โฆษกกลาโหมชี้ ผู้สื่อข่าวยังไม่จำเป็นต้องใช้ "เสื้อเกราะ" แม้สมาคมสื่อต่างชาติเรียกร้อง
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยในวันนี้ (19 พ.ย.) ว่า “เสื้อเกราะ” เป็นยุทธภัณฑ์ควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 กำหนดให้มีได้เฉพาะส่วนราชการทหาร ตำรวจ ส่วนราชการ องค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ที่มีภารกิจในการป้องกัน ปราบปรามและเสี่ยงภัย และไม่อนุญาตให้บุคลลทั่วไปมีไว้ในครอบครอง
ส่วนกรณีที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย หรือ FCCT ร้องขอให้ผู้สื่อข่าว มีและใช้เสื้อเกราะ เพื่อความปลอดภัยระหว่างทำข่าวการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ภายใต้กฎหมาย ที่ต่างยืนยันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันนั้น ฝ่ายความมั่นคงได้พิจารณาถึงความเหมาะสมต่อสถานการณ์แล้ว ยังไม่มีความจำเป็นที่ผู้สื่อข่าวต้องมีการใช้เสื้อเกราะดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะให้ความสำคัญกับจุดคัดกรองในทุกพื้นที่ชุมนุม และร่วมเฝ้าระวังดูแลความปลอดภัยของทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และจะปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันด้วยความระมัดระวังอย่างถึงที่สุดภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนด พร้อมทั้งต้องขอความร่วมมือผู้ชุมนุมทุกกลุ่มให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐและไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
ทั้งนี้ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย หรือ FCCT มีการออกแถลงการณ์เรื่อง ความปลอดภัยในการทำข่าวการชุมนุม หลังเกิดเหตุการณ์ชุลมุนบริเวณอาคารรัฐสภา แยกเกียกกาย เมื่อ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา จากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง และแก๊สน้ำตา จนส่งผลให้มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน รวมถึงเรียกร้องให้ผู้สื่อข่าวที่ต้องทำหน้าที่รายงานข่าวภาคสนาม จัดหาเครื่องป้องกันตนเองสำหรับการชุมนุมในอนาคต
เนื้อหาในแถลงการณ์ของ FCCT มีใจความว่า สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย มีความกังวลใจต่อสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างการชุมนุมประท้วงหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ซึ่งมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 55 คน อีกทั้งยังมีการใช้ทั้งแก๊สน้ำตาและน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี
นอกจากนี้ สมาคมฯ มีความกังวลใจอย่างยิ่งต่อรายงานจากศูนย์เอราวัณ ที่ระบุว่าผู้ชุมนุมฝ่ายเรียกร้องการปฏิรูปได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืน หลังเกิดเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มปกป้องสถาบันฯ และกลุ่มผู้ชุมนุมที่นำโดยนักศึกษา
สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้ผู้สื่อข่าวทุกคนจัดหาเครื่องป้องกันตนเองขณะรายงานข่าวการชุมนุมในอนาคต รวมถึงเครื่องมือป้องกันศีรษะ ใบหน้า และลำตัว ในการนี้ สมาคมฯ ขอย้ำข้อเรียกร้องให้ทางการไทยอนุญาตผู้สื่อข่าวและทีมงานกู้ภัย สามารถใช้เสื้อเกราะกันกระสุนได้อย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากกระสุนปืน
ทั้งนี้ เสื้อเกราะกันกระสุนยังถือเป็นยุทธภัณฑ์ต้องห้ามสำหรับพลเรือน และมีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งเคยถูกดำเนินคดีเนื่องจากมีเสื้อเกราะกันกระสุนในครอบครอง
สมาคมฯ ยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้ความอดทนอดกลั้นในการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ และมีความเข้าใจในการทำงานของผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ล่าม ตลอดจนสื่อมวลชนอื่นๆ ทุกแขนงในสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่งตามที่ปรากฏในขณะนี้