รู้จัก โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46

รู้จัก โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46

รู้จัก โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายโจ ไบเดน หรือชื่อเต็ม โจเซฟ รอบิเนตต์ ไบเดน จูเนียร์ ชื่อนี้อาจคุ้นหูผู้ที่ติดตามการเมืองสหรัฐบ้างแล้ว เพราะเขาเคยเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยนายบารัก โอบามา

กว่าจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ นายไบเดนมีคะแนนขับเคี่ยวกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ชนิดที่ว่าต้องจับตามองตลอดเวลา

แม้ผลการนับคะแนนมีทีท่าว่านายทรัมป์จะชนะ จนหลายฝ่ายเริ่มถอดใจ นายไบเดนก็ยังโพสต์ในโซเชียลมีเดียให้ทุกคนมองโลกในแง่ดีและหวังต่อ จนกระทั่งคะแนนเริ่มกลับมานำในรัฐกลุ่มสุดท้าย คือ รัฐวิสคอนซิน และมิชิแกน ที่ทำให้กวาดเสียงคณะผู้เลือกตั้งแทน (อิเลกโทรอล คอลเลจ) ครบ 270 คนในที่สุด เมื่อรัฐเพนซิลเวเนีย ที่นายทรัมป์นำในตอนแรก พลิกกลับมาเป็นนายโจ ไบเดน ในช่วงท้าย

ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 รายนี้ เกิดเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2485 ที่เมืองสแกรนตัน รัฐเพนซิลเวเนีย เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ และ ด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์

จากสภาเขตรัฐ สู่วุฒิสภาระดับชาติ

หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่การเมืองด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเขตนิวแคสเซิล ในรัฐเดลาแวร์ และขยับมาลงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐในเวลาต่อมา ซึ่งชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2515

ขณะเป็นวุฒิสภา นายไบเดนยังเป็นกรรมาธิการด้านการต่างประเทศมาอย่างยาวนาน ระหว่างนั้นยังเป็นผู้ที่คัดค้านการทำสงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อปี 2534 และสนับสนุนการขยายองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ให้เปิดรับสมาชิกจากประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก และเห็นด้วยกับการให้สหรัฐเข้าร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แทรกแซงสงครามในยูโกสลาเวียอีกด้วย

แม้นายไบเดนสนับสนุนการอนุมัติให้สหรัฐใช้กำลังบุกประเทศอิรักเมื่อปี 2545 แต่ก็ไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดการเพิ่มกำลังทหารในอิรักเมื่อปี 2551

John Moore/Getty Imagesนายโจ ไบเดน พูดคุยกับนาวิกโยธินสหรัฐ ก่อนการประชุมร่วมกันของเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลสหรัฐและอิรัก และผู้นำศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2550 ในเมืองรามาดี จ.อันบาร์ ประเทศอิรัก

ไม่ใช่แค่นั้นนายไบเดนยังเคยเป็นประธานกรรมาธิการด้านกฎหมาย ของวุฒิสภาสหรัฐ ระหว่างปี 2530-2538 เป็นผู้นำในความพยายามผ่านกฎหมายว่าด้วยการบังคับใช้กฎมายและควบคุมอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง และกฎหมายต่อต้านความรุนแรงต่อสตรี

ก้าวขึ้นสู่รองประธานาธิบดีสมัยโอบามา

ผลงานที่โดดเด่นเหล่านี้ ทำให้นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 44 เลือกนายไบเดน ลงชิงชัยคู่กับตน จนนายโอบามาชนะการเลือกตั้งผู้นำประเทศเมื่อปลายปี 2551 และนายไบเดนก็ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนถึงปี 2560

นายไบเดนสนับสนุนการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันมาก จนออกตัวเกินหน้าเกินตานายโอบามาระหว่างการให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์เอบีซีของสหรัฐเมื่อปี 2555 ทำให้นายไบเดนเข้าไปขอโทษนายโอบามา แต่นายโอบามากลับมองว่าสิ่งที่นายไบเดนแสดงออก ทำให้เห็นว่านายไบเดนเป็นคนใจกว้าง และตอบสนองออกมาอย่างที่รู้สึกจริงๆ

ต่อมาเมื่อปี 2560 หลังพ้นตำแหน่ง ก็ยังร่วมมือกับ เลดี้กากา สนับสนุนแคมเปญต่อต้านการใช้ความรุนแรงทางเพศ ที่ใช้ชื่อว่า "It's on Us (อิตส์ ออน อัส)"

Drew Angerer/Getty Imagesอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ นายบารัก โอบามา (ซ้าย) และนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 (ขวา) ทักทายกันโดยรักษาระยะห่างทางสังคม ในตอนท้ายของการหาเสียงที่โรงเรียนมัธยมปลายนอร์ธเวสเทิร์น เมืองฟลินท์ รัฐมิชิแกน เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา

เส้นทางล้มทรัมป์

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ปีนี้ นายไบเดนก็ประกาศว่าตนจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในนามพรรคเดโมแครต ซึ่งก็ได้รับการจับตามองว่าน่าจะเป็นตัวเต็ง และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เมื่อสมาชิกพรรคเห็นชอบให้นายไบเดนเป็นผู้ไปต่อกรกับนายทรัมป์

แน่นอนว่าการแข่งขันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เพราะหลังจากนั้น ก็มีข่าวฉาวเกี่ยวกับธุรกิจและผลประโยชน์ในยูเครนของนายฮันเตอร์ ไบเดน ลูกชายของตนปรากฏขึ้นมาในหน้าข่าว หลังจากนายทรัมป์ต่อสายคุยกับประธานาธิบดียูเครน นายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ให้ช่วยขุดคุ้ยธุรกิจของนายฮันเตอร์ เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐ

ไม่ใช่แค่นั้น ยังปรากฏภาพนายไบเดนต่อว่าผู้เห็นต่างอย่างรุนแรงขณะไปหาเสียงที่เมืองนิวแฮมป์ตัน รัฐไอโอวาอีกด้วย เมื่อผู้ฟังปราศรัยคนหนึ่งถามคำถามเกี่ยวกับอายุและธุรกิจของลูกชายของนายไบเดนในยูเครน

อย่างไรก็ตาม นโยบายที่แตกต่างจากนายทรัมป์ อย่างเช่น การสนับสนุนให้สหรัฐกลับเข้าสู่สนธิสัญญาปารีส เกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลก ที่นายทรัมป์พาสหรัฐถอนตัวออกมา เรื่อยไปจนถึงการเปิดกว้างต่อผู้อพยพที่มากกว่า และการขยายระบบประกันสุขภาพ 

Mark Makela/Getty Imagesนางคามาลา แฮร์ริส สมาชิกวุฒิสภารัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวกับผู้สนับสนุนในการหาเสียงเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี 1 วัน ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย

นอกจากนี้ นายไบเดน ยังประกาศเมื่อเดือน มี.ค. ว่าจะเสนอชื่อผู้หญิงเป็นรองประธานาธิบดีอีกด้วย จนเมื่อเดือน ส.ค. ก็ประกาศชื่อออกมาว่านางคามาลา แฮร์ริส สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐแคลิฟอร์เนีย พรรคเดียวกัน จะเป็นคู่ไปชิงชัยเพื่อล้มนายทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดนี้

การเดินทางมาสู้ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ ไม่ง่ายเลย เพราะหลังจากการนับคะแนนการเลือกตั้งยืดเยื้อ เพราะผลที่ออกมาสูสีมาก ชนิดที่เรียกได้ว่าคาราคาซัง เพราะนายไบเดน แม้จะได้รับเสียงจากผู้เลือกตั้งแทนแล้วถึง 264 เสียง มากกว่านายทรัมป์ที่ 214 เสียง แต่ก็ยังขาดอีก 6 เสียง จึงจะถึงเกณฑ์ 270 เสียง ที่ได้เป็นประธานาธิบดีอย่างแน่นอน

จนกระทั่งคืนวันเสาร์ (7 พ.ย.) รัฐเพนซิลเวเนีย ก็ประกาศว่า นายไบเดนได้รับเสียงคณะผู้เลือกตั้งแทน 20 เสียงของทั้งรัฐ เพราะแม้ตอนแรกนายทรัมป์จะนำมาโดยตลอด แต่เมื่อนำบัตรเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์มานับด้วย คะแนนนายไบเดนก็ค่อยๆ ไล่ตาม จนแซงในที่สุด

เสียงผู้เลือกตั้งแทนที่มีอยู่ 264 เสียง จึงเพิ่มมากเป็น 284 เสียง ชนะการเลือกตั้งสหรัฐปี 2563 ไปอย่างลุ้นระทึก ซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีรายนี้จะเข้าพิธีสาบานตนในเดือน ม.ค. ปีหน้า

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook