานกับชาวอาร์เมเนียในนากอร์โน-คาราบัค

ในขณะที่มีรายงานหลายกระแสที่ชี้ว่ากองกำลังต่างชาติอาจกำลังเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้ระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน โดยรัฐบาลอาร์เมเนียออกมาอ้างว่า เครื่องบินรบ ซู-25 ของพวกเขาถูก เอฟ-16 ของตุรกียิงตก พร้อมกับเผยแพร่ภาพซากเครื่องบินออกมา

นอกจากนี้ อาร์เมเนียยังอ้างว่าตุรกีได้เกณฑ์นักรบติดอาวุธในซีเรียเข้าไปรบร่วมกับทหารอาเซอร์ไบจานอีกด้วย หากตุรกีเข้าไปสนับสนุนอาร์เซอร์ไบจานในกรณีพิพาทครั้งนี้อย่างจริงจังแล้วจริง รัสเซียซึ่งเป็นคู่อริขัดแย้งกับตุรกีอยู่แล้วทั้งที่ซีเรียและลิเบีย ก็อาจเข้าช่วยเหลือทางอาร์เมเนียอย่างเปิดเผย ซึ่งก็อาจดึงให้องค์การนาโตที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ซึ่งมีตุรกีเป็นสมาชิกประเทศสำคัญขององค์การนาโตเข้าร่วมในสงครามนี้ด้วย

แม้ว่าโอกาสที่เรื่องจะบานปลายไปถึงกับเกิดสงครามเต็มรูปแบบคงจะเป็นไปได้น้อยมากเพราะภูมิภาคคอเคซัสใต้ (อาร์เมเนีย, อาเซอร์ไบจาน และจอร์เจีย) เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านการขนส่งพลังงาน เปรียบได้กับเส้นเลือดที่ส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้แก่ตุรกี
ยุโรป รวมทั้งตลาดโลกคงทำให้ทุกฝ่ายน่าจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้การต่อสู้ลุกลามไปจนถึงขั้นกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook