อุตุฯสั่งจับตาพายุ"กิสนา"ถล่มไทย29-30ก.ย.
ฝนตกหนักต่อเนื่อง น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร -พื้นที่ทางการเกษตร หลายหมู่บ้านของอำเภอเมือง และอำเภอชนแดน ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ด้านอุตุฯเตือนพายุ "กิสนา" พัดถล่ม 12 จังหวัดภาคอีสาน ระวังน้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 30 ก.ย.- 3 ต.ค. นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่มีฝนตกลงมาต่อเนื่องตลอดทั้งคืน ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร รวมไปถึงพื้นที่ทางการเกษตรในหลายพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะ ม.1,2,3,4,9 ,11 ตำบลนายม อ.เมือง หมู่ 5,8,11 ตำบลวังชมภู อ.เมือง หมู่ 4,5,9,12,14 ต.ห้วยสะแก อ.เมือง ระดับน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร รวมไปถึงหน่วยงานราชการ เช่นสถานีอนามัย สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล สถานศึกษา และวัด หลายแห่ง ถูกน้ำท่วมขังโดยระดับน้ำมีความลึกสุดอยู่ที่ 80 ซม.ถนนสายสำคัญที่ใช้สัญจรหลายเส้นทางถูกน้ำท่วมทำให้การสัญจรทั้งรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ไปมาเป็นไปด้วยความยากลำบาก
โดยเฉพาะถนนสายเพชรบูรณ์ -วิเชียรบุรี สายใหม่ บริเวณหลักกิโลเมตร ที่ 73 เกิดน้ำป่าจากเทือกเขาผาแดง ไหลเข้าท่วมถนนทำให้รถยนต์เก๋ง ยี่ห้อโตโยต้า โซลูน่า ทะเบียน กง 51 เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นของนายไพรวัน ขุนทิพย์ อายุ 38 ปี ซึ่งขับรถมาจากกรุงเทพมหานคร มาเยี่ยมบ้าน ถูกกระแสน้ำพัดตกถนน และรถจักรยานยนต์ฮอนด้า แฟนท่อม ทะเบียน 464 เพชรบูรณ์ ของนายพิชิตพล มิ่งรอด อายุ 35 ปี ถูกกระแสน้ำพัดสูญหาย เบื้องต้นคาดว่ามีบ้านเรือนราษฎรกว่าพันหลังคาเรือน รวมทั้งพื้นที่ทางการเกษตร หลายพันไร่ถูกน้ำท่วม ได้รับความเดือดร้อน ซึงขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย
ในส่วนของพื้นที่ ม.2 ,3 ,7 ตำบลชนแดน อ.ชนแดน ก็มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องเช่นกันส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น และไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร รวมทั้งพื้นที่ทางการเกษตร เช่นกัน โดยบางจุดระดับน้ำมีความสูงราว 50-60 ซม.
ด้าน นางสาวอรนุช ทองศรี นักอุตุนิยมวิทยาปฏิบัติการ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า จากการพยากรณ์อากาศพบว่า ขณะนี้มีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มบริเวณจังหวัดเลย หนองคาย อุดรธานี กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ในระยะนี้ไว้ด้วย
อนึ่ง พายุโซนร้อน "กิสนา" บริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 1,000 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 15.7 องศาเหนือ ลองจิจูด 118.7 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 93 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อลมฟ้าอากาศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 3 ต.ค. 52
อุตุฯสั่งจับตาพายุ"กิสนา"ถล่มไทย29-30ก.ย.นี้
นายบุญธรรม ตั้งล้ำเลิศ ผู้พยากรณ์อากาศประจำวัน กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผย เมื่อวันที่ 27 กันยายน ว่า ระหว่างคืนวันที่ 29 ถึงเช้าวันที่ 30 กันยายนนี้ ประเทศไทยอาจจะได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "กิสนา" ที่ก่อตัวบริเวณทะเลจีนใต้ทางด้านตะวันตกของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อลมฟ้าอากาศของประเทศไทย ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีฝนเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ของประเทศไทย แต่ยังไม่สามารถระบุพื้นที่ได้ว่าจะเป็นพื้นที่ใดบ้าง ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่น่าจะมีความรุนแรงเพราะพายุไต้ฝุ่นจะมีลักษณะกระแสลมมากกว่าปริมาณฝน
นายบุญธรรม กล่าวว่าเป็นไปได้ว่าพายุโซนร้อนกิสนา อาจจะเข้าฝั่งที่ สปป.ลาว หรือ ทางตอนใต้ ของจีน อยากให้ประชาชนติดตามการพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนของกรมอุตุฯอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากพายุดังกล่าวไม่เข้าทางฝั่งประเทศไทย ก็ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่หากเข้าฝั่งไทยกรมอุตุฯจะติดตามและประกาศให้ทราบก่อนล่วงหน้า 24-48 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดความหวั่นวิตกมากจนเกินไป
ด้านนายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในส่วนของการรับมือปัญหาน้ำท่วมจากพายุดังกล่าว คงไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากก่อตัวขึ้นจากประเทศอื่น เมื่อขึ้นฝั่งก็จะอ่อนกำลังลง แต่ในปีนี้ถือว่าปริมาณฝนจะหนักสุดในรอบ 30 ปี คาดปริมาณฝนสะสมในปีนี้จะทะลุ 1,600 มิลลิเมตร จากเดิมที่มีไม่ถึง 1,500 มิลลิเมตร สำหรับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม.สามารถรับได้และระบายน้ำออกได้ภายใน 1 ชั่วโมง
"ส่วนพื้นที่น่าเป็นห่วง อาทิ ฝั่งพระนคร บริเวณ ถนนศรีอยุธยา ถนนมักกะสัน รัชดาภิเษก นวมินทร์ ฝั่งธนบุรี บริเวณวัดม่วง ถนนกาญจนาภิเษกตัดเพชรเกษม เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงการระบายน้ำ คาดจะเสร็จในปี 2554 ทั้งนี้ประชาชนติดตามความเคลื่อนไหวได้ตามป้ายไฟบนถนนสายหลัก จะแจ้งเตือนพื้นที่น้ำท่วมและแนะใช้เส้นทางเลี่ยง หรือสอบถามสายด่วน 1555"