ตั้ง3ผู้พิพากษาสอบคำพิพากษากล้ายางรั่ว

ตั้ง3ผู้พิพากษาสอบคำพิพากษากล้ายางรั่ว

ตั้ง3ผู้พิพากษาสอบคำพิพากษากล้ายางรั่ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลฎีกา สั่งสำนักงานศาลยุติธรรม เสนอตั้งผู้พิพากษาระดับสูง 3 คน เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังหลายกระแสวิจารณ์คำพิพากษากล้ายางรั่วก่อนอ่าน สราวุธ รองเลขาธิการสำนักงานศาล แจง กก.สอบ มีอำนาจถามองค์คณะทั้ง 9 - เจ้าหน้าที่ - คนภายนอก ก่อนต้องสรุปความเห็นเสนอ ปธ.ศาลฎีกา รั่วจริงหรือไม่ ระบุ ด้าน ปธ.แผนกคดีนักการเมือง มั่นใจระบบรักษาความลับคำพิพากษา เชื่อคาดเดากันเอง

(24ก.ย.) ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 อาคารศาลอาญา นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ภายหลังการอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตกล้ายาง แล้วมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำพิพากษารั่ว เพราะผลคำพิพากษาไปตรงกับที่มีการคาดคะเนไว้นั้น เรื่องนี้นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงมอบหมายให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการเสนอเรื่องเพื่อที่จะได้ลงนามในคำสั่งตั้งผู้พิพากษาระดับสูงจำนวน 3 คน เป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวว่ามีบุคคลภายนอกรู้ผลคำพิพากษาก่อนที่องค์คณะจะอ่านจริงหรือไม่

โดยคณะกรรมการฯ ที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้ง จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ม.68 ที่กำหนดให้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นโดยไม่ชักช้า และตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ (ก.ต) ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนชั้นต้น พ.ศ.2544 ที่กำหนดให้คณะกรรมการต้องสอบสวนข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่ามีการรู้ผลคำพิพากษาก่อนศาลฎีกาฯอ่านจริงหรือไม่

เมื่อถามว่าคณะกรรมการฯ จะต้องสอบถามองค์คณะผู้พิพากษาคดีทุจริตกล้ายางทั้งคณะด้วยหรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ จะเชิญองค์คณะท่านใดมาสอบถาม รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องทุกคน นอกจากนี้คณะกรรมการยังสามารถเรียกบุคคลภายนอกที่เคยกล่าวถึงผลคำพิพากษาว่าจะออกมาอย่างที่มีการอ่านคำพิพากษาเพื่อมาให้ข้อเท็จจริง หรือส่งผู้แทน ส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวน ให้คณะกรรมการได้ โดยอาศัยอำนาจตาม ประกาศ ก.ต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวน ม.71 ที่ให้อำนาจคณะกรรมมีอำนาจเทียบเท่ากับพนักงานสอบสวน ตาม ป.อาญา

ต่อข้อถามที่ว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นจะต้องพิจารณาถึงสาเหตุว่า ถ้ามีผู้ล่วงรู้เป็นเพราะมีการพูดคุยเฉพาะผู้พิพากษาแล้วมีเจ้าหน้าที่ได้ยินแล้วล่วงรู้ถึงบุคคลภายนอก หรือเป็นการจงใจ นายสราวุธ กล่าวว่า การสอบสวนข้อเท็จจริง ก็จะพิจารณาประเด็นทั้งหมดว่ามีการล่วงรู้คำพิพากษาก่อนอ่านหรือไม่ ถ้ามีเป็นการจงใจนำคำพิพากษาไปบอกหรือไม่ หากจงใจก็ถือว่ากระทำผิดประมวลจริยธรรม และระเบียบอยู่แล้ว เพราะคำพิพากษาเป็นความลับจนกว่าจะอ่านอย่างเปิดเผย ซึ่งการจงใจทำผิดมีโทษทางวินัย ทั้งนี้หากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง พบว่าถ้ามีการรั่วไหลจริง โดยมีผู้เกี่ยวข้อง ก็จะต้องเสนอรายงานให้ประธานศาลฎีการับทราบเพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป แต่ถ้าไม่พบความผิดปกติ เรื่องก็ยุติไป

"การตรวจสอบนี้เพื่อให้สังคมเข้าใจ โดยไม่ต้องสงสัย เพราะเวลานี้มีคนพูดกันว่ารั่วหรือเปล่า จึงตรวจสอบให้ชัดเจน เพราะยังอีกหลายคดีที่ศาลรอตัดสิน เรื่องนี้ที่ศาลดำเนินการ ขอย้ำว่าดำเนินการมาก่อนแล้ว ไม่เกี่ยวว่าวันนี้มีใครมายื่นเรื่องให้ตรวจสอบ " รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าวย้ำ

นายพงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวกรณีที่มีผู้วิจารณ์เกี่ยวกับผลคำพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายาพารางที่ผลออกมา 8 ต่อ 1 โดยล่าสุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ตั้งข้อสังเกตุว่าอาจเป็นความบังเอิญ หรือระบบเก็บความลับไม่ได้จนมีข่าวรั่ว ว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากระบบจัดเก็บคำพิพากษาของศาลฎีกาถือว่ามีความรัดกุม และสมบูรณ์เต็ม 100 % แต่น่าจะเป็นเรื่องของการคาดเดามากกว่า โดยการคาดเดา เช่นการเดาจากสถิติคดีเก่า ๆ ที่ศาลเคยมีคำพิพากษามาแล้ว ซึ่งการจัดเก็บคำพิพากษานั้นเวลานี้ถือว่าระบบศาลฎีกาดีที่สุด 100 %

ถามว่า การที่มีผู้วิจารณ์เกี่ยวกับผลคำพิพากษาทำนองว่ามีการั่วไหล แล้ววันนี้กระทบศาล จะมีการดำเนินคดีหรือไม่ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า การวิจารณ์เกี่ยวกับผลคำพิพากษานั้นก็ทำได้ภายใต้ขอบเขตที่ไม่กระทบบุคคลอื่น แต่หากวิจารณ์เกินขอบเขต กฎหมายก็มีกระบวนการที่สามารถดำเนินได้อยู่แล้ว ขณะที่ศาลได้ทำหน้าที่หลักในการพิพากษาคดีอย่างเป็นอิสระ โดยผู้พิพากษาไม่ต้องการออกพูดอะไรหรือโต้กับใคร เพราะไม่ต้องการให้เกิดการโจมตีกันไปมา

ขณะที่วันเดียวกันนี้ ที่ศาลฎีกา สนามหลวง นายพิชา วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทศไทยและเครื่อข่ายฯ และสมาชิกชมรม เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อ นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการตุลาการ ผ่านนายวิชัย อริยะนันทกะ เลขาธิการประธานศาลฎีกา เพื่อขอให้พิจารณาตรวจสอบองค์คณะผู้พิพากษาในคดีทุจริตกล้ายางทั้ง 9 คน และเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง ตามหนังสือสรุปว่า ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาคดีทุจริตซื้อกล้ายาง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2552 เวลา 14.00 น. แต่เพราะเหตุใดก่อนมีคำพิพากษา นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงได้ทราบผลของคดีเป็นการล่วงหน้าว่าจะยกฟ้องจำเลยทั้งหมด โดยเฉพาะนายเนวิน ชิดชอบ จะมีมติ 8 ต่อ 1 ซึ่งตรงกับข่าวที่สื่อมวลชนหลายฉบับ อีกทั้งตรงกับคำปราศรัยฯ และการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรของนายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็ตรงกับผลของคำพิพากษาของศาลฎีกา ทั้งนี้ นายวิชัย อริยะนันทกะ เลขาธิการประธานศาลฎีกา เป็นผู้รับมอบหนังสือดังกล่าวไว้

ภายหลัง นายพิชา กล่าวว่า หลังจากที่ยื่นเรื่องต่อประธานศาลฎีกาแล้ว จะเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินขององค์คณะผู้พิพากษาคดีทุจริตกล้ายาง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ม.39 (12) ต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook