“สุกัญญา มิเกล” เมื่อผู้ใหญ่ต้องเติบโตในโลกของคนรุ่นใหม่

“สุกัญญา มิเกล” เมื่อผู้ใหญ่ต้องเติบโตในโลกของคนรุ่นใหม่

“สุกัญญา มิเกล” เมื่อผู้ใหญ่ต้องเติบโตในโลกของคนรุ่นใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกระแสการชุมนุมทางการเมืองที่ร้อนแรงอย่างมากในขณะนี้ คนดังหลายคนเริ่มออกมาแสดงจุดยืนในฝ่ายประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าในอดีต ขณะที่หลายคนก็เรียกร้องให้กลุ่มคนดังที่เคย “เป่านกหวีด” ออกมาแสดงความรับผิดชอบในฐานะส่วนหนึ่งของการรัฐประหาร ที่นำพาประเทศมาถึงจุดที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน และอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ คือการปรากฏตัวของร็อกเกอร์ยุค 90s อย่าง “สุกัญญา มิเกล” ที่เคยเป็นหนึ่งในคนดังที่เข้าร่วมชุมนุมในม็อบ กปปส. โดยเธอได้ถ่ายภาพร่วมคู่กับ รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ในการชุมนุมที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563

แม้จะเป็นภาพถ่ายธรรมดา แต่ก็ทำเอาทั้งแฟนและแอนตี้แฟนถึงกับเซอร์ไพรส์ และวิพากษ์วิจารณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนทั้งสอง ที่ดูน่าจะเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แน่นอนว่าหลังจากนั้น คุณมิเกลเองก็ถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนข้างทางการเมือง ทว่าเธอได้เลือกแล้วที่จะเดินตามเส้นทางของตัวเอง

Sanook ได้พูดคุยกับคุณมิเกลในวัยผู้ใหญ่ ที่มาพร้อมกับตำแหน่งคุณแม่ลูกสอง ทว่าความเท่ของเธอนั้นไม่ได้จางลงไปจากสมัยที่เธอเป็นนางแบบ นักแสดง และนักร้อง และแม้ว่าเธอจะไม่ได้โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงมากเหมือนแต่ก่อน แต่เธอก็ยังคงอยู่บนเส้นทางที่เธอรัก นั่นคือ การเล่นดนตรีเป็นอาชีพ และทำช่อง YouTube ในชื่อ สุกัญญา มิเกล Official

สุกัญญา มิเกลสุกัญญา มิเกล Migaelสุกัญญา มิเกล

“พี่ไม่ได้ยึดติดเกี่ยวกับตัวบุคคลนะ พี่ยึดติดกับสิ่งที่เรียกว่าผลงานและการกระทำ พี่ยึดติดเรื่องของสถาบัน ถ้ารัฐบาลไหนขึ้นมาแล้วทำงานไม่ดี ประชาชนก็ควรจะมีสิทธิในการส่งเสียงบอกว่าอันนี้ไม่เหมาะนะ อันนี้ไม่ควรนะ อันนี้มีผลกระทบนะ” คุณมิเกลเริ่มเล่าถึงจุดยืนทางการเมืองของตนเอง ที่มีส่วนทำให้เธอตัดสินใจเข้าร่วมแสดงออกทางการเมือง ผ่านการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 10 กว่าปีก่อน

“มีคนในวงการบันเทิงมาชวนพี่ 2 – 3 ครั้ง ซึ่งแต่ละคนก็เป็นผู้มีพระคุณของพี่ เขาบอกว่าให้ไปเพื่อไปสร้างขวัญกำลังใจ พี่ก็ตอบแทนเขาด้วยการไป เหมือนไปทำงานให้ ภาพที่เห็นในตอนนั้นก็จะมีการส่งข่าวกันว่า มีขบวนการล้มเจ้านะ เหมือนตอนนี้เลย วลีนี้มีพลานุภาพมากสำหรับคนไทยทั้งหมด คนที่ได้รับข้อมูลก็จะถูกปลุกเร้าได้ง่ายมาก ด้วยความที่มีความศรัทธาและรักในสถาบันเป็นพื้นฐาน พี่ก็ไปด้วยจุดประสงค์ที่จะปกป้องสถาบันเต็มที่ พี่ไตร่ตรองในขณะนั้น ด้วยความรู้ในขณะนั้น ที่ยังไม่มีโซเชียล มีแต่การบอกกันปากต่อปาก คนที่มาบอกเราเขาก็มีอิทธิพลในชีวิตเรา เพราะฉะนั้น อิทธิพลต่อความเชื่อของเรามันจะสูงมากเลย” คุณมิเกลเล่า

การเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้คุณมิเกลมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในขณะนั้น และคนกลุ่มเดียวกันนี้เองก็ได้ชักชวนให้คุณมิเกลร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. เมื่อปลายปี 2556 โดยในครั้งนี้ เธอออกไปด้วยความมุ่งหวังอย่างบริสุทธิ์ใจที่จะปกป้องบ้านเมืองจาก “รัฐบาลโกง” และคิดว่าการชุมนุมจะนำไปสู่การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งต้องการรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์

“ตอนที่พี่เห็นเขาทะเลาะกัน พี่เศร้าใจมากนะ มันเป็นความเศร้าที่เห็นคนไทยด้วยกันเอาชนะคะคานกันโดยไม่ฟังเหตุผล ถึงขนาดตีกัน ทำร้ายร่างกายกัน พี่ว่ามันแย่ ยังไงมนุษย์ก็คือมนุษย์ด้วยกัน ต่อให้คิดไม่เหมือนกันก็ไม่ควรต้องฆ่ากัน การที่เราเห็นคนแขนขาดขาขาดยืนอยู่ข้างเรา นั่นก็ไม่ใช่เรื่องน่าแฮปปี้ แล้วการปราบปรามเป็นเรื่องแย่ที่สุด ไม่ว่าจะโดยรัฐบาลใดก็ตาม พี่ไม่เห็นด้วย มันคือความป่าเถื่อน คนที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นที่จะปราบคนอื่นราบคาบ นั่นหมายความว่าคุณต้องมีอาวุธ คุณต้องมีร่างกายกำยำ ต้องมีอำนาจพอสมควร ความไม่ยุติธรรมจะเกิดขึ้นเมื่อคนที่มีแค่ไม้ไผ่ไปรบกับเขาน่ะ”

ความเชื่อของคุณมิเกลเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่ คสช. ให้คำมั่นว่าจะบริหารประเทศเพียง 2 ปี และจะคืนอำนาจให้แก่ประชาชน แต่กลับครอบครองอำนาจอยู่เป็นเวลานาน โดยไม่เปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทว่าเธอก็ยังไม่ลุกขึ้นมาส่งเสียง ด้วยความกลัวต่ออำนาจของรัฐ เช่นเดียวกับประชาชนคนตัวเล็กๆ ทั่วไป และในที่สุด การเมืองที่ใครหลายคนมองเป็นเรื่องไกลตัว ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตนักดนตรีผู้นี้

ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ผิดปกติในบ้านในเมือง อาชีพของโลกกลางคืนก็จะโดนก่อน ผับบาร์โดนปิด ย่นระยะเวลาให้สั้นลง อีเวนต์หาย ค่อยๆ หายไปทีละอย่าง สงกรานต์หาย แล้วก็มีลอยกระทง ตอนล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 นี่หนักเลย เพราะว่าพี่มีอาชีพเดียวคืออาชีพเล่นดนตรี แล้วในโหมดของการเป็นศิลปินในวงการ ก็ต้องอาศัยการมีอีเวนต์ ดังนั้นก็คือโดนเต็มๆ ต่อมายังมี พ.ร.ก. ฉุกเฉินต่อเนื่อง ร้านรวงก็ไม่กล้าจ้างพี่ไปเล่น เพราะถ้าคนมาเยอะ ตำรวจก็จะมาลงอีก ดังนั้น อาชีพนักดนตรีนี่หนักสุดแล้ว”

รายได้ที่ลดลงส่งผลให้คุณมิเกลและครอบครัวต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างมาก แต่ปัญหาที่เธอเห็นมากกว่านั้น คือการสูญเสียของผู้คนอีกหลายชีวิตจากการเมืองการปกครองที่ไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง

“เวลาที่ใช้กฎอัยการศึกในประเทศใดก็แล้วแต่ นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศหนีไปแล้ว คนในประเทศก็ออกไปเที่ยวไม่ได้ ออกไปทำอะไรที่เป็นอิสรเสรีไม่ได้ แล้วก็มีการพูดถึงไม่ได้ บ่นไม่ได้อีก พี่พูดเลยนะ การล็อกดาวน์ประเทศคือการขังคุกประชาชนของจริง แล้วก็เราเป็นคนดีอยู่ดีๆ ไม่เคยไปฆ่าใคร แต่มีสภาวะเหมือนติดคุก เพียงเพราะผู้บัญชาการคาดหวังว่าเอาคนไปเก็บแล้วจะปลอดภัย ความปลอดภัยของเขา ของชนชั้นของเขา ซื้อมาด้วยการสูญเสียอิสรภาพของคนเกือบทั้งประเทศ สูญเสียชีวิตเพราะไม่มีที่ทำกิน สูญเสียบ้าน เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าบ้าน สูญเสียเครดิตที่ทำมาดีๆ แล้วสูญเสียทั้งชีวิตกับคำว่าไม่มีเครดิตให้ใครเชื่อถืออีกแล้ว” คุณมิเกลอธิบาย

6 ปีผ่านไป กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหมู่คนรุ่นใหม่ ทว่าด้วยข้อกล่าวหาเรื่องการลดทอนบทบาทของสถาบัน ทำให้คุณมิเกลยังคงตั้งข้อสงสัยต่อการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่เธอทำก็คือ สืบค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ จนเข้าใจถึงเจตนาที่แท้จริง และตัดสินใจแสดงจุดยืนทางการเมืองอีกครั้ง โดยร่วมลงชื่อสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา

“วันที่ 19 เราเห็นแต่ละคนเขามีเป้าหมายในการลงชื่อกันเยอะมากเลย เราปลื้มใจมากที่เห็นคนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพราะว่ามันเป็นเป้าประสงค์ของการมีรัฐธรรมนูญในประเทศที่เรียกว่าประชาธิปไตย เสียงบอกกล่าวของคนคนหนึ่งมีค่ามากในสังคมนั้น นี่คือประชาธิปไตยในมุมมองของพี่”

นอกจากการร่วมลงชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว บรรยากาศการชุมนุมในวันนั้นก็สร้างความประทับใจให้กับคุณแม่ขาร็อกผู้นี้มาก โดยเธอบอกว่าบรรยากาศในวันนั้นไม่เหมือนการออกรบ แต่คล้ายกับเทศกาล และเหมือนเธอได้ย้อนเวลาไปสู่สมัยที่เธอเป็นวัยรุ่นที่เปี่ยมไปด้วยพลังและเสรีภาพ ขณะเดียวกัน เธอพบว่าพ่อค้าแม่ค้าก็มีรายได้จากการชุมนุมในวันนั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณมิเกลจะรู้สึกปลอดโปร่งจากการเลือกที่จะเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่การแสดงจุดยืนทางการเมืองของคนดังในบ้านเรามีราคาที่ต้องจ่ายสูงเสมอ ซึ่งเธอเองก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกโจมตีและแปะป้ายว่าเป็น “พวกล้มเจ้า”

“ความคุ้มอยู่ที่ไหน ต้องตั้งคำถามนี้ก่อน ความคุ้มอยู่ที่การมีเพื่อนให้การยอมรับในสังคม หรือความคุ้มอยู่กับชีวิตของพี่กับลูกพี่ ถ้ามันได้มาซึ่งกติกาที่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม แล้วมันส่งผลถึงอนาคตลูกพี่ พี่ว่าพี่คุ้ม พี่ไม่มีเพื่อนเลยก็ได้ ถ้ามันมีผลกระทบ เช่น ไม่มีงานทำ เพื่อนไม่มี พี่ก็จะเปิดร้านขายของเล็กๆ ตรงไหนก็ได้ เพื่อให้มันมีรายได้เลี้ยงชีวิตไปเรื่อยๆ คือเราหาทางออกแบบถ่อมตนมากๆ ไม่ยึดติดกับสิ่งที่จะต้องมี ไม่ต้องมีเพื่อนในวงการมาติดสอยห้อยตาม หรือเราต้องไปติดสอยห้อยตามเขา ซึ่งนิสัยพี่ก็รับอะไรแบบนั้นไม่ไหวเหมือนกัน”

สำหรับมุมมองของคุณมิเกลที่มีต่อการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ที่ถูกมองว่าเป็นความก้าวร้าวรุนแรง คุณมิเกลมองว่า การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพนี้ล้วนมาจากแรงกดทับจากการใช้อำนาจของผู้ใหญ่ ประกอบกับโลกยุคใหม่ที่เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเสรี ทำให้คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับระบบเก่า และกรอบของผู้ใหญ่ก็ไม่อาจหยุดยั้งพวกเขาได้อีกต่อไป

“เด็กตอนนี้เขาไปได้ยินอะไรมาเขาก็มาหาข้อมูล เขามีความเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้น เขามีอิสระ สิ่งที่เขาจะตัดสินใจ ไม่ว่าจะจากกระบวนการไตร่ตรอง ตามเพื่อนไป หรือตามแฟชั่นใดๆ ก็แล้วแต่ พี่ก็มองว่ามันเป็นสิทธิของเขาอยู่ดี ถึงแม้ว่าบางอย่างมันเป็นแบบที่ผู้ใหญ่ไม่ชอบ แต่มันก็เป็นสิทธิของเขา ความไม่ชอบเอามาใช้เป็นแส้สำหรับโบยคนอื่นไม่ได้ ความไม่ชอบมันเป็นความไม่ชอบส่วนตัวของคุณ แต่คุณเอาความไม่ชอบไปเป็นแส้ตีชาวบ้าน อันนั้นผิดตรรกะมากแล้ว เพราะฉะนั้น อย่าตั้งแง่เลยว่าทำไมเด็กๆ จึงก้าวร้าว ก็เด็กๆ ก้าวร้าวจากการที่ได้เห็นคนแก่งี่เง่า คนแก่ที่ไม่ทำเรื่องถูกให้เป็นถูก คนแก่ที่ทำเรื่องผิดให้เป็นถูกเสมอจะหาความเคารพจากใครที่เติบโตมาใหม่ จะมีใครเคารพล่ะ” เธอกล่าว

นอกจากนี้ คุณมิเกลยังฝากคำแนะนำถึงคนรุ่นใหม่ที่ออกมาแสดงจุดยืนในขณะนี้ว่า ทุกการเปลี่ยนผ่านต้องมีความเจ็บปวดเสมอ

“น้องๆ ต้องเดินผ่านหนามของการที่เขาไม่ยอมรับ หนามของการที่เขาพยายามจะดึงให้เราคิดแบบเดียวกับเขา จงเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเป็น นึกถึงความถูกต้องเป็นหลัก อย่าย่อท้อกับการที่เราต้องเจอความเจ็บปวดบ้าง ให้มองมันเป็นเรื่องขำๆ แล้ววันหนึ่ง เราก็จะไม่เจ็บแล้ว ถ้าเราเป็นไม้ยืนต้นที่ตั้งตระหง่านด้วยความมั่นคงว่านี่คือสิ่งที่เราอยากจะสร้างให้มันเป็น อย่าโอนอ่อนไปเพียงเพราะความกลัว ฟ้าใสที่มันจะมา มันอาจจะไม่มาเร็วนักหรอก แต่ถ้าต้นไม้แต่ละต้นยังตั้งตรงอยู่ ไม่ล้มความตั้งใจ ไม่ล้มความรู้สึกเป็นอิสระนี้ทิ้งไป ยังไงบ้านเมืองที่เราอยากเห็น ความยุติธรรมในหลักของประชาธิปไตย มันก็จะต้องมี”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook