กลุ่มทวง พระวิหาร นัดถกจ่อเคลื่อนอีก27ก.ย.

กลุ่มทวง พระวิหาร นัดถกจ่อเคลื่อนอีก27ก.ย.

กลุ่มทวง พระวิหาร นัดถกจ่อเคลื่อนอีก27ก.ย.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"มาร์ค"มั่นใจแก้ปัญหาเขาพระวิหาร ไม่กดดันแดงกระนาบตีอีกแรง ต้นตอความวุ่นวายมาจากแถลงการณ์ร่วม เตือน แดง-เหลือง รักชาติแบบอย่าตีกันเอง "สุเทพ" เตรียมจับเข่าคุย "ฮุนเซ็น" เคลียร์ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน . ย้อนเสื้อแดงปูดข่าวเขมรสร้างถนน เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลก่อน กลุ่มทวงพระวิหารนัดถกจ่อเคลื่อนอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวบริเวณวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ด้านทิศตะวันตกของปราสาทพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ มีทหารเขมรตรึงกำลังอยู่จำนวนมาก และล้วนเป็นทหารเคยสังกัดกองกำลังทหารเขมรแดงของนายพล ตา ม็อก อดีตผู้นำเขมรแดง ที่มาประจำการเมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งทหารไทยเฝ้าสังเกตความเคลื่อนไหวนี้อย่างใกล้ชิด

นายวีระยุทธ ดวงแก้ว กำนัน ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มชาวบ้านในเขต ต.เสาธงชัย ที่บ้านภูมิซรอล ทำให้บรรยากาศบริเวณบ้านภูมิซรอลและการค้าขายค่อนข้างเงียบเหงาซบเซาลงกว่าเดิม ชาวบ้านยังไม่หายจากอาการหวาดผวา การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวบริเวณนี้ จะต้องเปิดอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวชมได้

นายสมาน ศรีงาม แกนนำกลุ่มธรรมยาตราทวงคืนแผ่นดินไทยบริเวณเขาพระวิหาร กล่าวว่า จะประชุมแกนนำเพื่อระดมความคิดเห็นเคลื่อนไหวทวงคืนแผ่นดินไทยบริเวณเขาพระวิหาร ในวันที่ 27 กันยายน เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเกษสิริ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ และจะหาแนวทางสันติวิธีในการขับเคลื่อน ไม่ใช้วิธีการรุนแรงเหมือนเหตุการณ์ที่บ้านภูมิซรอลอเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมาอย่างเด็ดขาด

นายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ แถลงเมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่รัฐสภา เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการเจรจากับกัมพูชาในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากขณะนี้กัมพูชาได้มีการเซ็นสัญญาเปิดสัมปทานขุดน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนให้กับประเทศญี่ปุ่น โดยมีผลประโยชน์มูลค่าหลายแสนล้านบาท ทั้งๆที่พื้นที่ดังกล่าวประเทศไทยต้องรับรู้ร่วมกันเพราะเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้พระประชาธิปัตย์ในขณะที่เป็นฝ่ายค้านได้เรียกร้องและติดตามเรื่องนั้นมาโดยตลอด แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาลกลับเงียบหายไป

นายเกียรติกร กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 190 ซึ่งน่าสังเกตว่า รัฐบาลต้องการประวิงเวลาเพื่อให้การแก้ไขเสร็จเรียบร้อยก่อน เพราะหากมีการเซ็นสัญญาประเทศไทยจะต้องร่วมลงนามด้วยและต้องนำเข้ารัฐสภาเพื่ออนุมัติ แต่รัฐบาลกลับไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ เป็นเพราะต้องการให้มีการแก้ไขมาตรา 190 ก่อนหรือไม่ เพื่อไม่ต้องนำเรื่องเข้าขอมติจากรัฐสภาอีก ซึ่งตนเห็นว่ามีกลุ่มคนที่จะได้ผลประโยชน์จากพื้นทีทับซ้อนนี้ คือนักการเมือง ไม่ใช่ประชาชน ดังนั้นจึงฝากถามนายกรัฐมนตรีว่าหากเดินทางกลับผประเทศไทยแล้วจะเปิดการเจรจาเรื่องดังกล่าวหรือไม่อย่างไร และผลประโยชน์ในสัญญาดังกล่าวมีมูลค่าเท่าใด ซึ่งตนเชื่อว่าการเซ็นสัญญาของกัมพูชาจะทำให้ประเทศไทยเสียทั้งดินแดน เงิน และทรัพยากร

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 07.45 น. วันที่ 24 กันยายน ตรงกับเวลาท้องถิ่นนครนิวยอร์คเวลา 21.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบ เว็บคอนเฟอเรนซ์ ระหว่างการปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 64 ที่นครนิวยอร์ก และการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม จี-20 พิตส์เบิร์ก ซัมมิท ที่นครพิตส์เบิร์ก ระหว่างวันที่ 21-27 กันยายน มายังรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 กรณีกลุ่มเสื้อแดงกล่าวหาว่าระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลปล่อยให้กัมพูชาสร้งถนนเข้ามา 2 เส้น โดยอ้างมีหนังสือเตือนจากกองทัพ 9 ครั้ง แต่รัฐบาลไม่ทำอะไร และเป็นประเด็นที่คนเสื้อแดงจะอ้างเพื่อชุมนุมแตกหักในเดือนตุลาคมนี้ ว่า ขอให้ไว้วางใจ ไม่น่าจะมีปัญหา อย่างไรก็ตาม ตัวถนนนั้นก่อสร้างกันมาตั้งแต่ก่อนที่ตนเข้ามารับตำแหน่ง และมีการรายงานจากพื้นที่ขึ้นมา จากนั้นก็มีการประท้วง จนถึงขณะนี้ ก็มีการนำไปสู่กรอบของการจรจา ซึ่งรัฐบาลกำลังเสนอต่อสภาในเรื่องที่จะให้ทุกฝ่ายออกจากพื้นที่ และกลับไปสู่ข้อตกลงเมื่อปี 2543 คิดว่าไม่มีอะไรต้องวิตกกังวล เรื่องนี้เดินต่อตามแนวทางซึ่งเราจะรักษาสิทธิดินแดนอธิปไตยทุกประการ เพียงแต่วิธีการที่รัฐบาลทำนั้น ไม่ต้องการให้เกิดการปะทะ การสูญเสียเท่านั้นเอง

เมื่อถามว่า การเข้ามาในพื้นที่ของกัมพูชา ไม่ได้เข้ามาในช่วงที่นายกฯเป็นรัฐบาลใช่หรือไม่ นายภิสิทธิ์ กล่าวว่า มาตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล จริงๆแล้วคงจำได้ว่า มันมีการปะทะตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2551 เรื่องการมีกองกำลังต่างๆ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่มีการออกแถลงการณ์ร่วมเรื่องมรดกโลก ซึ่งเป็นเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น และมีปัญหาในขณะนี้ว่า คนที่ไปทำขณะนั้นมีความผิดหรือไม่ในเรื่องของการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีชุมชน การค้าขายต่างๆ ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นอีก คือเกิดขึ้นหลังจากที่เหตุการณ์ในกัมพูชาสงบ ก็มีการเปิดให้มีการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีทั้งคนไทย และกัมพูชาเข้าไปขายของ และมีชุมชนขึ้นมา ตอนนี้ก็พยายามที่จะช่วยกันจัดระเบียบอยู่

เมื่อถามว่า ดูเหมือนรัฐบาลอยู่ท่ามกลางแรงกดดันทั้งของกลุ่มเสื้อแดง และเสื้อเหลืองที่ต้องการให้รัฐบาลผลักดันชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากความมุ่งหมายเราตรงกัน เราก็อย่าขัดแย้งกันเอง ไม่มีคนไทยคนไหน ที่ต้องการให้ประเทศไทยเสียสิทธิ เสียอธิปไตย เสียดินแดน เพียงแต่แนวทางในการแก้ปัญหาตกลงกับทางกัมพูชากัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องในฐานะเพื่อนบ้าน เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน คือ แก้ปัญหากันด้วยสันติวิธี ส่วนความได้เปรียบ เสียเปรียบในทางกฎหมาย ตนยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะแถลงการณ์ร่วมเราก็แจ้งยกเลิกไปแล้ว รัฐบาลก็ทำงานเต็มที่เรื่องการไปคัดค้าน ซึ่งอาจเป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้องนักในส่วนของมรดกโลก ก็เป็นการแสดงออกชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายจากปีที่แล้ว ซึ่งในส่วนทางพื้นที่ทางทหารก็ยืนยันแล้วว่าเรามีการตึงกำลังของเราอยู่

เมื่อเวลา 08.45 น. วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงออกมาเปิดเผยว่ารัฐบาลเปิดโอกาสให้ทางการกัมพูชาสร้างถนนในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล 4.6 ตารางกิโลเมตร ว่า การสร้างถนนในพื้นที่พิพาทเกิดขึ้นนานแล้ว มีถนนก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามาบริหารอีก ถ้ากลุ่มคนเสื้อแดงออกมาโจมตีเรื่องนี้ ก็ระวังจะเข้าเนื้อตัวเอง เพราะพวกเสื้อแดงเคยเป็นรัฐบาลก่อนที่พวกตนจะเข้ามาเป็นรัฐบาล อย่างไรก็ตามกระทรวงการต่างประเทศเคยทักท้วงในเรื่องนี้ไปแล้ว มีหลักฐานเป็นเอกสารและหนังสือซึ่งมีการลงวันที่ชัดเจน เมื่อนายกษิต ภิรมย์ รมว. ต่างประเทศ กลับจากการปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ตนจะชวนมาออกโทรทัศน์เพื่อชี้แจงกับประชาชน โดยเอาเอกสารมาแสดงทั้งหมด

"พอเราเข้ามาเป็นรัฐบาล เขาได้ปรับปรุงถนนบางส่วน เช่น มีการเทซีเมนต์ในพื้นที่ลาดชัน ซึ่งรัฐบาลไทยได้ประท้วงไปแล้ว เพราะไม่ถือว่าเป็นถนนของกัมพูชา ทหารไทยก็อยู่บนถนนนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะมาแสดงความเป็นเจ้าของได้ เพราะพื้นที่ตรงนั้นยังเป็นพื้นที่ที่ต้องแก้ไขปัญหา โดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนต้องพิสูจน์ว่าส่วนไหนเป็นของใคร" นายสุเทพกล่าว

นายสุเทพยังกล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนกัมพูชารายงานว่า บริษัทเอกชนสัญชาติญี่ปุ่นที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาเริ่มเข้าไปขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล 4.6 ตารางกิโลเมตรแล้ว ว่า เป็นเรื่องที่เกิดมานานแล้ว และยังต้องเกิดอีก เพราะทั้งไทยและกัมพูชาต่างอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของตน ซึ่งฝ่ายไทยก็ให้สัมปทานบริษัทเอกชนไปหลายบริษัท ขณะนี้จึงไม่มีบริษัทไหนได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ทางที่ดีคือไทยกับกัมพูชาควรมานั่งปรึกษากันใหม่ พัฒนาพื้นที่ร่วมกัน และใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนจะแบ่งส่วนไหนเป็นของใคร ก็ให้คณะกรรมการปักปันเขตแดนดำเนินการไป

ถ้างานบางเบาลง ผมจะหาเวลาไปคุยกับผู้นำกัมพูชา (สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา) เพื่อหาทางเจรจาในเรื่องนี้ ความจริงเคยเจรจาเรื่องนี้คุยกันไว้แล้ว แต่หยุดชะงักไป ก็ต้องหาทางคุยกันใหม่ ส่วนจะไปพบสมเด็จฮุนเซ็นได้ก่อนการประชุมอาเซียนระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคมหรือไม่ ต้องดูก่อน ถ้านายกฯ เห็นสมควร ผมก็จะไป" นายสุเทพกล่าว

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook