มองคนพิการผ่านหนังสั้น
โดย : วรุณรัตน์ คัทมาตย์
หลายครั้งที่เรื่องราวของคนพิการ ถูกมองเป็นเพียงภาพลักษณ์อันน่าเวทนาในสังคม หากคนพิการ ก็สามารถมีที่ยืนและมีความสุขในชีวิต
ได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งจึงถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาผ่าน 'หนังสั้น' หวังเปลี่ยนมุมมองและความรู้สึกที่สังคมมีต่อคนกลุ่มนี้
เคยถามตัวเองไหมว่า คนพิการที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ มักจะเป็นภาพแบบไหน ?
บ่อยครั้งที่เราพบว่า คนพิการเป็นได้แค่ของแปลก หรือตัวตลกในสื่อกระแสหลักทั่วไป การเล่าเรื่องคนพิการในสื่อจึงเป็นภาพซ้ำๆ เกี่ยวกับความน่าสงสาร ที่รอความหวังจากคนทั่วไปมาเยียวยา ในขณะที่ความจริง คนพิการจำนวนมาก สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ อย่างเป็นปกติสุข แต่ภาพเหล่านั้นกลับไม่ถูกนำเสนอมากนัก
นี่เป็นที่มาให้เกิดโครงการผลิตสื่อเพื่อสร้างมุมมองใหม่ที่มีต่อคนพิการ จากมุมมองเดิมที่เคยมองว่าพวกเขาเป็นภาระ เปลี่ยนเป็นความเท่าเทียม ทั้งในแง่โอกาสและการดำรงชีวิตเยี่ยงมนุษย์ทั่วไป ภายใต้โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างสรรค์และประกวดภาพยนตร์สั้น (E-san Creative Short film Workshop And Contest ) โดยความร่วมมือของแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย (สสพ.) จับมือกันกับสาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้หัวข้อที่ว่า 'มองมุมใหม่ เติมให้ส่วนที่ขาด'
ชาคริต ระดาฤทธิ์ หรือ หนุ่ย นักเรียนชั้นม. 6 โรงเรียนน้ำโสมพิทยาคม อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของโครงการดังกล่าว บอกว่า คนพิการก็คือ คนที่ไม่มีอวัยวะ หรือ ไม่มีการพัฒนาของสมองครบถ้วนเหมือนคนปกติ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีปัญหาอะไรสำหรับการดำรงชีวิต เพราะทุกวันนี้เราก็เห็นคนพิการใช้ชีวิตอย่างปกติอยู่ทั่วไปในสังคม โดยส่วนตัวแล้วตนมองว่า คนพิการเป็นบุคคลที่น่านับถือ
"ผมรู้สึกว่าคนพิการเป็นบุคคลที่น่านับถือสุดๆ เลย จำได้ไหมครับตอนที่นาตาลีได้เป็นนางงามจักรวาลเธอตอบคำถามว่า 'สิ่งที่ท้าทายที่สุดในชีวิตฉันก็คือ... การใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างมีความสุข' เชื่อเถอะว่าคนปกติบางคนก็ยังทำสิ่งท้าทายที่ว่านี้ไม่ได้เลย แม้แต่ตัวผมเองในบางครั้ง แต่คนพิการที่เขาสามารถทำได้ ในขณะที่เขามีสภาพร่างกายไม่ครบสมบูรณ์ มันสุดยอดจริงๆ" น้องหนุ่ยแสดงความเห็น
ในส่วนของบทหนังสั้นที่ทีมของน้องหนุ่ยส่งมานั้น ได้นำเสนอในมุมที่ว่า "คนพิการเขาพยายามอยู่กับคนปกติอย่างเราแบบที่เราทำกัน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเชื่อว่าเขาอยู่ได้แบบที่เราอยู่ได้" และยังเล่าถึงมุมมองของตนว่า ทำให้ตนมองสังคมในมุมใหม่ๆ มากขึ้น ทัศนคติที่มีต่อคนพิการที่ว่า "เขาเป็นคนที่ด้อยกว่าเรา" ก็เปลี่ยนไป เพราะได้มองเห็นว่า คนพิการบางคนเขาทำอะไรต่อมิอะไรได้เก่งกว่าคนปกติเสียอีก
ในทำนองเดียวกัน น้องรัตน์ หรือ รัตนา ค้าเจริญ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบรบือ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ก็เล่าถึงแรงจูงใจที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ว่า เนื่องจากเป็นโครงการที่ให้การช่วยเหลือ และสะท้อนถึงชีวิตของผู้พิการ ทำให้ตนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและสะท้อนปัญหาที่ผู้พิการต้องเจอ ให้กับคนอื่นได้รับรู้
สำหรับบทหนังสั้นที่น้องรัตน์ส่งเข้าร่วมประกวดนั้น น้องรัตน์เล่าว่า ต้องการนำเสนอคนพิการ ในรูปแบบที่ชีวิตของเขายังมีคนที่รักเขา และพร้อมที่จะต่อสู้กับความพิการนั้นเพื่อใครบางคน ไม่ใช่ท้อแท้เมื่อพบว่าตนเองพิการ
เมื่อถามถึงทัศคติต่อคนพิการ น้องรัตน์ตอบว่า ตนเองมีมุมมองที่เปลี่ยนไปแน่นอน อย่างน้อยก็ได้ทราบว่าคนพิการเขาไม่ใช่คนที่เราจะไปสงสารเขา แต่เขาเป็นคนที่เราต้องให้กำลังใจและสนับสนุนเขาตามความสามารถที่เขามี อยู่ ตนจึงอยากให้คนทั่วไปได้รับรู้และให้โอกาสแก่พวกเขา นอกจากนี้ยังทำให้ตนได้เรียนรู้การทำงานกับบุคคลที่มากความสามารถอีกด้วย
อาจารย์ปรีชา สาคร อาจารย์สาขาการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของโครงการว่า อีสานช็อทฟิล์มนี้ ได้ทำต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 ปี มีอาจารย์ ชาคริต สุดสายเนตร เป็นคนริเริ่ม โดยเน้นประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมอีสานเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้ถึงขั้นตอนการคัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 30 ทีม และเวิร์คช็อป ก่อนจะตัดสินอีกครั้งในอีกสองเดือนข้างหน้า
เมื่อถามถึงหัวข้อที่ใช้ในการประกวดปีนี้ อาจารย์ปรีชาเล่าว่า โครงการปีนี้เปลี่ยนประเด็นใหม่ เป็นประเด็นเกี่ยวกับคนพิการ ภายใต้ชื่อ 'มองมุมใหม่ เติมให้ส่วนที่ขาด' ซึ่งจะนำเสนอภาพลักษณ์ของคนพิการในเชิงบวก อีกทั้ง ตนมองว่าการผลิตงานเกี่ยวกับคนพิการก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และท้าทายคนในวงการสื่อ
อาจารย์ปรีชายกตัวอย่างถึงผลงานบทหนังสั้นที่เข้ารอบว่า กลุ่มเด็กมัธยม จากโรงเรียนน้ำโสมพิทยาคม อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี เป็นกลุ่มที่นำเสนอมุมมองได้ดี เขานำเสนอเกี่ยวกับโอกาสการเรียนรู้ของเด็กพิการให้สามารถเข้ามาเรียนร่วม กับเด็กปกติได้ ทำให้ตระหนักได้ว่า จริงๆ แล้ว โรงเรียนควรจะให้การสนับสนุนในการเรียนการสอนให้เด็กพิการมากกว่าที่เป็น อยู่หรือไม่
สำหรับการเรียนการสอนหนังสั้นที่ได้รับความนิยมในสถาบันอุดมศึกษา อาจารย์ปรีชามองว่า การผลิตหนังสั้นในสถาบันการศึกษา ยังเป็นเพียงโครงการเฉพาะกลุ่มอยู่ ไม่ได้เติบโตอะไรมาก อย่างเช่น มหาวิทยาลัยมหาสารคามเองก็ยังสนใจด้านนี้น้อยมาก ตนจึงมองว่าอยากพัฒนาต่อไปให้ขยายวงกว้างมากขึ้น ให้มีเครือข่ายคนทำหนังที่เป็นคนในอีสาน
ด้าน เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ ผู้กำกับหนังสั้น และอาจารย์พิเศษด้านหนังสั้น แสดงทัศนคติเกี่ยวกับการผลิตหนังสั้นในฐานะที่เข้าร่วมเป็นวิทยาการใน โครงการว่า ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีเอื้อให้ทำหนังสั้นมากขึ้น เพราะมันผลิตง่ายขึ้น มีการประกวดหนังสั้นอย่างจริงจังมากขึ้น ในบางครั้ง ด้วยความที่ผลิตง่าย จึงพบว่ามีหนังขยะมากขึ้น แต่ในมุมกลับก็ถือเป็นการพัฒนาองค์ความรู้มากขึ้นเช่นกัน
เชิดพงษ์เล่าถึงบทหนังที่เข้าประกวดว่า โดยรวมก็เห็นได้ว่า เรื่องเล่าหลายเรื่องนำเสนอออกมาดี ในแง่ที่ว่า มีชั้นเชิงการเล่าเรื่อง เขาไม่ได้เล่าเรื่องแบบเก่าๆ ที่ว่าคนพิการต้องโดนดูถูก มีหลายเรื่องที่ประชดประชันหรือตบหน้าผู้ใหญ่ตรงๆ แต่บางคนก็ยังน้ำเน่าอยู่
"เด็กมัธยมอาจจะยังไม่เก่งเรื่องเทคนิค แต่ก็สามารถสร้างการเล่าเรื่องแบบที่สร้างสรรค์ได้ ในขณะที่เด็กมหาลัยเก่งเทคนิคเพราะเรียนมาโดยตรง แต่ไม่เก่งการเล่า วิธีการเล่ายังไม่มีชั้นเชิง แต่เขาเก่งกาจในแง่การตัดต่อการถ่ายทำ ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องสุดท้ายของการทำหนัง แต่ที่น่าสนใจคือ เด็กมัธยมน่าสนใจในการเล่าเรื่อง ผมมองว่า เป็นความอิสระ การเล่าแบบเด็กมัธยมคือ การเล่าแบบง่ายๆ ประเด็นมันจริงใจ เขามองคนด้วยสายตาของการไม่เห็นแก่ตัว ด้วยมุมมองนี้ทำให้หนังมีคุณค่ามากขึ้น" เชิดพงษ์เล่า
ศิวะดล ระถี ผู้กำกับหนังสั้นเรื่อง 'เด็กชายแฮมเบอร์เกอร์' ได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับการผลิตหนังสั้นว่า เด็กมหาวิทยาลัยชอบพูดถึงเรื่องเพื่อน เรื่องความรักผ่านหนังสั้น บางคนพูดถึงความรู้สึกกังวลที่เขามีต่อสภาพสังคม การเมือง การศึกษา เหมือนหนังเป็นพื้นที่ให้พวกเขาได้มีช่องทางการสื่อสารความในใจออกมาได้มาก ขึ้น
"เราจะเห็นจากหนังของเด็กว่า สภาพสังคมไทยมันจะมัวๆ ไม่สดใส ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ระบบการเมือง เขาจะระบายออกมา มันเหมือนเป็นเสียงพูดของพวกเขาที่ต้องการบอกกับใครสักคน ถ้าเขาไม่ได้ทำหนังเราอาจจะไม่มีช่องทางให้เขาได้สื่อสารก็ได้ เพราะฉะนั้นเป็นเครื่องมือที่ดีในการเรียนรู้ความคิดของคนได้ และทำให้เห็นถึงมุมมองของเด็ก" ศิวะดลกล่าว
ในด้านมุมมองการนำเสนอของหนังสั้นคนพิการ ศิวะดลมองว่า ผู้เข้าร่วมมีการนำเสนอที่น่าสนใจ หนึ่งคือ เห็นมุมมองใหม่ๆ มองในมุมที่ว่าคนพิการไม่จำเป็นต้องเป็นคนน่าเวทนา เขาก็เหมือนคนทั่วไป ที่สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้ สองคือ โครงการนี้ได้ทำให้มุมมองที่ดูเหมือนยาก แต่ได้ถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายขึ้น
นอกจากนี้ศิวะดลยังให้ทัศนคติในแง่ที่ว่า หนังไทยมักจะผลิตซ้ำความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนพิการ ประเด็นของคนพิการในหนังไทยส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้เพื่อรองรับการเล่าเรื่อง บางอย่าง เราจะไม่เห็นตัวละครพิการจริงๆ ได้เป็นตัวเอกและแสดงบทของเขาเต็มที่ แต่เราจะเห็นการเอาคนพิการเพื่อไปรองรับกับบทบาทบางอย่าง เช่น การทำเป็นตัวตลก มันคือการใช้ประโยชน์จากร่างกายมาล้อเลียน
การบอกเล่าเรื่องคนพิการในมุมใหม่ในครั้งนี้ อาจจะเป็นเพียงก้าวหนึ่ง ที่หวังจะปรับเปลี่ยนมุมมอง ที่มีต่อคนที่ถูกมองว่าเป็นคนชายขอบ แต่อย่างน้อย โครงการนี้น่าจะเป็นหลักไมล์สำคัญ ที่กระตุ้นให้คนทั่วไปได้ร่วมกันคิดว่า คนพิการก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ต้องการความสงสาร แต่ขอโอกาสให้พวกเขาเท่านั้นก็พอ