“ครู” จะรับมืออย่างไร เมื่อ “โบว์ขาว” กลายเป็นภัยของโรงเรียน

“ครู” จะรับมืออย่างไร เมื่อ “โบว์ขาว” กลายเป็นภัยของโรงเรียน

“ครู” จะรับมืออย่างไร เมื่อ “โบว์ขาว” กลายเป็นภัยของโรงเรียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงหลายปีมานี้ สังคมไทยเริ่มมีการพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นใน “โรงเรียน” มากกว่าในอดีต โดยเฉพาะในหมู่นักเรียน ที่ลุกขึ้นตั้งคำถามกับระบบการศึกษาและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทว่าเสียงเรียกร้องของนักเรียนกลับถูกเมินเฉย กระทั่งเกิด “การชุมนุมทางการเมือง” ที่มีส่วนผลักดันให้เสียงของนักเรียนที่ออกมาแสดงจุดยืนเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาก้องกังวาลมากขึ้น จนกลายเป็นปรากฏการณ์ “นักเรียนผูกโบว์ขาว ชูสามนิ้ว” ลุกลามไปทั่วประเทศ แต่ในช่วงเวลาที่นักเรียนกล้าจะลุกขึ้นสู้กับระบบการศึกษาไทย พวกเขากลับต้องเผชิญหน้ากับ “การคุกคาม” จากหลายฝ่าย และหนึ่งในนั้นคือ “ครู” ผู้ที่ควรจะออกมาปกป้องนักเรียน แต่กลับใช้ “อำนาจ” ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนมากกว่าเดิม

Sanook มีโอกาสพูดคุยกับ “ครูขอสอน” กลุ่มครูที่อยากเห็นครูทำหน้าที่สอน และพัฒนานักเรียนอย่างแท้จริง ในกิจกรรม “ห้องเรียนเชิงวิพากษ์: การศึกษาคือการเมือง” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ณ บ้านมะขามป้อม อาร์ต สเปซ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 15 - 18 ตุลาคม 2563 ถึงประเด็นเรื่องการแสดงออกของนักเรียน และบทบาทของครูในวันที่สถานการณ์ทางการเมืองกำลังคืบคลานเข้ามาในโรงเรียน

“โรงเรียนไทย” พื้นที่ไร้อิสรภาพ  

แม้โรงเรียนไทยจะพยายามปรับตัว และคอยหาสิ่งใหม่ ๆ มารองรับความสนใจของเด็กนักเรียนอยู่เสมอ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบโรงเรียนไทยมี “ความเชื่องช้า” ในระหว่างทางของการพัฒนาระบบการศึกษา ซึ่ง ครูสัญญา มัครินทร์ หรือ ครูสอยอ สมาชิกกลุ่มครูขอสอน มองว่า เมื่อครูเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบการศึกษา ที่มีการใช้อำนาจสั่งการ ระบบคำสั่ง หรือระบบการขออนุญาตต่าง ๆ เป็นปัจจัยที่ทำให้การทำงานของครูที่ควรจะมีความยืดหยุ่นและมีอิสระ ถูกจำกัดอยู่ใต้อำนาจสั่งการของ “เบื้องบน” และกลายเป็นอุปสรรคหนึ่งของการพัฒนาการศึกษา

ครูสอยอ ตัวแทนจากกลุ่มครูขอสอนครูสอยอ ตัวแทนจากกลุ่มครูขอสอน

ความยืดหยุ่นที่มีน้อยของโรงเรียนไทย ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อครูเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อ “นักเรียน” ในระดับที่มาก และกดทับนักเรียนให้ต้องยอมสยบอยู่ภายใต้คำว่า “ระเบียบ” มากกว่าจะสร้างความเข้าใจเรื่อง “อิสรภาพ” ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่การศึกษาควรมอบให้กับนักเรียน

“เด็กไทยไม่ได้รับอิสระ เพราะทุกอย่างถูกวางไว้อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบข้อสอบ หรือระบบการให้รางวัล แล้วเด็กก็ยอมทำตามเพื่อที่พวกเขาจะได้รับคำชม ถูกชมว่าเป็นเด็กดี หรือเป็นเด็กเก่ง” ครูปาริชาต ชัยวงษ์ หรือ ครูแนน ตัวแทนครูอีกคนจากกลุ่ม ชี้ 

ขณะที่ ครูศิริพร ทุมสิงห์ หรือ ครูจุ๊บแจง ครูแนะแนวจากโรงเรียนมวกเหล็กวิทยา จังหวัดสระบุรี ได้เปรียบเทียบโรงเรียนไทยกับ “โรงงานผลิตซ้ำ” ที่สร้างคนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ยิ่งไปกว่านั้น โรงเรียนไทยยังไม่สอนให้นักเรียน “ตั้งคำถาม” กับระบบการศึกษา ซึ่งครูจุ๊บแจงย้ำว่า “สุดท้ายการศึกษาเเบบนี้ก็เป็นเครื่องมือทำลายความเป็นคนในตัวเรา” 

เรื่อง “การเมือง” ที่ครูต้องเข้าใจ

ในขณะที่ระบบการศึกษาไทยยังคงเชื่องช้า และไม่ขยับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เด็กนักเรียนทั่วประเทศกลับลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับระบบการศึกษา และแสดงออกทางการเมืองด้วยการชูสามนิ้ว ติดโบว์ขาว และเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมากขึ้น แต่การแสดงออกเหล่านี้กลับมีราคาที่ต้องจ่าย นั่นคือ “การถูกคุกคาม” จากทั้งครูในโรงเรียน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และคนทั่วไปในสังคม ซึ่งเหตุการณ์การถูกคุกคามดังกล่าว ยิ่งตอกย้ำให้เห็นปัญหาของระบบการศึกษาไทย ที่ไม่มีพื้นที่สำหรับการตั้งคำถาม ความเห็นต่าง หรืออิสระในการแสดงออกทางความคิดเลย 

“คือเด็ก ๆ น่ะ เวลาที่เขาแสดงออกทางการเมือง เขาอาจจะไม่ได้มองเห็นภาพที่ชัดเจนหรอก ว่าเขาอยากได้อนาคตแบบไหน เขาแค่รู้สึกว่าตอนนี้มันห่วยแตก แล้วเขาก็อยากจะปลดปล่อยมัน เราเลยรู้สึกว่า นอกเหนือจากการสนับสนุนให้เขาสามารถแสดงออกได้โดยที่ไม่ถูกคุกคาม เราอยากให้เขามีชุดความรู้ที่หลากหลาย มีทักษะในการจัดการกับข้อมูลที่หลั่งไหล เพื่อที่เขาเองจะได้ชัดเจนกับภาพในอนาคตมากขึ้น ว่าเขาอยากเห็นสังคมแบบไหน และจะได้เดินไปทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อได้ถูกทาง” ครูแนนอธิบาย

ครูแนน ตัวแทนจากกลุ่มครูขอสอนครูแนน ตัวแทนจากกลุ่มครูขอสอน

ส่วนครูจุ๊บแจงก็ชี้ว่า การที่คนเราเลือกจะเชื่ออะไรบางอย่าง ไม่ควรเป็นสาเหตุที่ทำให้คน ๆ นั้นต้องพบเจอกับความรุนแรง เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะเชื่อ แต่ในขณะเดียวกัน ความเชื่อนั้นต้องไม่กระทบความเป็นคนในมิติอื่นของบุคคลอื่น 

ถ้าครูมองเห็นว่า ความเชื่อของเด็กคืออะไร ครูจะหลุดพ้นจากความไม่รู้ ซึ่งเท่ากับว่าครูจะไม่กลัวมันอีก และเมื่อครูไม่กลัว ครูก็จะไม่ไปคัดค้าน แต่จะรับฟังแล้วพยักหน้า เราว่าเด็กเองก็คงคาดหวังให้ครูที่กำลังคุกคามเขาได้เรียนรู้และก้าวข้ามสิ่งนั้น” ครูจุ๊บแจงกล่าว 

“ครู” ต้องสร้างพื้นที่ให้นักเรียน 

แม้ครูบางส่วนจะแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการออกมาเรียกร้องของนักเรียน แต่ก็ยังมีครูอีกส่วนหนึ่ง ที่เลือกจะยืนอยู่ข้างนักเรียน และสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ในการแสดงออกอย่างปลอดภัยในโรงเรียน

“อย่างเด็กลุกขึ้นมาคุยเรื่องทรงผม เครื่องแต่งกาย ครูเองก็ต้องคุยให้สุดเหมือนกัน ครูบางคนบอกว่ายังต้องจัดการ เพราะมันคือระเบียบ หน้าตา และภาพลักษณ์ของโรงเรียน เราก็เอาหลักการมาคุยกัน พอคุยเสร็จ ก็มีข้อเสนอว่าต้องเอาเรื่องนี้ไปคุยกับนักเรียน และเราต้องฟังนักเรียน แต่ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น เราก็ยืนยันว่าเราจะยืนข้างนักเรียนนะ เพราะเราจะต่อสู้ด้วยเหตุผลและหลักการ” ครูสอยอยกตัวอย่างโรงเรียนของตัวเอง 

อย่างไรก็ตาม การเลือกที่จะยืนอยู่ข้างนักเรียน  ก็ทำให้ครูหลายคนต้องเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะจากเพื่อนครูด้วยกันเอง โดยครูแนนแสดงความคิดเห็นว่า ทุกคนอยากเป็นที่รักและเป็นส่วนหนึ่งกับที่ทำงาน แต่ถ้าครูมองเห็นความเจ็บปวดของนักเรียน แล้วเลือกที่จะทำเฉย นั่นแปลว่าครูมีอภิสิทธิ์บางอย่างที่จะนิ่งเฉย ซึ่งสำหรับครูแนนแล้ว นั่นคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เธอจึงเลือกที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อปกป้องนักเรียน แม้จะลำบากใจที่ต้องลุกขึ้นพูด แต่นั่นก็เป็นทางเลือกที่ครูจำเป็นต้องเผชิญ 

ครูจุ๊บแจง ตัวแทนจากกลุ่มครูขอสอนครูจุ๊บแจง ตัวแทนจากกลุ่มครูขอสอน

“เคยกังวลและเคยกลัว แต่พอรู้ว่า จุดหมายในชีวิตคืออะไร เราก็ตอบตัวเองได้ชัดว่า เราต้องการยืนเคียงข้างเด็ก จนกว่าจะหมดลมหายใจ ปัจจัยอื่น ๆ ก็ไม่มีผลกับเรา แม้อุดมการณ์จะกินไม่ได้ แต่มันก็มีพลังที่ทำให้เราหายใจต่อได้ เพราะฉะนั้น จากความกลัวตรงนั้น มันตอบได้ชัดว่าเราอยู่เพื่ออะไร แม้สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ จะมีสั่นคลอนบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตัวตนความเป็นเราลดลง” ครูจุ๊บแจงกล่าวสมทบ 

“นักเรียนจะอยู่ข้างเรา”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การออกมาปกป้องนักเรียนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมในขณะนี้ ส่งผลให้ครูต้องพบเจอกับการวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดันจากคนรอบข้าง ที่มาในรูปของคำพูด การกระทำ และหลาย ๆ ครั้งก็มาในรูปของ “การสอบวินัย” แต่ครูธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือครูทิว หนึ่งในผู้ตั้งกลุ่มครูขอสอน ก็ชี้ว่า  

“เราไม่ได้สู้ตามลำพัง นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรากล้าลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง แล้วเราก็ต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า เรามาเป็นครูทำไม และความหมายของการเป็นครูในระบบนี้คืออะไร อย่างของผม มันคือการเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น นั่นแหละ เลยทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเป็นแบบนี้อยู่ มันไปไม่ถึงเป้าหมายของเรา” 

ครูทิว หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มครูขอสอนครูทิว หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มครูขอสอน

ทั้งนี้ ครูทิวยังย้ำว่า การที่ครูออกมาเคลื่อนไหวแบบนี้ ก็มีเกราะป้องกันครูอยู่บ้าง สิ่งแรกคือ การมีหลักการและมั่นใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ เพราะเมื่อไรก็ตามที่ครูไม่มั่นใจ เมื่อเจอคำถามจากสังคม ครูจะสั่นไหว สิ่งต่อมาคือกฎหมาย โดยครูทิวย้ำว่า ครูต้องทำความเข้าใจเรื่องกฎระเบียบและข้อกฎหมาย ซึ่งกำหนดขอบเขตของการแสดงออกของครูและนักเรียน วิธีนี้ จะทำให้ครูไม่รู้สึกกลัวว่าจะโดนเอาผิด และสิ่งสุดท้าย คือคนรอบข้างที่ช่วยสนับสนุนการแสดงออกของครู ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนครูและแม้แต่นักเรียนเอง 

ผมอยากบอกว่า เราเลือกอยู่ข้างอะไร สุดท้ายแล้ว สิ่งนั้นจะอยู่ข้างเรา ถ้าเราเลือกอยู่ข้างนักเรียน นักเรียนก็จะอยู่ข้างเรา แล้วมันก็เป็นพลังให้เราเคลื่อนไปข้างหน้า”ครูทิวกล่าวปิดท้าย

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook