กก.อุทธรณ์ยืนคำสั่งเก็บภาษี โอ๊ค-เอม 1.2หมื่นล.

กก.อุทธรณ์ยืนคำสั่งเก็บภาษี โอ๊ค-เอม 1.2หมื่นล.

กก.อุทธรณ์ยืนคำสั่งเก็บภาษี โอ๊ค-เอม 1.2หมื่นล.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง โอ๊ค-เอม ยืนคำสั่งกรรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเกือบ 12,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นชินอคร์ปจากแอมเพิลริชฯราคา 1 บาท ก่อนขายให้เทมาเส็กฟันกำไรกว่า 15,000ล้านบาท 2พี่-น้อง ตระกูลชินวัตร มีเวลาฟ้องศาลภาษีภายใน 30 วัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยมติชนออนไลน์เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552ว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประกอบด้วยด้วยตัวแทนจากกรมสรรพากร สำนักอัยการสูงสุดและกรมการปกครองมีมติเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 ด้วยเสียงเอกฉันท์ให้ยกคำร้องของ นายพานทองแท้ ชินวัตรหรือ โอ๊ค และ น.ส.พินทองทา ชินวัตรหรือ เอม บุตรชายและบุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่อุทธรรณ์กรณีที่กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเงินได้ จำนวน 11,809,294,773 บาทจากบุคคลทั้งสอง ซึ่งซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)หรือชินคอร์ปจาก บริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด จำนวน 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีราคาหุ้นละ 49.25 บาท ทำให้บุคคลทั้งสองได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นเป็นเงิน 15,883.9 ล้านบาท(16,213.1 ล้านบาท-329.2 ล้านบาท)

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อกรมสรรพากรแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้บุคคลทั้งสองทราบ บุคคลทั้งสองมีเวลา 30 วันในการยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางเพื่อให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรรณ์ แต่ถ้าไม่ยื่นฟ้องภายใน 30 วันเท่ากับยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าว ต้องชาระภาษีเกือบ 12,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทาซึ่งเป็นกรรมการบริษัท แอมเพิลริชฯได้ซื้อหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปฯ จากบริษัท แอมเพิลริช ฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549จำนวนคนละ 164.6 ล้านหุ้น รวม 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท ก่อนที่จะขายหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้ง ของสิงคโปร์ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท พร้อมกับหุ้นชินคอร์ปทั้งหมดของตระกูลชินวัตร

หลังจากนั้น คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ได้เข้าตรวจสอบกรณีดังกล่าว เห็นว่า นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัท แอมเพิลริชฯ ซื้อหุ้นที่เป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ผลต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาตลาดหุ้นละ 48.26 บาท ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538

ฉะนั้น นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ต้องนำเงินได้จากประโยชน์ที่ได้จากการซื้อหุ้นได้ในราคา ต่ำกว่าราคาตลาดจำนวน 15,883.9 ล้านบาทไปรวมคำนวณเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และชำระภาษีอากรประจำปีภาษี 2549ซึ่ง คตส.ได้ ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรติดตามการเสียภาษีเงินได้ปีภาษี 2549ของบุคคลทั้งสองดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2550

ปรากฏว่า เมื่อถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2550 บุคคลทั้งสอง ไม่ได้นำเงินได้ดังกล่าวมารวมชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงได้ออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2549 ของนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 และประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2549 พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากนายพานทองแท้ ชินวัตร เป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 5,904,791,172.29 บาท น.ส. พินทองทา ชินวัตร เป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 5,904,503,601.13 บาท รวมเกือบ 12,000 ล้านบาท

ต่อมาบุคคลทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2550 และขอทุเลาการเสียภาษีอากรในขณะอุทธรณ์ไว้ด้วย ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ประชุมพิจารณาเรื่องนี้หลายครั้งใช้เวลากว่า 2 ปี จึงมีมติให้ยกคำร้องของบุคคลทั้งสอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook