Sanook คลุกข่าวเช้า 10 พ.ย. 63 พบวัคซีนโควิด-19 ป้องกันติดเชื้อ 90% - ตร. ไม่ฟันธงเรียกร้อง รปห. ผิด

Sanook คลุกข่าวเช้า 10 พ.ย. 63 พบวัคซีนโควิด-19 ป้องกันติดเชื้อ 90% - ตร. ไม่ฟันธงเรียกร้อง รปห. ผิด

Sanook คลุกข่าวเช้า 10 พ.ย. 63 พบวัคซีนโควิด-19 ป้องกันติดเชื้อ 90% - ตร. ไม่ฟันธงเรียกร้อง รปห. ผิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อรุณสวัสดิ์ค่ะ พบกันอีกครั้งกับ Sanook คลุกข่าวเช้า ประจำวันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน 2563 พร้อมกับข่าวที่น่าสนใจประจำวัน ที่เราจะนำมาเสิร์ฟให้คุณถึงมือ ด้วยฟังก์ชั่น Text to Speech ซึ่งระบบ AI จะทำหน้าที่อ่านข่าวให้คุณฟัง เพียงกดที่สัญลักษณ์รูปลำโพงสีเขียวด้านบน ก็สามารถรับฟังข่าวสารได้ทันที ทุกที่ทุกเวลา

เช้านี้มีข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดแรก ที่มีผลการวิเคราะห์ขั้นแรกระบุว่า วัคซีนชนิดนี้สามารถป้องกันไม่ให้คนเราติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ถึง 90% เลยทีเดียว 

วัคซีนชนิดแรกนี้เป็นผลงานของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และไบออนเทค (BioNTech) ซึ่งผ่านการทดสอบในมนุษย์จำนวน 43,500 คน ใน 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี บราซิล อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกี โดยผู้ที่เข้าร่วมการทดสอบวัคซีนจะได้รับวัคซีน 2 ครั้ง โดยเว้นระยะห่าง 3 สัปดาห์ และพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองมีภูมิคุ้มกันจากไวรัสหลังจากได้รับวัคซีนครั้งที่ 2 ไป 1 สัปดาห์ อีกทั้งยังไม่พบว่ามีปัญหาในเรื่องความปลอดภัยต่อร่างกายของผู้เข้าร่วมการทดลอง ดังนั้น บริษัททั้งสองแห่งจึงได้วางแผนที่จะยื่นเรื่องขออนุมัติเป็นการฉุกเฉินให้ใช้วัคซีนชนิดนี้ได้ภายในสิ้นเดือนนี้

นอกจากนี้ ไฟเซอร์ยังเชื่อว่าจะสามารถผลิตวีคซีนได้ 50 ล้านเข็ม ภายในสิ้นปีนี้ และอีก 1.3 พันล้านเข็ม ภายในปี 2021

ข่าวต่อมายังคงอยู่ที่ประเด็นของโรคโควิด-19 ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย เมื่อชายชาวอินเดียคนหนึ่งติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดสุโขทัย ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2563

นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่าทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ สำนักควบคุมโรคที่ 1 ลงพื้นที่สอบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัสในจังหวัดเชียงใหม่ จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดจากท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ พบผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 1 ราย เป็นพนักงานขับรถแท็กซี่ และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ จำนวน 20 ราย ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ในท่าอากาศยานเชียงใหม่ และ จากการการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่โรงแรมและตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 1 ราย เป็นพนักงานขับรถของโรงแรม และเสี่ยงต่ำ จำนวน 13 ราย เป็นพนักงานต้อนรับและพนักงานทำความสะอาด

นอกจากนี้ยังได้มีการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่บริษัทรถเช่าเชียงใหม่ พบผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอีก 4 ราย เป็นการสัมผัสระหว่างรับ-ส่งรถเช่า รวมมีผู้สัมผัสทั้งเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำทั้งสิ้น 39 ราย ทั้งหมดได้เก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19 ในวันที่ 9 พ.ย. 2563 ขณะนี้กำลังรอผลการตรวจ

ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กำลังตรวจสอบผู้สัมผัสจากกล้องวงจรปิดของสถานบันเทิงที่ผู้ป่วยได้เดินทางไป และ ยังได้ส่งข้อมูลผู้ป่วย รวมถึงป้ายทะเบียนรถเช่า เพื่อให้ทางตำรวจได้ตรวจสอบการเดินทางในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่  นอกจากนี้ยังจะประสานตำรวจและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพื่อค้นหาพิกัดที่ผู้ป่วยรายนี้เดินทางไปอีก เนื่องจากผู้ป่วยบอกว่าไปหลายที่แต่จำสถานที่ไม่ได้ หากพบว่าไปที่ไหนอีกจะมีการสอบสวนหาตัวผู้สัมผัสเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์จตุชัย ชี้ว่า ขณะนี้ยังไม่พบการระบาดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสถานที่ที่ผู้ป่วยรายดังกล่าวได้เดินทางไป และ ยังอยู่ในระหว่างรอผลการตรวจหาเชื้อของผู้สัมผัสที่เหลือ หากพบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทีมสอบสวนโรคจะมีการประกาศเพื่อค้นหาผู้สัมผัสรายต่อไป ตามมาตรการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ปิดท้ายด้วยข่าวการเมืองกันบ้าง พลตำรวจตรีปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เปิดเผยถึงกรณีเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (คปส.) ที่ยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการทำรัฐประหารและชัตดาวน์ประเทศ ว่าต้องตรวจสอบพฤติกรรมและเนื้อหาในหนังสือของเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (คปส.) ที่เรียกร้องให้ทำรัฐประหารและชัตดาวน์ประเทศ ที่จะนำไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีเสียก่อน ว่าเข้าข่ายปลุกปั่นยั่วยุให้เกิดความไม่สงบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และล้มล้างการปกครองหรือไม่ 

กรณีนี้เกิดขึ้นหลังจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากมองว่า การเรียกร้องให้รัฐประหารและชัตดาวน์ประเทศเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน จึงอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบฝ่ายดังกล่าวด้วย ไม่ใช่เอาผิดแต่ฝ่ายผู้ชุมนุม ที่เรียกร้องประชาธิปไตย ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว นอกจากนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายรายต้องการให้ตำรวจที่ดูแลควบคุมการชุมนุมรับผิดชอบต่อการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมโดยไม่มีการแจ้งเตือน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพราะถือเป็นการกระทำที่ผิดหลักสากลอย่างชัดเจน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook