ตำรวจลั่น เอารถเมล์ขวางม็อบได้ คุย ขสมก.แล้ว ชี้ "ใครทำเสียหาย คนนั้นชดใช้"
วันนี้ (13 พ.ย.63) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร จัดการชุมนุม "ราษฎรสาส์น" โดยนำตู้ไปรษณีย์จำลองมาใช้ ว่า จะมีการดำเนินคดีแบ่งออกเป็น 2 คดี คือ
- คดีในพื้นที่ สน.สำราญราษฎร์ ฐานความผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 14 ราย
- ในพื้นที่ สน.ชนะสงคราม เป็นคดีในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาด โดยกรุงเทพมหานครได้แจ้งความร้องทุกข์เรียบร้อยแล้ว มีผู้กระทำความผิด 3 คน ซึ่งเป็นผู้นำเอาตู้ไปรษณีย์สีแดงเข้ามาในพื้นที่ โดยเมื่อดำเนินการเกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดแล้ว จะส่งพยานหลักฐานไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ทำการตรวจสอบว่าข้อความในจดหมายนั้น สามารถนำไปประกอบความผิดที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การชุมนุม ได้หรือไม่
ทั้งนี้กรณีที่มีการนำรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) มาใช้เป็นเครื่องกีดขวางการชุมนุมนั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้มีการหารือกับผู้แทนของขสมก. เรียบร้อยแล้ว การดำเนินการต่าง ๆ ครั้งนี้จึงไม่ใช่ครั้งแรก ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเป็นพยานหลักฐานนำไปสู่การฟ้องร้องและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป
"หากย้อนกลับไปเมื่อปี 51 ที่มีการปิดสนามบินมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 522 ล้านบาท ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้จำเลยทั้งหมดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว เช่นเดียวกับคดีวางเพลิงเผาทรัพย์อาคารพาณิชย์บริเวณแยกราชปรารภ มีการฟ้องจำเลยซึ่งเป็นแกนนำที่กระทำความผิด 3 ราย ให้ชดใช้
และคดีปิดสำนักงานใหญ่ ปตท.ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลย 4 ราย ชดใช้เงินค่าเสียหาย 9.7 ล้านบาท ซึ่งในกรณีของรถเมล์นั้น ขอให้ขสมก.ไม่ต้องกังวลปัญหาดังกล่าว" รองผบช.น. กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำรถเมล์ ของ ขมสก. มาใช้นั้น ได้มีการพิจารณาตามความเหมาะสมแล้ว โดยมีการประสานขออนุญาตนำมาใช้อย่างถูกต้องระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน ซึ่งในกรณีนี้ หากมีผู้หนึ่งผู้ใดทำให้เกิดความเสียหาย ผู้กระทำผิดจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญาต่อไป