“อาชีวะก็คือประชาชน” เสียงฟันเฟืองขับเคลื่อนม็อบบนเส้นทางประชาธิปไตย
นับตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ขยายพื้นที่ออกไปทั่วประเทศ พร้อมจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาสังคมหลายประเด็นที่ถูกซุกไว้ใต้พรมถูกนำมาพูดถึงอย่างแพร่หลาย รวมทั้งการทลายเพดานการวิพากษ์วิจารณ์ผู้ใช้อำนาจในบ้านเมือง ด้วยฝีมือของคนรุ่นใหม่ในหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือ “นักเรียนอาชีวะ” ที่สงบศึกระหว่างสถาบัน มายืนแนวหน้าเป็นการ์ดรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม การแสดงออกทางการเมืองของนักเรียนอาชีวะก็ไม่ได้มาจากความเป็น “สายบู๊” เท่านั้น แต่พวกเขาออกมาในฐานะ “ประชาชน” ที่เผชิญกับความเหลื่อมล้ำ และทำทุกทางเพื่อทวงความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่
เพราะเป็น “อาชีวะ” จึงเจ็บปวด
นภควัฒน์ วันชัย หรือ ซี นักเรียนอาชีวะจากจังหวัดขอนแก่น วัย 17 ปี เล่าว่า นักเรียนอาชีวะส่วนใหญ่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาในชีวิตไม่ต่างจากนักเรียนสายสามัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎระเบียบของโรงเรียนที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของเด็ก การเหยียดเพศ หรือการบูลลี่ แต่ปัญหาที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คือหลักสูตรการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย อุปกรณ์การเรียนการสอนที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งปัญหาด้านงบประมาณที่ และยังสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคม
“สถานศึกษาอาชีวะ 429 แห่ง กับมหาวิทยาลัยดังๆ แค่ 7 แห่ง งบประมาณการลงทุนจะไม่เหมือนกันเลย ก็คือ ต่างกันอยู่ 9 พันล้านกว่าบาท ทีนี้มันก็แสดงให้เห็นแล้วว่างบประมาณปี 2564 มันไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่บอกว่าจะสนับสนุน” ซีอธิบาย
ด้านเอฟ ตัวแทนจากกลุ่มฟันเฟืองธนบุรี ที่เข้าร่วมการชุมนุม กล่าวว่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่นักเรียนอาชีวะต้องประสบ คือการขาดโอกาสที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เนื่องจากข้อจำกัดด้านหลักสูตรและระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
“บางคนก็อยากไปต่อสายเทคนิคระดับสูง เช่น วิศวกร เขาไม่สามารถที่จะเข้ามหาวิทยาลัยแบบเดียวกับที่สายสามัญเข้าได้ เพราะว่าตัวทรานสคริปต์วิชาต่างๆ ของ ม.ปลายไม่เหมือนกัน แล้วก็อาชีวะไม่สามารถสอบแข่งขันกับสายสามัญได้ เพราะว่าตัวเนื้อหาในการสอบทั้ง GAT และ PAT เราแทบไม่มีพื้นฐานเลย เนื่องจากพวกผมจะเรียนวิชาชีพ เป็นช่างฝีมือ อีกอย่างคือ สายอาชีวะต้องมีสอบเหมือนกัน คือ V-NET แต่ว่าไม่ได้ใช้งานครับ ใช้อะไรไม่ได้ด้วย โดนบังคับสอบด้วย แล้วก็เอาคะแนนมาอวดแปะหน้าโรงเรียนว่าคนนี้ได้คะแนนเต็มนะ” เอฟเล่า
นอกจากนี้ สังคมไทยที่ยังคงให้คุณค่ากับวุฒิปริญญาตรีเป็นหลักก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งของนักเรียนกลุ่มนี้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยซึ่งมุ่งผลิตผู้ที่มีทั้งความสามารถด้านวิชาการและการปฏิบัติ และแย่งชิงพื้นที่ของนักเรียนอาชีวะ ซึ่งเป็นสายปฏิบัติงานโดยตรง ทำให้เอฟมองว่า ค่านิยมเช่นนี้ส่งผลให้ไม่มีการแบ่งพื้นที่ในการทำงานระหว่างสายสามัญกับอาชีวะ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดแรงงานในระยะยาว
“อาชีวะเรียกว่าเป็นฝ่ายปฏิบัติการ ส่วนมหาวิทยาลัยจะเป็นงานวิจัยและพัฒนา แต่สังคมไทยกลับมองว่าทุกอย่างต้องเป็นการปฏิบัติการหมด ซึ่งมันไม่ใช่ พอมันไม่ได้แบ่งพื้นที่ระหว่างสายสามัญกับอาชีวะ ก็ทำให้แย่งตลาดแรงงานกันเอง แล้วก็ปิดตลาดแรงงานบางส่วนออกไป เช่น ถ้าเป็นบริษัทเกี่ยวกับอุตสาหกรรม มันควรจะมีฝ่ายวิจัยและพัฒนา ซึ่งบริษัทมหาชนจะมีกันหมด แต่ระดับบริษัทที่เป็นรับจ้างผลิตไม่มีเลย ในส่วนของประเทศไทย มีอุตสาหกรรมที่เป็นรับจ้างผลิตค่อนข้างเยอะกว่างานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ทำให้ตลาดแรงงานของไทยมันเกิดช่องว่างของแรงงาน ทำให้คนตกงานเยอะ เพราะมันไม่มีบริษัทที่เป็นอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาเลย มีแต่รับจ้างผลิต พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทุกที่ก็ต้องลดการผลิต มันก็เจ๊งกันหมด” เอฟอธิบาย
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่นักเรียนอาชีวะต้องเผชิญ คือภาพลักษณ์ของการเป็น “เด็กไม่เอาไหน” ในสายตาของสังคม ซึ่งส่งผลต่อทางเลือกในการทำงานและค่าตอบแทนที่น้อยกว่าผู้ที่เรียนจบสายสามัญ ประเด็นนี้ซีระบุว่า ที่จริงแล้วเด็กที่เรียนต่อในสายอาชีพอาจไม่ใช่เด็กเรียนไม่เก่ง แต่เป็นเพราะการเรียนสายสามัญไม่ได้ตอบโจทย์ในชีวิตของเด็กคนนั้นๆ เพราะฉะนั้น การเรียนสายอาชีวะจึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะเดินตามความใฝ่ฝันของเด็กมากกว่า
“เด็กอาชีวะทุกคนไม่ใช่เด็กเกเร ไม่ใช่เด็กที่ไม่เอาไหน แต่เด็กอาชีวะทุกคนกำลังตามหาความฝันอยู่ เขารู้ว่าเขาชอบอะไร เขารู้ว่าเขาจะทำเพื่ออะไร ทำเพื่อครอบครัว เด็กอาชีวะบางคนเรียนเอาวุฒิเพื่อไปสมัครงาน หาเงินมาเลี้ยงพ่อแม่ เอาเงินไปทำงานเพื่อที่บ้าน เด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน” ซีกล่าว
อาชีวะกับประชาธิปไตย
ท่ามกลางกระแสของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาแสดงจุดยืนด้านประชาธิปไตย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคคลที่อยู่ในสปอตไลต์มากที่สุดจะเป็นกลุ่มนักเรียนสายสามัญและนักศึกษามหาวิทยาลัย ขณะที่กลุ่มนักเรียนอาชีวะดูเหมือนจะอยู่เบื้องหลังมากกว่า แต่ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด สิ่งที่พวกเขามีไม่ต่างจากเยาวชนกลุ่มอื่นๆ คือการเป็น “ประชาชน” ที่ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ในสังคม และมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นตามแนวทางประชาธิปไตย
“ปัญหาที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดคือเรื่องของช่องว่างระหว่างชนชั้น ทั้งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงของชีวิต แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่ามันสำคัญที่สุดเลย คือคุณภาพชีวิตของคน ซึ่งมาจากเรื่องปลีกย่อยที่คนไม่ค่อยพูดถึงกัน คือเรื่องสิทธิของแรงงานหรือสวัสดิการต่างๆ เรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องเดียวกับความมั่นคงของชีวิต มันโยงไปถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างรัฐธรรมนูญตัวหลักๆ เลย” เอฟกล่าว
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักเรียนอาชีวะจึงหันมารวมตัวกันในนามของกลุ่มย่อยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฟันเฟือง กลุ่มอาสาโนฯ ปทุม กลุ่มอาชีวะเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มอาชีวะสามวา เป็นต้น และกระจายกำลังทำหน้าที่ต่างๆ ในการชุมนุม โดยมีหน้าที่หลักเป็นแนวหน้าคุ้มกันประชาชน โดยมีข้อตกลงหลักๆ ได้แก่ การงดทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบัน ไม่ใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ทำลายสิ่งของ ห้ามพกอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุม และที่สำคัญคือ เมื่อเกิดการปะทะ ให้การ์ดส่วนหนึ่งพาผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด อีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่ประวิงเวลาไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจับกุมผู้ชุมนุม และจะเป็นกลุ่มที่ออกจากพื้นที่เป็นกลุ่มสุดท้าย หลังจากที่ผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ออกจากพื้นที่หมดแล้ว
“เรื่องอันตรายกับประชาชนด้วยกันเองมันไม่มีอะไรอยู่แล้ว มีแต่อันตรายที่รัฐทำเราอย่างเดียว ถ้าเขาห่วงความปลอดภัยเรา เขาก็ไม่ต้องมาสลายการชุมนุม ปล่อยให้ชุมนุมไปเลย แล้วถ้าเกิดมันมีอาชญากรอะไรเข้ามา คุณก็แค่ตั้งป้อมรอจับ เดี๋ยวก็มีคนเอาไปส่งคุณเอง” เอฟกล่าว
สำหรับการทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบัน ที่เกิดขึ้นแทบทุกครั้งที่นักเรียนอาชีวะต่างสถาบันมาเจอกัน แต่ในการชุมนุมครั้งที่ผ่านๆ มากลับไม่มีเหตุรุนแรงลักษณะนี้เกิดขึ้นแต่อย่างใด ประเด็นนี้ ซีให้ความเห็นว่า เป็นเพราะนักเรียนอาชีวะแต่ละสถาบันมีจุดประสงค์เดียวกัน คือการออกมาสะท้อนปัญหาและส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปยังรัฐบาลนั่นเอง
“อาชีวะก็คือประชาชน อาชีวะคือฟันเฟืองของประเทศ ที่จะอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ถ้าศัตรูของรัฐบาลคือประชาชน อาชีวะทุกสถาบันก็มีศัตรูคนเดียวกัน คือรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ เพราะฉะนั้น เวลาที่เราออกไปชุมนุมเราก็เลยไม่ตีกัน เพราะ ณ ตรงนั้น เรามีจุดร่วมเดียวกันคือออกมาส่งเสียงไล่รัฐบาล”
ภาพของนักเรียนอาชีวะหลากหลายสถาบันที่มาร่วมแสดงพลังเรียกร้องประชาธิปไตยจึงกลายเป็นมุกตลกในโลกออนไลน์ที่ว่า “ถ้านายกรัฐมนตรีลาออก เด็กอาชีวะจะเลิกตีกัน” คำพูดติดตลกเช่นนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ เอฟมองว่า ที่ผ่านมานักเรียนอาชีวะต่างสถาบัน ที่มีมุมมองทางการเมืองเหมือนกัน ก็เคยออกมารวมตัวกันเพื่อแสดงออกทางการเมืองหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในสมัย นปช. หรือ กปปส. แต่หลังจากนั้น เยาวชนเหล่านี้ก็ยังคงทะเลาะวิวาทกันอยู่เหมือนเดิม เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารในสมัยก่อนไม่ได้สะดวกรวดเร็ว ทำให้นักเรียนอาชีวะไม่ได้เชื่อมโยงกันมากเท่าในปัจจุบัน
“ยุคนั้น การติดต่อสื่อสารมันไม่ได้เร็วเหมือนสมัยนี้ แยกย้ายกันก็แยกย้ายไปเลย กว่าจะกลับมาคุยกันได้ โอ้โห! หาทางติดต่อกันแทบตาย แต่สมัยนี้ เจอหน้ากัน แลกไลน์ แลกเฟซบุ๊ก เขาก็กลายเป็นกลุ่มไปเที่ยวด้วยกันก็มี ซึ่งผมหวังว่าช่วงเวลาแบบนี้จะอยู่ไปได้ยาวๆ เลยครับ” เอฟกล่าว
สำหรับมุมมองที่มีต่อการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในขณะนี้ ในฐานะที่ผ่านการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2549 เอฟกล่าวว่า การชุมนุมทุกวันนี้แม้จะไม่มีแกนนำหรือกลุ่มที่จัดการชุมนุมเป็นหลัก แต่ก็ถือว่ามีการจัดการที่ดีในระดับหนึ่ง ด้วยความวุ่นวายที่มีเพียงเล็กน้อย การชุมนุมไม่บานปลาย และการใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างผู้ชุมนุม ก็ทำให้การชุมนุมเป็นไปอย่างราบรื่น ในขณะที่ซีมองว่า ชัยชนะของผู้ชุมนุมในขณะนี้ เป็นชัยชนะจากการต่อสู้ทางความคิด
“สิ่งที่ประสบความสำเร็จมากเลยคือการต่อสู้ทางความคิด เด็กมหาวิทยาลัย นักเรียน มีความคิดที่จะต่อสู้ทางชนชั้นมากขึ้น ทำให้สังคมเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น ตั้งคำถามและออกมาต่อสู้เพื่อตัวเอง ผมคิดว่าปรากฏการณ์ม็อบทุกวันมันทำให้เราเห็นว่าเรามีส่วนร่วมในการออกมาเรียกร้อง ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม การที่คุณออกมา คุณก็มีส่วนร่วมแล้ว หนึ่งเสียงก็มีค่าครับ” ซีกล่าว
สังคมไทยที่เด็กอาชีวะอยากเห็น
เช่นเดียวกับนักเรียนสายสามัญและนักศึกษา นักเรียนอาชีวะเองก็มีภาพของสังคมที่ตัวเองอยากจะเห็น นั่นคือสังคมที่ยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และการมีรัฐสวัสดิการ ที่จะสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม
“ผมอยากจะเห็นสังคมที่เราพูดกันได้ทุกเรื่องแล้วไม่โกรธกัน เรามีความเท่าเทียมกันในทุกเรื่อง ทั้งการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ การคมนาคม ผมอยากได้สังคมที่ไม่มีคนตกงานแล้วมานั่งอยู่ในที่สาธารณะอย่างหัวลำโพง สนามหลวง หรือสวนลุมพินี เราอยากเห็นทุกคนมีที่อยู่ที่ดี เพราะถ้าทุกคนมีที่อยู่ที่ดี คนที่ออกมาเรียกร้องก็จะได้ที่อยู่ที่ดีกันหมด ทุกคนมีความสุขกันหมด มันอาจจะดูเป็นเรื่องเพ้อฝันนะ แต่ว่ามันควรจะเป็นอย่างนั้นน่ะครับ สำหรับผม ถ้าเราไม่ฝันถึงว่า ทุกคนจะมีความมั่นคงในชีวิต ต้องมีบางคนลำบาก มันก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย” เอฟกล่าว
“วันที่ 16 ผมเกือบได้ขึ้นพูดที่แยกปทุมวัน แต่เขามาสลายการชุมนุมก่อน ผมเสียใจมากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายประชาชน ผมเข้าใจความรู้สึกของนักศึกษา 14 ตุลา แล้วก็ 6 ตุลาเลย ผมไม่รู้ว่าผมจะตายไหม ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมต้องทำก็คือ ผมทำเพื่อส่วนรวม เพื่อคนที่ผมรัก มันเป็นความกลัวที่มีความกล้า เหมือนเป็นภารกิจหนึ่ง ขีดสุดของพวกเราอยู่ตรงไหน ผมก็จะขีดเอง เพราะสุดท้ายแล้วยังไงก็ต้องมีใครสักคนมาต่อสู้กับความมืด มือเราเปื้อนมลทิน แต่โลกเราจะสะอาด นี่คือภารกิจของเราครับ... หล่อเลย” ซีทิ้งท้ายพร้อมหัวเราะเสียงดัง