พท.จี้รัฐบาลยุบสภาทันที หลังแก้รธน.

พท.จี้รัฐบาลยุบสภาทันที หลังแก้รธน.

พท.จี้รัฐบาลยุบสภาทันที หลังแก้รธน.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาร์ค ยันไม่ได้เสนอตั้ง ส.ส.ร. ให้สภาทำกันเอง แต่ควรทำประชามติ สภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉลุยแล้ว  มติวิป 3 ฝ่ายหนุนแก้รธน. 6 ปม

ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย ประกอบด้วย วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา มีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ประเด็น

โดยนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช วิปวุฒิสภา และนายประเกียรติ นาสิมมา วิปฝ่ายค้าน แถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันที่ 23 กันยายน นายชินวรณ์กล่าวว่า ทุกฝ่ายจะร่วมกันลงชื่อสนับสนุนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ ส่วนกระบวนการและวิธีการดำเนินการแก้ไขนั้น มอบให้วิปแต่ละฝ่ายไปศึกษาและหาวิธีการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อนที่จะนำข้อสรุปของวิปทั้ง 3 ฝ่ายมาหารือกันนอกรอบอีกครั้งในวันที่ 24 กันยายน เวลา 14.00 น. เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่แท้จริง ทั้งนี้เชื่อว่าจะมีความชัดเจนถึงกรอบและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ฯได้หยิบยกประเด็นการแก้ไขมาตรา 291 ขึ้นมาหารือ และเห็นว่าไม่ควรมีการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรที่จะมีขึ้นในขณะที่บรรยากาศการเมืองดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ หรือหลังจากมีการเลือกตั้งใหม่

"ข้อเสนอของนายกฯ เรื่องการตั้ง ส.ส.ร.นั้น ไม่ได้มีรูปแบบเช่นเดียวกับ ส.ส.ร.2 แต่เป็นเพียงคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นอย่างเร่งด่วนที่มีที่มาจาก 4 ฝ่าย คือ ส.ส. ส.ว. ตัวแทนจากอดีต ส.ส.ร.2540 ตัวแทนจากอดีต ส.ส.ร.2550 หรือฝ่ายวิชาการ เพื่อพิจารณายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นเท่านั้น ไม่ได้มาทำหน้าที่ในการยกร่างใหม่ตามที่มีการเข้าใจกัน" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

พท.ให้ยุบสภาหลังรื้อเสร็จ

นายประเกียรติกล่าวว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) จะประชุมหารือกันเป็นการภายในช่วงเช้าวันที่ 24 กันยายน ก่อนนำข้อสรุปของวิปฝ่ายค้านเสนอต่อที่ประชุม 3 ฝ่ายต่อไป ทั้งนี้ หนึ่งในข้อเสนอที่ฝ่ายค้านจะเสนอต่อที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย คือ หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นเรียบร้อยแล้ว เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก่อนที่จะให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอีกครั้งหนึ่ง

"ฝ่ายค้านเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น สามารถทำได้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือนเท่านั้น เพราะร่างแต่ละฝ่ายก็มีพร้อมแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าที่ประชุมจะนำร่างของวิปทุกฝ่ายทั้ง 3 ฉบับมาพิจารณาพร้อมกัน หรือพิจารณาเพียงร่างเดียว" นายประเกียรติ กล่าวและว่า ไม่จำเป็นต้องทำประชามติประชาชน เพราะคณะกรรมการสมานฉันท์ฯได้ดำเนินการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนมาแล้ว จึงมีผลสรุปอยู่ที่ 6 ประเด็น

"เลิศรัตน์"บอกอย่างน้อยต้อง1ปี

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดรัฐบาลถึงมีท่าทีโอนอ่อนตามมติของวิปฝ่ายค้านในการแก้ไขทั้ง 6 ประเด็น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยืนยันให้มีการทำประชามติ หรือตั้ง ส.ส.ร.3 เท่านั้น นายประเกียรติกล่าวว่า เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่อยู่เบื้องหลังบงการการทำงานของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่ต้องทำตามความต้องการของคนเหล่านั้น โดยเฉพาะบุคคลที่มีอำนาจอยู่นอกรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้เชื่อว่ารัฐบาลเองก็คงจะเริ่มรู้ตัวว่า หากยื้อเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป อาจจะทำให้รัฐบาลอายุสั้นลงกว่าเดิม

ด้านพล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญกันจริงๆ 6 เดือนก็น่าจะเสร็จ แต่จะเสียเวลากับการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อย่างน้อยต้องใช้เวลา 1 ปี ดังนั้นรัฐบาลไม่ต้องกังวลว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จแล้วจะถูกกดดันให้ยุบสภา

"มาร์ค"ยันไม่ได้เสนอตั้งส.ส.ร.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 64 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐ และการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม จี-20 พิตส์เบิร์ก ซัมมิท ที่นครพิตส์เบิร์ก ระหว่างวันที่ 21-27 กันยายนนี้ ให้สัมภาษณ์จากประเทศสหรัฐด้วยระบบเว็บคอนเฟอเรนซ์ มายังศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล กรณีพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับแนวคิดตั้ง ส.ส.ร.3 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า "ข้อเสนอของผมไม่ได้พูดถึงการตั้ง ส.ส.ร. แต่บอกว่าสภาจะทำกันเองก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นทุกพรรคต้องตกลงกันและต้องมีร่างแก้ไขร่างเดียว มิฉะนั้นจะเป็นการขัดแย้งกันเองระหว่างนักการเมือง อีกทั้งร่างที่สภาทำกันเอง เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าให้การยอมรับ ก็ควรทำประชามติก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งผมได้เคยพูดคุยกับพรรคภูมิใจไทย พรรคภูมิใจไทยก็ไม่ได้มีข้อขัดข้องเรื่องการทำประชามติ"

นายอภิสิทธิ์ ยังตอบคำถามที่มีการโหวตจากประชาชนผ่านเว็บไซต์นายกรัฐมนตรีไทย www.pm.go.th กรณีประชาชนไม่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญ โดยให้แก้ที่คุณธรรมจริยธรรมนักการเมืองดีกว่าว่า เห็นด้วยในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมว่าทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองด้วยกันเอง จะปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร แต่การแก้รัฐธรรมนูญ คิดว่ามีเหตุมีผลในบางประเด็น อีกทั้งมีหลายฝ่ายเรียกร้องและมีการศึกษามา แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเห็นด้วยจริงๆ ก็นำไปสู่การทำประชามติ หมายความว่า ถ้าประชาชนอยากให้แก้จริงก็แก้ได้ แต่ถ้าประชาชนไม่อยากให้แก้ การแก้ไขก็ไม่ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าน่าจะเป็นทางออกและคำตอบที่ดีที่สุด

สำรวจเสียงส.ว.3แนวทาง

ต่อมาเวลา 13.30 น. นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี รองประธานวิปวุฒิสภาคนที่ 1 และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา วิปวุฒิสภา ได้นำมติของวิป 3 ฝ่าย มาแจ้งต่อที่ประชุมวิปวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่ประชุมมีการทักท้วงว่า วิปวุฒิสภาที่เข้าร่วมประชุมวิป 3 ฝ่ายจะอ้างความเป็นตัวแทนของ ส.ว.ทั้งหมดไม่ได้ ทำให้บรรยากาศการประชุมเริ่มตึงเครียด อาทิ นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ตัวแทนวิปวุฒิสภาจะไปแจ้งแบบนี้ เร่งรีบไปหรือไม่ ควรให้ในคณะกรรมาธิการสามัญแต่ละคณะไปหารือกันก่อน ส่วน นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ ส.ว.สุรินทร์ กล่าวว่า วิปวุฒิสภารู้ได้อย่างไร ส.ว.ทั้งหมด เอาทั้ง 6 ประเด็น ฉะนั้นต้องให้เกียรติและฟัง ส.ว.ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิคมได้ไกล่เกลี่ยว่า จะส่งเอสเอ็มเอส (ข้อความสั้น) ให้ ส.ว. รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ระดมโทรศัพท์ไปแจ้ง เพื่อสอบถามว่า 1.เห็นด้วยหรือไม่ว่าจะแก้ 6 ประเด็น 2.ให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเป็นผู้ยกร่าง และ 3.เห็นด้วยว่าจะให้ทำประชามติด้วยหรือไม่ โดยให้ ส.ว.ตอบกลับมาก่อนเที่ยงวันที่ 24 กันยายน เพื่อให้ตัวแทนวิปวุฒิสภาไปแจ้งกับวิป 3 ฝ่าย หากใครไม่ตอบกลับมาถือว่าเห็นด้วย

สภาไฟเขียวกม.ประชามติ

ขณะที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภา เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันพิจารณาแล้วเสร็จ โดยที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง สุดท้ายที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 238 ต่อ 55 งดออกเสียง 6 ไม่ลงคะแนน 4 แต่คะแนนเสียงที่เห็นชอบซึ่งเกินกึ่งหนึ่งเพียง 1 เสียง ทำให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล ได้ทักท้วงให้มีการนับคะแนนใหม่ โดยให้เหตุผลว่า เกิดความสับสนในการลงคะแนนที่มีสมาชิกขอเพิ่มชื่อภายหลัง ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประท้วงว่าการกระทำดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญที่ระบุชัดให้การลงคะแนนสำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในครั้งที่สองจะต้องทำโดยวิธีขานชื่อเท่านั้น แต่นายชัย ยังคงยืนยันว่า จะให้นับคะแนนใหม่พร้อมรับผิดชอบเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประท้วงว่า ได้เตือนประธานแล้วว่า ไม่ควรสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ เพราะการลงมติครั้งแรกเป็นความสับสน ถือว่าเป็นโมฆะ จึงสามารถสั่งให้มีการลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่งได้ โดยไม่ต้องเสนอญัตติ ซึ่งเมื่อนายชัยรู้ว่าตัวเองดำเนินการผิดพลาดและอาจส่งผลให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ตกเป็นโมฆะได้ นายชัยจึงได้ขอร้องให้นายชินวรณ์ถอนการเสนอญัตตินับคะแนนใหม่ ซึ่งนายชินวรณ์ก็ยอมปฏิบัติตามแต่โดยดี และในช่วงเวลาดังกล่าวบรรดาวิปรัฐบาลได้ประสานไปยังรัฐมนตรีหลายคนที่อยู่ในห้องประชุมให้ช่วยโหวตลงคะแนนในครั้งนี้ด้วย ในที่สุดที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 243 ต่อ 23 งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน 2

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook