เผยร.ร.กว่าพันแห่งไม่ส่งรายชื่อสอบโอเน็ต

เผยร.ร.กว่าพันแห่งไม่ส่งรายชื่อสอบโอเน็ต

เผยร.ร.กว่าพันแห่งไม่ส่งรายชื่อสอบโอเน็ต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เตือนโรงเรียนส่งรายชื่อเด็ก ระวังไม่มีสิทธิสอบ ชี้ ม.6 ส่งแค่ 85% ชี้จะไม่เพิ่มรายชื่อหลังกำหนดวันเด็ดขาด หากจะฟ้องต้องโทษโรงเรียน

เมื่อวันที่ 25 ก.ย.52 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จ.สงขลา - นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธาน โครงการสัญจรสร้างความเข้าใจการศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง หรือแอดมิชชั่นส์กลาง โดยมีศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)และรศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ประธานคณะทำงานแอดมิชชั่นส์ เข้าร่วม

นายชัยวุฒิ กล่าวบรรยายเรื่อง "เตรียมความพร้อมก่อนสอบ O-NET/GAT/PAT" ตอนหนึ่งว่า การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) การสอบวัดความถนัดทั่วไป (GAT) และการสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) ในปัจจุบันสังคมยังสับสนกับองค์ประกอบต่างๆ ที่จะใช้คัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในระบบแอดมิชชั่นส์ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) จึงร่วมกับ สทศ. จัดชี้แจงและสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบที่ถูกวิธีให้กับครู นักเรียน และผู้ปกครองใน 4 ภูมิภาค โดยที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหันไปใช้ระบบรับตรงถึง 70% ซึ่งปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่จะมีการรับสูงเป็นประวัติศาสตร์ แต่ในปีต่อไปต้องลดลง และหันมาใช้ระบบแอดมิชชั่นส์มากขึ้น เพราะระบบแอดมิชชั่นส์ ถือเป็นระบบที่โปร่งใส และยุติธรรมมากที่สุด ไม่สามารถฝากเด็กเข้าเรียนได้

"ผมได้หารือถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกับมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยมาสอบถามถึงเหตุผลที่รับตรงเพิ่มขึ้น ทุกคนให้เหตุผลว่าระบบแอดมิชชั่นส์กลางไม่สนองตอบในเรื่องสัดส่วนคะแนนที่แต่ละคณะต้องการใช้ในการคัดเลือกเด็ก และทุกคนยื่นข้อเสนอมาว่าถ้าระบบแอดมิชชั่นส์กลางสามารถยืดหยุ่นสัดส่วนคะแนนตามที่คณะต้องการได้ พร้อมที่จะลดส่วนการรับตรง และหันมาใช้แอดมิชชั่นส์กลางมากขึ้น" นายชัยวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ ขณะนี้ปอ.กำลังปรับสัดส่วนให้ตรงกับความต้องการของแต่ละคณะอยู่ ดังนั้นหากมหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามและยังรับตรงมากขึ้นเหมือนเดิม มหาวิทยาลัยก็ต้องตอบคำถามสังคมใน 3 เรื่องที่เป็นข้อสงสัยว่า ที่รับตรงเพราะอยากได้เงิน หรืออยากแย่งเด็กเก่งๆ หรืออยากสอบตรงมากเพื่อรับฝากเด็กจริงหรือไม่ เพราะเรื่องเหล่านี้ยังเป็นข้อกังขากับสังคมอยู่ และเชื่อว่าเมื่อปรับสัดส่วนให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยต้องการแล้ว ก็คงไม่มีเหตุผลใดที่มหาวิทยาลัยจะคงใช้วิธีรับตรงในสัดส่วนที่มากขึ้นต่อไป

ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวว่า การสอบGATและ PAT ในเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้สทศ.ตรวจสอบการปฏิบัติตามระเบียบการเข้าห้องสอบอย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่ไปผิดสนามสอบ,ไม่มีเลขที่นั่งสอบ ไปสายเกิน 30 นาที ไม่มีบัตรประชาชนหรือบัตรนักเรียน จะไม่มีสิทธิสอบ ห้ามนำเครื่องมือสื่อสารเข้าห้องสอบ และต้องอยู่ในห้องสอบจนหมดเวลา

ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวต่อว่า สทศ.กำหนดให้ร.ร.ส่งรายชื่อนักเรียน ป.6ม.3 และ ม.6 มาให้สทศ.เพื่อดำเนินการจัดสอบโอเน็ต ปีการศึกษา 52 ภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ หากร.ร.ไม่ส่งรายชื่อมาเด็กจะไม่มีสิทธิสอบโอเน็ต โดยเฉพาะเด็กม.6 หากไม่ได้สอบโอเน็ต ก็จะเข้ามหาวิทยาลัยลำบาก และสทศ.ก็จะไม่เพิ่มรายชื่อหลังจากกำหนดวันดังกล่าวเด็ดขาด หากจะฟ้องร้องก็ต้องฟ้องร.ร. เพราะร.ร.ไม่ส่งรายชื่อ ไม่ใช่ฟ้อง สทศ. โดยร.ร.ที่ยังไม่ส่งรายชื่อเด็ก ม. 6 มาให้ สทศ. ในภาพรวม สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ม. 6 ส่งมาแล้ว 85%

ส่วนใหญ่ ร.ร.ที่ยังไม่ส่งรายชื่อ จะอยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย อาทิ ส่วนท้องถิ่นศรีสะเกษ ยังไม่ส่ง 18 โรง ส่วนท้องถิ่นอุบลฯ ยังไม่ส่ง 10 โรง, สังกัด สพฐ. อาทิ สพท.สมุทรปราการเขต 2 มี 9 โรง ส่ง 3 โรง ขาด 6 โรง เป็นต้น ส่วนแยกตามภาคนั้น ภาคใต้ จ.สงขลา ขาด 46 โรง ,สตูล 11 โรง พังงา 9 โรง ตรัง 9 โรง ภูเก็ตและพัทลุง จังหวัดละ 1 โรง จึงอยากให้นักเรียน ม. 6 ทุกคน ตรวจสอบกับร.ร.ตนเองว่าได้ส่งรายชื่อนักเรียนให้ สทศ.แล้วหรือยัง เพื่อรักษาสิทธิ์และอนาคตของตนแอง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook