“คามาลา แฮร์ริส” สตรีผู้เปลี่ยนประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2020 เสร็จสิ้นลงไปแล้ว พร้อมกับชัยชนะของโจ ไบเดน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าว่าที่ประธานาธิบดี คือ คามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีที่ได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลกทันทีที่เธอได้รับการคัดเลือกให้ลงชิงชัยในตำแหน่งรองประธานาธิบดี สู้กับไมค์ เพนซ์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน
ชีวิตของแฮร์ริสเชื่อมโยงกับความเป็น “คนแรก” เสมอ และสตรีผู้นี้ก็ต้องฟันฝ่ากับอุปสรรคมากมาย กว่าจะมายืนอยู่ในตำแหน่งว่าที่รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ เส้นทางชีวิตของเธอต้องพบเจออะไรบ้าง Sanook ขอพาทุกคนไปทำความรู้จัก “คามาลา แฮร์ริส” สตรีที่จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ ไปตลอดกาล
เด็กหญิงอเมริกันเชื้อสายอินเดีย-จาเมกา
“คามาลา แฮร์ริส” เกิดที่เมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย แม่ของแฮร์ริสเป็นนักวิจัยโรคมะเร็งเต้านมชาวอินเดีย ที่เดินทางมาเรียนต่อที่สหรัฐฯ ส่วนพ่อเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผิวดำชาวจาเมกาที่อพยพมาอยู่ในสหรัฐฯ แม้จะเป็นลูกครึ่งอินเดีย-จาเมกา แต่แฮร์ริสก็พูดเสมอว่าเธอพอใจกับ “อัตลักษณ์” และภูมิใจในความเป็น “อเมริกัน” ของเธอเอง
พ่อแม่ของแฮร์ริสหย่าร้างกัน เมื่อเธออายุได้ 5 ปี ก่อนที่เธอจะย้ายตามแม่ไปอยู่ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่ออายุ 12 ปี ที่นี่เองที่แฮร์ริสได้เข้าร่วมคณะเต้นรำหญิงล้วน ชื่อ Midnight Magic และเมื่อไรก็ตามที่พวกเธอไม่ต้องเต้นรำ เด็กสาวเหล่านี้ก็จะจัดการชุมนุมในประเด็นต่าง ๆ เช่น เมื่อแฮร์ริสอายุ 13 ปี เธอเป็นแกนนำในการประท้วงกฎที่ไม่อนุญาตให้เด็ก ๆ เล่นในสนามหน้าอาคารที่พัก นอกจากนี้ แฮร์ริสยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเด็กสาวที่ตัดสินใจไปงานพรอมโดยไม่มีคู่เดต เพื่อทำให้เพื่อนที่ไม่มีคู่เดตไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
หลังจากเรียนจบมัธยมปลาย แฮร์ริสเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยโฮวาร์ด ในวอชิงตัน ดี.ซี. จากนั้น เธอเข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย หลังจากเรียนจบ แฮร์ริสเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยอัยการเขต ก่อนจะผันตัวมาเล่นการเมือง
“คามาลาเป็นตำรวจ!”
ตลอดชีวิตการทำงานของแฮร์ริส เธอได้ทำลายเพดานของการเป็น “คนแรก” มาหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งอัยการเขตหญิงคนแรกของซานฟรานซิสโก, อัยการสูงสุดหญิงคนแรกของรัฐแคลิฟอร์เนีย, สมาชิกวุฒิสภาเชื้อสายอินเดียคนแรกของวุฒิสภาสหรัฐฯ, ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเชื้อสายอินเดียคนแรก และอีกไม่ช้า แฮร์ริสจะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น หากโจ ไบเดน ตัดสินใจดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเพียง 1 สมัย ก็มีความเป็นไปได้ว่าในปี 2024 แฮร์ริสจะลงสมัครชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดี และถ้าเธอชนะ เธอก็จะกลายเป็นประธานาธิบดีหญิงผิวดำคนแรกของประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผลงานการทำงานที่ยอดเยี่ยมและมีจุดแข็งในด้านกระบวนการยุติธรรม แต่แฮร์ริสก็ถูกโจมตีจากฝั่งตรงข้ามเสมอ ถึงการออกนโยบายที่ “โหด” ของเธอ โดยแฮร์ริสเป็นที่รู้จักว่า เป็นอัยการที่มีแนวโน้มจะส่งฟ้องหรือลงโทษคนผิวดำหรือคนฮิปสแปนิกอย่างรุนแรง ขณะเดียวกัน แฮร์ริสยังทำให้สถิติการจับกุมและดำเนินคดีของเมืองซานฟรานซิสโกสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ จึงทำให้หลายคนเรียกเธอว่า “คามาลาเป็นตำรวจ” และมองว่า เธอยัง “หัวใหม่” ไม่พอ
ชัยชนะของแฮร์ริส
นาเดีย บราวด์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า “ชัยชนะของแฮร์ริสเป็นประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่เป็นชัยชนะของเธอเพียงคนเดียว มันเป็นชัยชนะร่วมของหญิงผิวดำอีกนับไม่ถ้วน ที่ทำให้วันนี้เกิดขึ้นได้จริง” อาจกล่าวได้ว่า ชัยชนะของแฮร์ริสในครั้งนี้ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการที่คนผิวดำสามารถใช้สิทธิ์ของตัวเองในฐานะพลเมืองในประเทศนี้ได้อย่างเต็มรูปแบบ
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 แฮร์ริสปรากฏตัวบนเวทีครั้งแรกในฐานะรองประธานาธิบดี ด้วยชุดสูทสีขาวและเสื้อคอผูก แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของผู้หญิงในแวดวงการเมืองที่สวมใส่ชุดสีขาวในวันสำคัญของพวกเธอแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เชอร์ลีย์ คริสโฮล์ม ที่สวมชุดสีขาว ขณะเข้ารับตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาคองเกรสหญิง เชื้อสายแอฟริกันคนแรก ในปี 1968, เจอรัลดีน เฟอร์ราโร สวมชุดสีขาวหลังได้รับเลือกให้เป็นผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี จากพรรคเดโมแครต ในปี 1984 เคียงคู่กับวอลเตอร์ มอนเดล ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะนั้น, ฮิลลารี คลินตัน สวมชุดสูทสีขาว ในวันรับตำแหน่งผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ปี 2016 ขณะที่เสื้อคอผูกก็เป็นสัญลักษณ์การแต่งตัวที่ทรงพลังของมากาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร
นิตยสาร TIME ยกให้ชัยชนะของแฮร์ริสเป็นเหมือนชัยชนะของเฟมินิสต์ ที่แม้ไม่ใช่การออกมาเรียกร้องให้ทำลายล้างระบบทุนนิยม หรือล้มล้างระบบปกครองทั้งหมดได้ แต่สิ่งที่แฮร์ริสได้พิสูจน์ให้คนทั้งโลกเห็น คือเธอสามารถทำลายเสาหลักหนึ่งของระบบชายเป็นใหญ่ได้ นั่นคือ ทำเนียบรองประธานาธิบดีที่เป็นชายผิวขาวมาตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐนั่นเอง