“คณะราษเก็ต” ราษฎรผู้ไถสเก็ตท้าทายอำนาจรัฐ
การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในขณะนี้ นอกจากจะเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 แล้ว ยังเป็นการชุมนุมที่แตกต่างจากการชุมนุมทางการเมืองในอดีต เพราะไม่ใช่แค่การรวมตัวกันของกลุ่มคนจำนวนมากและเวทีปราศรัยของแกนนำเพียงไม่กี่คน แต่ยังประกอบไปด้วยพื้นที่ย่อยๆ ที่พูดถึงปัญหาสังคมหลายรูปแบบ และยังมีการแสดงออกที่แตกต่างกันไปตามวิถีทางของแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง LGBTQ+ รวมถึงกลุ่มวัฒนธรรมย่อยต่างๆ ส่งผลให้การชุมนุมทุกวันนี้เต็มไปด้วยสีสันราวกับเทศกาลศิลปะ และหนึ่งในสีสันที่เข้ามาแต่งแต้มการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ คือกลุ่มสเก็ตบอร์ด ที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษเก็ต” หรือ “Sk8tizen” ที่พวกเขายืนยันว่า “การเล่นสเก็ตบอร์ดก็คือการแสดงออกทางการเมือง”
เชน หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะราษเก็ต เท้าความถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขารู้จักกับสเก็ตบอร์ดเมื่อวัย 36 ปี ว่า เขาเป็นคอดนตรีพังก์และอัลเทอร์เนทีฟร็อก ซึ่งแนวเพลงเหล่านี้สะท้อนตัวตนทางการเมืองของเขาเอง ทั้งการต่อต้านระบบอำนาจนิยม ความศรัทธาในเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพสื่อ ทว่าเขากลับไม่สามารถรับมือกับสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ระบบอำนาจนิยม ความหวาดกลัว และความไม่เป็นธรรมได้ บวกกับปัญหาชีวิตส่วนตัว ส่งผลให้เขาต้องเข้าพบจิตแพทย์ และรักษาตัวด้วยการกินยา รวมทั้งคลายปมในจิตใจ ดังนั้น เครื่องมือที่เขาเลือกก็คือ “สเก็ตบอร์ด” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากซีรีส์ S.O.S. ที่ตัวละครหลักเอาชนะโรคซึมเศร้าได้จากการเล่นสเก็ตบอร์ด
“เราก็ศึกษาวัฒนธรรมนี้ แล้วพบว่ารากของวัฒนธรรมสตรีท ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ร็อก พังก์ อัลเทอร์เนทีฟ มาจนถึงแร็ป ฮิปฮอป สเก็ตบอร์ด กราฟิตี หรือแม้แต่การสัก มันมาจากความรู้สึกอึดอัดและถูกกดทับ สำหรับเราแล้วมันเป็นความรู้สึกของคนที่ถูกระบบอำนาจนิยมหรืออำนาจบางอย่างที่กดเขาหรือกีดกันให้เขาเป็นคนนอก แล้วผมว่า วัยรุ่นสมัยนี้เขาถูกกดทับและถูกบีบด้วยค่านิยม 12 ประการ หลังจากที่รัฐประหาร ผมก็เลยมองว่าวัฒนธรรมสตรีทมันเป็นวิธีการแสดงออก เพื่อบอกว่าเราอึดอัดแค่ไหน และเป็นทางปลดปล่อยของเราที่จะพูดกับอำนาจที่กดทับเรา ว่าเราจะไม่ยอมให้คุณกดทับเราอีกต่อไป” เชนอธิบาย
เชนเล่าว่า ธรรมชาติของสเก็ตบอร์ดคือการที่ผู้เล่นเผชิญหน้ากับความกลัวขั้นพื้นฐานที่สุด คือการกลัวล้ม กลัวเจ็บ ซึ่งเป็นความกลัวในระดับร่างกาย เมื่อได้ไต่ระดับการเผชิญหน้ากับความกลัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขาก็มีความกล้าหาญมากขึ้น และในที่สุด เขาก็ตัดสินใจใช้สเก็ตบอร์ดจัดการกับความกลัวขั้นสุดท้าย คือการแสดงตัวตนทางการเมือง โดยมีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์ที่พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ ถูกยุบพรรค
“จุดสำคัญจริงๆ น่าจะเริ่มจากการเกิดพรรคอนาคตใหม่ เรารู้สึกว่าเรามีความหวังแล้ว เรารู้สึกว่าสังคมของเราพร้อมจะก้าวหน้าไปสู่สังคมที่เราอยู่ได้โดยที่สุขภาพจิตเราโอเค แล้วเป็นวิธีการที่ถูกต้องด้วย แต่พอยุบพรรคอนาคตใหม่ เรารู้สึกว่าเขาไม่ยอมให้เราก้าวไปข้างหน้า ทีนี้ตอนนั้นน้องๆ ในทวิตเตอร์ ที่เป็นศิลปิน เขาทำแคมเปญ Save Thai Democracy คือทุกคนวาดรูปชู 3 นิ้วกัน ซึ่งสำหรับเรา มันสร้างแรงบันดาลใจให้เรามาก เพราะว่าเด็กพวกนี้ใช้ศิลปะในการสื่อสาร เชื้อไฟมันเกิดจากการยุบพรรคอนาคตใหม่นั่นแหละ คือคุณทำลายความหวังของเขา แล้วเขาก็แสดงออกผ่านศิลปะว่าเขายังไม่ได้สิ้นหวังนะ”
เชนเลือกผลงานศิลปะจากศิลปินในแคมเปญดังกล่าวมาใช้ทำเป็นลวดลายบนแผ่นสเก็ตบอร์ดของตัวเอง จนกระทั่งได้รับเสียงชื่นชมจากมิตรสหายในกลุ่มสเก็ตบอร์ด และนำไปสู่การก่อตั้งแบรนด์สเก็ตบอร์ด “Rize” ซึ่งมีที่มาจากคำว่า uprising ที่แปลว่าการลุกขึ้นสู้ เพื่อใช้สื่อสารประเด็นทางการเมืองและสังคม โดยเขาเชื่อว่าสเก็ตบอร์ดเป็นงานศิลปะที่สามารถแสดงออกทางการเมืองได้
“รูปแบบแรกที่ใช้สื่อสารก็คือ ตัวสเก็ตบอร์ด ตัวลายของเด็ค (Deck) เพราะว่าเด็คเป็นชิ้นส่วนที่เด็กสเก็ตจะเปลี่ยนทุก 3 – 6 เดือน ทุกครั้งที่เราเปลี่ยนจะเหมือนกับเราทำงานศิลปะชิ้นใหม่ หรือซื้องานศิลปะชิ้นใหม่ เพราะฉะนั้นลายตรงนี้มันแสดงตัวตนของเราในช่วงเวลานั้นๆ ได้ เราเลยมองว่า เราอยากจะให้แผ่นเด็คสเก็ตในคอลเลคชันของแบรนด์เรา พูดถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเวลานั้นๆ มันจะเป็นพื้นที่ในการแสดงออกของเรา และเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยว่า ในช่วงเวลานั้นๆ มันมีการเคลื่อนไหวใดเกิดขึ้น มันมีอะไรเกิดขึ้น มีประเด็นอะไรเกิดขึ้น”
เช่นเดียวกับ “ราษเก็ต” ที่ไม่เปิดเผยชื่ออีกคนหนึ่งของกลุ่ม ที่เลือกส่งเสียงของตัวเองด้วยการเขียนข้อความลงบนกระดาษทรายที่ติดบนแผ่นสเก็ตบอร์ด หรือ Griptape ในขณะที่ชาวสเก็ตบอร์ดคนอื่นๆ อาจจะกรีดเป็นลวดลายต่างๆ นอกจากนี้ เชนยังมองว่า ท่าทางการเล่นสเก็ตบอร์ดก็เป็นการแสดงออกทางการเมืองได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งไถสเก็ตผ่านหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตรึงกำลังบนถนน ราวกับจะประกาศเจตนาบางอย่างให้เจ้าหน้าที่รู้
“สเก็ตบอร์ดมันมีรากมาจากวัฒนธรรมสตรีท เพราะฉะนั้น การแสดงท่าทางจึงเป็นการแสดงออกถึงความกล้าหาญ การเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ กับบรรทัดฐานหรือกฎเกณฑ์บางอย่างที่บีบคั้นเรา แล้วก็สเก็ตเป็นกีฬาที่ท้าทายกับความเสี่ยง มันคือการที่เล่นกับความกลัว ความกล้าในใจเรา ผมคิดว่ามันไปได้กับความกล้าของเยาวชนปลดแอก คนอย่างรุ้ง คนอย่างอานนท์ คนอย่างแอมมี่ หรือมารีญา หรือบุคคลสาธารณะที่กล้าลุกขึ้นมาเพื่อพูดจุดยืนของตัวเอง” เชนกล่าว
นอกจากจะแสดงออกผ่านเครื่องมืออย่างสเก็ตบอร์ดแล้ว คณะราษเก็ตยังได้ขยายการเคลื่อนไหวออกสู่ท้องถนน ด้วยแคมเปญ “ไถหน้าตู่” โดยมีการปริ๊นท์ภาพนายกรัฐมนตรีลงบนแผ่นไวนิลขนาดใหญ่ และให้ประชาชนไถสเก็ตบอร์ดบนแผ่นไวนิลนั้น
“มันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าเราไม่พอใจการบริหารงานและประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาล แต่ว่าเราจะพยายามย้ำเตือนเสมอว่าเราจะไม่ทำอย่างนี้กับบุคคล เราจะไม่เอาสเก็ตฟาดหน้าลุงตู่จริงๆ เพราะว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เราจะขอเอาสเก็ตฟาดกับไวนิลที่เราทำมาเอง เล่นทริกไถอยู่บนหน้าของงานที่เราทำกันเอง วันสุดท้าย เราจะเอาสีราดรอบๆ แล้วให้น้องๆ ไถสเก็ตผ่าน ให้ล้อปาดสีทับหน้าลุงตู่” เชนเล่าถึงกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 และทำให้เขาได้พบกับราษเก็ต เพื่อนร่วมทีมของเขาเป็นครั้งแรก
“ผมลงถนน ผมไปในฐานะประชาชนที่เล่นสเก็ตบอร์ดเท่านั้นเอง ประชาชนสามารถลงถนนเดินขบวนได้ เราก็ไหลสเก็ตลงถนนเดินขบวนได้” ราษเก็ตผู้นี้กล่าว
แม้จะเชื่อมโยงกันด้วยความรักในกีฬาแสนท้าทายอย่างสเก็ตบอร์ด แต่เชนก็ยอมรับว่าที่จริงแล้ว คณะราษเก็ตเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของกลุ่มคนที่ต้องการสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่ได้เป็น “แก๊งสเก็ตบอร์ด” อย่างที่เราคุ้นเคย ซึ่งก็สะท้อนภาพรวมของการชุมนุม ที่ไม่ได้จัดตั้งโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงไม่กี่คน แต่เป็นการรวมตัวของประชาชนทั่วไปที่มองเห็นปัญหา และต้องการการเปลี่ยนแปลง หากมีแกนนำถูกจับกุม ก็จะมีแกนนำคนใหม่เกิดขึ้นแทนต่อไป
“เด็กสมัยนี้ไม่เพิกเฉย และการเพิกเฉยมันไม่คูลแล้ว โดยเฉพาะเด็กที่มีอภิสิทธิ์มากยิ่งไม่เพิกเฉย มีการพูดด้วยว่าอยากจะใช้อภิสิทธิ์ที่ตัวเองมีเพื่อสร้างความเท่าเทียม ซึ่งเราประทับใจมาก เขาสร้างแรงบันดาลใจให้เรา แล้วก็เหมือนช่วยดึงเราออกจากความสิ้นหวัง เราเลยนับถือเด็กรุ่นนี้มาก แล้วก็เชื่อในพลังของคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่มาก” เชนเผยถึงความรู้สึกที่มีต่อการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในเวลานี้ เช่นเดียวกับราษเก็ต ที่มองเห็นถึงพลังอันบริสุทธิ์ของผู้ชุมนุม และให้กำลังใจผ่านการทำสติ๊กเกอร์รูป 3 นิ้ว แจกให้กับกลุ่มวัยรุ่นที่มาชุมนุม
“ผมไปม็อบมาเกือบจะทุกครั้ง แล้วรู้สึกว่าคนที่อยู่ในม็อบคือคนที่รุ่นใกล้ๆ เรา โดนอะไรมาเหมือนๆ กัน จนรู้สึกเห็นอกเห็นใจและเข้าใจกัน ว่าเราอยากเห็นบ้านเมืองเราในอนาคตเป็นอย่างไร ผมเห็น LGBTQ+ ยืนเต้น แล้วมีคนเชียร์ พวกเราเล่นสเก็ตบอร์ด มีคนเชียร์และตบมือให้ ผมค่อนข้างชอบบรรยากาศตรงนั้นมาก แล้วก็ทุกคนเรียกร้องในสิ่งเดียวกัน ทุกคนเข้าใจกัน นี่คือสิ่งที่ผมชอบในม็อบ มันบริสุทธิ์มากๆ ทุกคนตั้งแถว ส่งหมวกกันน็อก ผมเลยทำสติ๊กเกอร์มาแจกให้พวกเขาอีกที บอกว่าพี่เคารพพลังของพวกน้องนะ เหมือนเราเป็นคนรุ่นที่เขยิบมาอีก เราก็ต้องฝากความหวังไว้ที่น้อง เพราะคนรุ่นพี่ยังไม่กล้าขนาดนี้เลย” ราษเก็ตกล่าว
เมื่อถามถึงภาพของสังคมไทยที่เชนอยากเห็น เขาตอบว่า
“เราอยากเห็นสังคมที่มีความอดกลั้นสูง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สามารถพูดหรือแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองเป็นได้ โดยที่มีการถกเถียงเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่าระดับไหนที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ แต่เราต้องพูดมันออกมาก่อน เราเชื่อในความหลากหลาย เราอยากเห็นสังคมที่มีความหลากหลาย แสดงออกในสิ่งที่ทุกคนเป็น แล้วก็หาจุดร่วมบางอย่างได้ และพร้อมจะอดทนต่อฝ่ายสุดโต่งที่แสดงออกด้วยความรุนแรง ตราบเท่าที่มันไม่ใช่ความรุนแรงทางกายภาพ ตราบใดที่เรายังไม่ตีหัวกันหรือขู่ฆ่ากัน” เชนทิ้งท้าย