ครม.ไฟเขียวถอน "กระท่อม" จากยาเสพติด แต่ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

ครม.ไฟเขียวถอน "กระท่อม" จากยาเสพติด แต่ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

ครม.ไฟเขียวถอน "กระท่อม" จากยาเสพติด แต่ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ตามที่ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่.. พ.ศ. …. เป็นการเพิกถอนพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และยกเลิกบทกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ควรให้มีกฎหมายควบคุมพืชกระท่อมเป็นการเฉพาะด้วย ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯอยู่ระหว่างการเข้าสู่การพิจารณาวาระรับหลักการของสภาผู้แทนราษฎร

เพื่อให้การใช้พืชกระท่อมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ และไม่เปิดช่องให้มีการนำไปใช้ในเยาวชน ครม.จึงอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการควบคุมพืชกระท่อม เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงพืชกระท่อมและป้องกันไม่ให้มีการนำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด โดยมีสาระสำคัญ เช่น กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกพืชกระท่อม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท, ห้ามขายพืชกระท่อมให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และสตรีมีครรภ์ ห้ามใช้ จ้างวาน หรือยินยอมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามมิให้ขายพืชกระท่อมในสถานที่บางแห่ง เช่น โรงเรียน หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก หรือขายผ่านอินเตอร์เน็ต หรือเร่หาย ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท, ห้ามโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 500,000 บาท

ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เสพพืชกระท่อม และห้ามผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เสพพืชกระท่อมแบบ 4 x 100 (ผสมกับยา ยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์) รวมทั้งห้ามไม่ให้ผู้ใดยุยงส่งเสริมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือสตรีมีครรภ์เสพพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และกำหนดให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอาง ที่มีส่วนประกอบของพืชกระท่อม ตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอาง

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ส. www.oncb.go.th จำนวน 2 ครั้ง และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวให้ประชาชนรับทราบเรียบร้อยแล้ว โดยนางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในลำดับต่อไปจะส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งใน 37 ประเทศทั่วโลกที่ควบคุมพืชกระท่อมโดยไม่ใช้กฎหมายยาเสพติดแต่ใช้กฎหมายอื่น เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น เซอร์เบีย โครเอเชีย ซีเรีย เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook