แถลงจับ "อาจารย์ยอด-เฮียกุ่ย รัชดา" ดัดแปลงภาพขุนนาง ตุ๋นเหยื่อเช่าพระสมเด็จเก๊
กองปราบทลายศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน จับ อ.ยอด - เฮียกุ่ย รัชดา ตุ๋นเหยื่อเช่าพระ ยึดของกลางกว่า 66 รายการ
(28 ต.ค. 63) ที่กองบังคับการปราบปราม พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป. แถลงข่าวจับกุม นายธรรมยุทธ์ หรือ อ.ยอด กับพวกคือ นายสุขธรรม หรือ เฮียกุ่ย รัชดา และ นายไตรเทพ หลังนำภาพที่ดัดแปลงมาจากพระฉายาลักษณ์ พระรูปของพระบรมวงศนุวงศ์ และขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในอดีต อ้างว่าเป็นบุคคลอื่น เพื่อสร้างเรื่องราวและความเชื่อถือให้กับสิ่งของและพระเครื่อง (พระสมเด็จ) ที่จัดแสดงอยู่ภายในศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน จ.สงขลา จนทำให้มีผู้หลงเชื่อเดินทางมาเช้าชมและติดต่อขอเช่าพระเครื่องไปบูชา
พล.ต.ต.สุวัฒน์ เผยว่า เรื่องนี้ ทางกรมศิลปากร ได้มอบอำนาจให้ นางณิชชา (สงวนนามสกุล) เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.6 บกป. ให้ดำเนินคดีกับนายธรรมยุทธ์ กับพวก ในความผิดฐาน "ร่วมกันปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ หรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารจดหมายเหตุที่แท้จริง, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน มิใช่การกระทำความผิดหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน" ซึ่งก่อเหตุในลักษณะดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้จากการสืบสวนพบว่า มีภาพที่ดัดแปลงและจัดแสดงอยู่ในศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน ของนายธรรมยุทธ์ เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ นายธรรมยุทธ์ ยังแอบอ้างว่า หลวงวิจารณ์ เจียรนัย เป็นบรรพบุรุษของตนเอง และเป็นผู้แกะพิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังให้กับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี และภายหลังนายธรรมยุทธ์ กับพวกได้มีการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ผ่านทางช่องทางยูทูป
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม จึงได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและสืบสวนสอบสวนจนนำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ยึดของกลางกว่า 66 รายการ เช่น รูปภาพ , พระสมเด็จ , แม่พิมพ์พระ, กำไล , หนังสือพระหลวงวิจารณ์เจียรนัย และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งในเบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้ง 3 คนให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน
ด้าน นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ เผยว่า ทางหน่วยงานได้ตรวจสอบศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน ร่วมกับกองปราบ ซึ่งของที่ทางศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน จัดทำขึ้น และอ้างว่า มีอายุตั้งแต่ พ.ศ. 2412 - พ.ศ. 2415 นั้น จากการตรวจสอบ มีอายุไม่ถึงตามที่มีการกล่าวอ้าง
โดยตรวจสอบจาก สภาพของวัตถุ ความเก่า ความใหม่ และศึกษาจากการเปรียบเทียบสิ่งที่เคยมีมา รวมถึงของทุกสิ่งที่ตัดทำขึ้นไม่มีส่วนไหนที่ขอให้มีการรับรองจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ขณะที่ ผู้แทนจากหอจดหมายเหตุ เผยว่า ภาพถ่ายที่ศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน อ้างว่า เป็น หลวงวิจารณ์ เจียรนัย และนางเง็ก และอ้างว่ามีตราของหอจดหมายเหตุนั้น ยืนยันว่า ภาพดังกล่าวไม่ได้มาจากจดหมายเหตุแน่นอน และจากการตรวจสอบ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่า ภาพดังกล่าว เป็นตระกูลอื่น ซึ่งเจ้าของมายืนยัน บุคคลในภาพ แท้จริงแล้วคือ คุณหญิงบุญปั่น กับ พระยาราชมนตรี สิงหลกะ