สธ.ตรวจ "ลูกอม-หมากฝรั่ง" พบ 9% ไม่ผ่านมาตรฐาน ผสมสีเป็นอันตรายต่อร่างกาย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจ "ลูกอม-หมากฝรั่ง" ในท้องตลาด 987 ตัวอย่าง พบไม่ผ่านมาตรฐาน 9% มีสีที่สร้างอันตรายต่อร่างกาย
วันที่ 27 ตุลาคม 2563 - นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้รวบรวมผลการตรวจวิเคราะห์สีอินทรีย์สังเคราะห์ในลูกอมทั้งชนิดแข็ง ชนิดนุ่ม และหมากฝรั่ง โดยเป็นตัวอย่างที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และผู้ประกอบการส่งตรวจระหว่างปี 2560-2562 จำนวน 387 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบว่า มีการใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 30 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 9.8% โดยจำแนก ดังนี้
- ลูกอมชนิดแข็ง ได้แก่ ลูกอมที่มีลักษณะเป็นเม็ดแข็งละลายช้า เมื่อเคี้ยวจะแตก จำนวน 147 ตัวอย่าง พบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง ร้อยละ 5.7 ตกมาตรฐานเนื่องจากพบสี erythrosine ในปริมาณตั้งแต่ 2.9 ถึง 18.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
- ลูกอมชนิดนุ่ม ได้แก่ ลูกอมที่มีลักษณะเป็นเม็ดนิ่มและอ่อนตัว สามารถเคี้ยวได้ จำนวน 204 ตัวอย่าง พบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 21 ตัวอย่าง ร้อยละ 13.9 ตกมาตรฐานเนื่องจากในจำนวนนี้พบสี erythrosine จำนวน 15 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ น้อยกว่า 1.0 ถึง 38.8 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม และสี amaranth จำนวน 6 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ 2.2 ถึง 23.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งสีทั้ง 2 ชนิดนี้ไม่อนุญาตให้ใช้ในลูกอม
- หมากฝรั่ง จำนวน 36 ตัวอย่าง ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 2 ตัวอย่าง ร้อยละ 6.3 เนื่องจากพบสี quinoline yellow ซึ่งสีชนิดนี้ไม่อนุญาตให้ใช้ในหมากฝรั่ง ทั้งนี้สีอินทรีย์สังเคราะห์เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีการประเมิน ความปลอดภัยแล้ว และอนุญาตให้ใช้เติมในอาหาร แต่ปริมาณที่ใช้ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (เลขที่ 389) พ.ศ.2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5)
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ลูกอมและหมากฝรั่งเป็นอาหารที่อนุญาตให้ใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ เพื่อเติมแต่งผลิตภัณฑ์ แต่ปริมาณและชนิดของสีที่ใช้ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข จากการรวบรวมข้อมูลผลตรวจวิเคราะห์ระหว่างปี 2560-2562 ยังคงตรวจพบว่ามีการใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ทั้งในลูกอมและหมากฝรั่งที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอยู่บ้าง โดยสีอินทรีย์สังเคราะห์เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งใช้แต่งสีอาหารให้มีสีสันที่น่ารับประทานมากขึ้น ทั้งนี้หากร่างกายได้รับในปริมาณมากหรือบ่อยครั้งย่อมก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น สีจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ทำให้น้ำย่อยอาหารออกมาไม่สะดวก อาหารย่อยยาก เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขัดขวางการดูดซึมอาหาร ทำให้ท้องเดิน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ก่อให้เกิดภูมิแพ้หรืออาจมีอาการของตับ ไตอักเสบ และสีอินทรีย์สังเคราะห์บางชนิดอาจก่อให้เกิดมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่นๆ และอันตรายจากสารอื่นที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร เช่น โลหะหนัก นอกจากนี้ส่วนประกอบหลักของลูกอม คือ น้ำตาล หากบริโภคมากเกินไปโดยเฉพาะเด็กอาจทำให้ฟันผุหรือเป็นโรคอ้วนได้
“การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ลูกอมและหมากฝรั่งควรตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่าอยู่ในภาชนะบรรจุปิดสนิท ไม่มีร่องรอย ถูกเจาะหรือฉีกขาด มีฉลากแจ้งส่วนประกอบและเลขสารบบอาหารแสดงว่าผ่านการขึ้นทะเบียน อย. แล้ว เก็บไว้ในที่เย็นไม่อับชื้น ปิดสนิทป้องกันมดแมลง และไม่ควรซื้อลูกอมหรือหมากฝรั่งที่มีสีฉูดฉาดอาจมีการใช้สีที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร หรือใช้สีที่มีส่วนผสมหรือปนเปื้อนโลหะหนักเคลือบผิวเพื่อให้ดูน่ารับประทาน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว