แท๊กซี่ส่าหรี แหวกม่านประเพณี

แท๊กซี่ส่าหรี แหวกม่านประเพณี

แท๊กซี่ส่าหรี แหวกม่านประเพณี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : สุดา มั่งมีดี

อาชีพขับรถรับจ้างหรือแท๊กซี่ เป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญในเส้นทาง ความรู้และความระมัดระวังในการขับขี่ มาวันนี้ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งในอินเดีย

ได้ลุกขึ้นจัดทำโครงการ 'ฝึกผู้หญิงให้ทำหน้าที่สารถี' ฟังดูเป็นเรื่องท้าทาย สำหรับท้องถนนอันน่าหวาดเสียวในแดนภารตะ

แม่บ้านที่ถูกทารุณ หญิงหม้าย และแม่บ้านลูก 4 ที่อ่านเขียนไม่ออก อยู่ในกลุ่มสตรีอินเดียที่พยายามมองหาหนทางดำรงชีพ ด้วยการก้าวเข้าสู่โลกที่สงวนไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้น นั่นคือ โลกของคนขับรถแท๊กซี่ในกรุงนิวเดลี

สตรีเหล่านี้มาจากย่านที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่ง ในเมืองหลวงอันศิวิไลซ์ของอินเดีย และพวกเธอเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเปิดตัวบริการรถแท๊กซี่ที่ใช้วิทยุสื่อสาร โครงการแรกของแดนภารตะที่มีสตรีเป็นแกนนำ โดยคุณผู้หญิงเหล่านี้ตั้งเป้าจะจัดทำโครงการให้เป็นรูปเป็นร่างทันการแข่ง ขันกีฬาของประเทศในเครือจักรภพ ซึ่งจะมีขึ้นเดือนต.ค. 2553

โครงการนี้เป็นผลงานจากมันสมองของ มีนู วาเดรา แห่งมูลนิธิอาซัด ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานเพื่อสตรีด้อยโอกาสซึ่งแนวโน้มในการได้มีงาน ทำ หรือหากพอจะเรียกว่ามีแนวโน้มอยู่บ้าง ก็มักจำกัดอยู่แต่ในโลกของการเป็นคนรับใช้

"เรากำลังฝึกฝนสตรีกลุ่มหนึ่งจำนวน 9 คน และฝึกหัดให้อีกกลุ่มหนึ่งมีจำนวน 11 คน" วาเดราเล่า เป้าหมายของเธอนั้นคือการมีแท๊กซี่ที่ผู้หญิงทำหน้าที่สารถีจำนวน 5 คัน วิ่งโลดแล่นในท้องถนนภายในเดือนก.พ. จากนั้นก็เพิ่มจำนวนเป็น 20 คันให้ทันช่วงเปิดการแข่งขันกีฬา

"ดิฉันกำลังมองหาโครงการที่จะผสานการใช้ชีวิตหรือการดำเนินชีวิตสำหรับ พวกผู้หญิง เข้ากับแนวคิดของการมีแท๊กซี่มีผู้หญิงทำหน้าที่สารถี โดยสาวๆ เหล่านี้จะทำหน้าที่รับส่งผู้หญิงทำงานในกรุงนิวเดลี ให้ถึงที่หมายอย่างปลอดภัยและสบายหายห่วง" วาเดราอรรถาธิบาย

สำนักงานประวัติอาชญากรรมแห่งชาติเผยว่า ในบรรดาเมืองใหญ่ๆ ของอินเดียนั้น กรุงนิวเดลีจัดว่าแย่ที่สุดในแง่ของความรุนแรงต่อสตรีเพศ ด้วยจำนวนคดีกว่า 4,300 คดีที่มีการลงบันทึกไว้ช่วงระหว่างปี 2550-51

ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเองปลอดภัย บรรดาผู้หญิงทั้งสาวและไม่สาว จึงเข้ารับการฝึกอบรมการป้องกันตัวขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการฝึกอบรมที่โรงเรียนสอนขับรถมืออาชีพ ของบริษัทมารูติ ซูซูกิ อินเดีย อันเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของแดนภารตะ

การฝึกสอนนอกเหนือจากนี้ คือชั้นเรียนสอนการดูแลเสื้อผ้าหน้าผม มารยาท และการพูดภาษาอังกฤษ

"เป้าหมายคือการตั้งบริษัทที่ผู้หญิงมีหุ้นส่วนอยู่ด้วย วิธีนี้จะทำให้ดูไม่เหมือนเป็นมูลนิธิการกุศล แต่เป็นธุรกิจที่บริหารงานร่วมกัน" วาเดราแจกแจง

การที่อินเดียผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจชาติหนึ่งของโลก มีผลกระทบหรือผลต่อเนื่องเพียงเล็กน้อย ต่อสตรีที่ไม่มีทักษะ หรือสตรีที่ไม่รู้หนังสือจำนวนหลายล้านคน หญิงเหล่านี้มักต้องทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านหรือคนดูแลเด็ก คนป่วย คนชรา และรายได้จากงานประเภทนี้ก็มักไม่พอจุนเจือครอบครัว

นอกจากนั้น งานดังกล่าวยังมักไม่มีกฏระเบียบรองรับหรือไม่ได้รับการคุ้มครอง ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดหรือถูกเอารัดเอาเปรียบได้

"ผู้หญิงบางคนมาจากครอบครัวที่มีแต่เพศชายเท่านั้นที่ทำงานหาเลี้ยงครอบ ครัว ขณะที่บางคนก็มีภูมิหลังที่ดูแล้วไม่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานอาชีพเลย" ปูนัม บาลา ศาสตราจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดลี ระบุ

สำหรับรายของ ริตา วัย 24 นั้น เธอหนีออกจากบ้านและตัดขาดจากชีวิตสมรสที่ชอกช้ำเพราะถูกพ่อแม่สามีกดขี่มา นาน 7 ปี ปัจจุบันริตาอาศัยอยู่ที่บ้านเพื่อนในกรุงนิวเดลี และเห็นว่าโครงการแท๊กซี่สารถีหญิง เป็นเสมือนทางออกหลังจากเธอเจอทางตันทั้งในแง่ของสังคมและเศรษฐกิจ

"ฉันกระโจนเข้าหาแนวคิดนี้ทันที เพราะจะช่วยให้ฉันมีอิสรภาพและสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้" ริตาเล่า

ขณะที่ แชนโน เบกุม แม่หม้ายวัย 32 เล่าว่าลงชื่อเข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว

"สามีของฉันเสียชีวิตไปตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ฉันมีลูก 3 คนแล้วยังมีพ่อแม่สามีที่ต้องคอยเลี้ยงดูและดูแลอีก ฉันเคยทำงานเป็นพยาบาลส่วนตัวซึ่งได้ค่าจ้างเดือนละ 4,500 รูปี (ประมาณ 3,100 บาท) สำหรับการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน" แชนโนเล่า

"ทุกวันนี้ ฉันหาเงินได้ในจำนวนไล่เลี่ยกันภายในเวลาแค่ 8 ชั่วโมง และสามารถอุทิศเวลาที่เหลือให้กับลูกๆ"

สำหรับเอกตา คุณแม่วัย 28 ซึ่งมีลูก 4 คน โครงการสารถีแท๊กซี่ผู้หญิง เป็นเหมือนการเปิดประตูที่ครั้งหนึ่งเธอเคยคิดว่าปิดสนิทสำหรับตัวเอง ความที่ไม่รู้หนังสือและแต่งงานกับชายที่สมาชิกในครอบครัวมีหัวโบราณ

"การโน้มน้าวให้สามีของฉันอนุญาตให้ฉันทำงานนี้เป็นเรื่องยากมาก" เอกตาเล่าย้อนความหลัง "แต่ตอนนี้ฉันรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ คล้ายๆ กับมีความเป็นตัวของตัวเองหรือมีเอกลักษณ์ มากกว่าการทำหน้าที่แค่ภรรยาหรือแม่"

แม้ผู้เข้าโครงการนี้จะมีความยินดีปรีดากับบทบาทใหม่ แต่โครงการก็ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหา เพราะการขอใบอนุญาตขับแท๊กซี่เพื่อการพาณิชย์นั้น ต้องรอกันเป็นปีเลยทีเดียว ที่ผ่านมาวาเดราพยายามจ้างสารถีมาแก้ขัดในช่วงที่รอแท๊กซี่สาวๆ ที่ผ่านการฝึกมาอย่างดี แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก

"ดิฉันประเมินอคติทางเพศต่ำเกินไป" วาเดราอธิบาย พร้อมเล่าถึงคำถามที่คนมักหยิบยกขึ้นมา และก็เป็นคำถามเดิมๆ ประเภทที่ว่าจะไว้ใจได้หรือว่าผู้หญิงจะสามารถขับรถได้อย่างปลอดภัย และมาทำงานตรงเวลา

"ทั้งที่ดิฉันรับรองอย่างหนักแน่น แต่คนก็ยังไม่ค่อยมั่นใจเมื่อเห็นผู้หญิงทำหน้าที่ขับรถ ทั้งที่ความเป็นจริงมีการบันทึกไว้ว่า ผู้หญิงขับรถระมัดระวังมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงเคารพกฏจราจร ผู้หญิงไม่ดื่มเหล้าแล้วไปขับรถ และผู้หญิงไม่ทะเลาะวิวาทบนท้องถนนกับผู้ขับขี่คนอื่น" วาเดราระบุ

นอกจากนั้น คนขับรถแท๊กซี่ที่เป็นผู้ชายบางคนในกรุงนิวเดลี ยังไม่ชอบใจกับแนวคิดแท๊กซี่สารถีหญิง และตัดสินใจว่าปฏิกิริยาดีที่สุดที่พวกเขาจะมีได้ คือการเยาะเย้ยและดูแคลนคนขับรถเพศหญิง

"ลำพังแค่ให้ผู้หญิงขับรถส่วนตัวก็แย่พอแล้ว เพราะผู้หญิงใช้เวลาเป็นชาติกว่าจะกลับรถ เลี้ยวรถ ถอยรถ และจอดรถได้ แล้วพวกนี้จะเอาอะไรมาท้าทายหรือต่อกรกับเรา แค่ป่าวประกาศให้ทุกคนบนท้องถนนเตรียมตัวรับมือความวุ่นวายก็พอแล้ว" ปัมมา ซิงห์ ที่ทำธุรกิจแท๊กซี่ร่วมกับพี่น้อง พูดจาเย้ยหยัน

ฮีนา ข่าน สาววัย 22 ซึ่งเป็นสารถีอีกคนในโครงการของวาเดรา บอกว่าไม่ค่อยสนใจกับคำพูดทำนองสบประมาทแบบนี้ แต่ก็อดโมโหไม่ได้เพราะยังหารายได้พิเศษด้วยการขับรถไม่ได้เลย

"ฉันอดท้อใจไม่ได้ว่าหลังจากทำงานทุ่มเทมาอย่างหนัก เราก็ยังหางานทำไม่ได้ เพียงเพราะเราเป็นผู้หญิง ฉันทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวและหาเลี้ยงครอบครัวเพียงลำพัง การไม่มีงานทำก็หมายความว่าไม่มีเงินซื้อหาอาหาร" ข่านระบายด้วยท่าทางหนักใจ

เพราะยังมีสมาชิกอีก 10 ชีวิตในครอบครัว ที่รอให้เธอหาเลี้ยง

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากสำนักข่าวเอเอฟพี

 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ แท๊กซี่ส่าหรี แหวกม่านประเพณี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook