แพทย์ผิวหนังชี้ โรคพยาธิหอยคัน ทำให้ผิวหนังอักเสบ แต่ไม่อันตรายถึงชีวิต
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรณีมีชาวบ้านจำนวนมากกว่า 200 คน ซึ่งเป็นชาวนาในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ประสบกับปัญหาดำนาแล้วเกิดผดผื่นคัน และเป็นตุ่มตามแขนขา ในระยะเวลาช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2563 สำหรับการวินิจฉัยสาเหตุของผื่นคันที่เกิดขึ้นนั้น จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ทำแผนที่การระบาด รวมทั้งการนำตัวอย่างน้ำและหอยในนาไปตรวจ พบว่า เป็นการแพร่ระบาดของโรคพยาธิหอยคัน ซึ่งเกิดจากตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในเลือดที่อยู่ในตัวหอยคัน มักเกิดกับเกษตรกรที่ต้องสัมผัสกับแหล่งน้ำอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะผู้มีอาชีพทำนาและผู้ที่ต้องสัมผัสกับแหล่งน้ำ
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคพยาธิหอยคันหรือโรคคันน้ำ เกิดจากพยาธิตัวอ่อนระยะเซอคาเรียของพยาธิใบไม้ของสัตว์ เช่น วัว ควาย เนื่องจากมีพยาธิมีแหล่งที่อยู่เป็นสัตว์ คนไม่ใช่แหล่งที่อยู่ของพยาธิ พยาธิไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้ เมื่อพยาธิเข้าสู่ร่างกายก็มักจะตายหลังจากไชไประยะเวลาหนึ่ง เมื่อพยาธิไชไปตามผิวหนังก็กระตุ้นให้เกิดอาการทางผิวหนัง คันตามตัว ตุ่มแดงคล้ายแมลงกัด ผื่นแดง มีตุ่มน้ำใส ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการแพ้มากเป็นพิเศษ ทำให้เกิดตุ่มจำนวนมาก ยิ่งทำให้เกิดอาการคันมากยิ่งขึ้น พยาธิเหล่านี้จะมีวงจรชีวิตช่วงหนึ่งที่อาศัยอยู่ในหอยคัน เมื่อพยาธิเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายของเราจะไม่เป็นอันตรายเนื่องจากไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่จะก่อให้เกิดความรำคาญจากอาการคัน ในด้านการรักษาคือ รักษาตามอาการ ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการคันมาก ๆ และมีผื่นลุกลามให้ใช้ยาทาแก้คันพวกคาลาไมด์ หรือสเตียรอยด์ครีมทาบริเวณที่คัน หรือรับประทานยาแก้แพ้ แต่ถ้ามีอาการเล็กน้อยก็ไม่ต้องรักษา อาการเหล่านี้จะหายไปเองภายในเวลา 14 วัน สำหรับการป้องกันไม่ให้พยาธิหอยคันเข้าสู่ร่างกายนั้น ผู้ที่จะต้องสัมผัสกับแหล่งน้ำต่างๆ อยู่เสมอให้ใช้อุปกรณ์ป้องกัน ใส่รองเท้าบูท หรือทาน้ำมันพืช, ใช้วาสลินทาก่อนลงสู่แหล่งน้ำแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้พยาธิมาเกาะผิวหนังและล้างตัวทำความสะอาดทันทีหลังสัมผัสกับแหล่งน้ำที่คาดว่าจะมีตัวอ่อนพยาธิ