“WTF ชะนีออนไลน์??” เรื่องเดตสุดลับ บนเวทีสแตนด์อัพคอเมดี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 บังคับให้คนส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้าน และการพบปะผู้คนก็กลายเป็นกิจกรรมต้องห้ามไปโดยปริยาย แน่นอนว่าการไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ทำให้สัตว์สังคมอย่างเราๆ รู้สึกเหงาไม่น้อย โดยเฉพาะนพนันท์ อริยะวงศ์มณี หรือ เคซี ที่เพิ่งเลิกรากับแฟนสาว นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตัดสินใจใช้ “การเดตออนไลน์” เป็นตัวช่วยคลายความเหงาและเปิดโอกาสเให้ตัวเองได้ทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ อีกครั้ง แต่การลองอะไรใหม่ๆ ในครั้งนี้ ก็นำเขาไปพบเจอเหตุการณ์แปลกๆ เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงนำประสบการณ์ “อิหยังวะ” ที่ได้พบเจอระหว่างการเดตออนไลน์ มาเล่าผ่านการแสดงสแตนด์อัพคอเมดี้ “WTF ชะนีออนไลน์??” เพื่อสร้างเสียงหัวเราะและเป็นอุทาหรณ์ให้กับ “คนเหงา” ทุกคน
เปิดม่านผ่านเดตออนไลน์
เพราะเป็นคนตลกและชอบยิงมุกเป็นทุนเดิม นพนันท์จึงใฝ่ฝันว่าจะมีโอกาสได้ขึ้นไปแสดงตลกบนเวที ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่เขาลาออกจากงานประจำ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ KC เลือกเดินตามความฝัน และสวมบทบาท “สแตนด์อัพคอเมเดี้ยน” เป็นอาชีพ
“ส่วนตัวผมเป็นคนตลก ผมชอบเล่นมุก ใครๆ ที่รู้จัก เขาก็บอกว่าทำไมไม่ไปแสดงสแตนด์อัพคอเมดี้ล่ะ จนช่วงโควิด-19 ผมก็ลาออกจากงานพอดี เราอายุขนาดนี้แล้ว และผมเองก็อยากเป็นนักพูด มันเป็นความฝันว่าในชีวิตนี้อยากขึ้นไปเล่นตลกให้คนดูบนเวที อยากทำเป็นอาชีพ แล้วถ้าไม่ทำตอนนี้ ก็ไม่มีโอกาสได้ทำแล้ว” นพนันท์เล่า
แต่ในสังคมไทยที่มหรสพอย่างสแตนด์อัพคอเมดี้ยังไม่ได้รับความนิยมเหมือนในต่างประเทศ การเลือกหัวข้อมาเล่าจึงเป็นความท้าทายของนักเล่าเรื่องหน้าใหม่คนนี้ แต่ในท้ายที่สุด “การเดตออนไลน์” ก็กลายเป็นหัวข้อที่นพนันท์เลือก หลังจากผ่านประสบการณ์ออกเดตในช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 ที่เขามองว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจและยังไม่มีใครหยิบยกมาเล่าบนเวทีสแตนด์อัพคอเมดี้ในไทยเลย
“มันเป็นประเด็นที่คนอื่นไม่กล้าเล่น แล้วปัจจุบันนี้ทุกอย่างมันออนไลน์หมดแล้ว พอมาช่วงโควิด ซึ่งเป็นช่วงที่เราโสดพอดี สถานที่ท่องเที่ยวปิดหมด เราไม่สามารถไปเจอใครได้เลย พอเราอยากเจอสาว เราก็ไปเจออะไรแปลกๆ เลยอยากให้เป็นอุทาหรณ์ อยากเล่าให้สังคมฟังว่า ถ้าไปเดตออนไลน์ คุณมีสิทธิ์ที่จะเจออะไรแบบนี้ แต่มันก็ไม่ได้แย่อย่างที่คนเข้าใจกัน” นพนันท์กล่าว แต่ก็ย้ำว่า “มนุษย์น่ากลัวมาก”
ตลกแต่ไม่ทำร้ายใคร
สแตนด์อัพคอเมดี้มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเล่นมุก ที่ทำร้ายจิตใจคนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเพศ สีผิว เชื้อชาติ รวมไปถึงการเหยียดรูปร่างหน้าตา คำถามก็คือ แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะเล่าเรื่องตลกโดยไม่ทำให้ใครคนใดคนหนึ่งรู้สึกเจ็บปวด และเส้นแบ่งของความตลกกับการเคารพผู้อื่นคืออะไร ซึ่งนพนันท์ก็อธิบายว่า
“ผมพยายามที่จะไม่โจมตีโดยตรงด้วยความเป็นตัวเขา ส่วนใหญ่จะพูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่า แต่มันก็อาจจะมีบ้าง อย่างเรื่องผู้หญิงที่ส่งภาพมากับตัวจริงเหมือนเป็นคนละคนเลย ผมก็จะเอาประเด็นนี้มาคุย เราไม่ได้เหยียดหน้าตาเขา แต่เราสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงในปัจจุบันมากกว่า ว่าเราดูจากภาพอย่างเดียวไม่ได้นะ แต่ถามว่า ถ้าเราเป็นนักแสดงตลกแล้วไม่มีคนเกลียดเราเลย ก็คงไม่ใช่ แน่นอนอยู่แล้วว่าบางคนอาจจะรับมุกของเราไม่ได้ แต่เราก็ไม่ได้โจมตีใครนะ ผมล้อเลียนตัวเองมากกว่า ยังไงผมก็คิดว่าเส้นของมันบางมากจริงๆ เราก็อาจจะมีข้ามไปข้ามมา แต่ก็พยายามที่จะไม่ข้ามจนเกินไป ไม่ใช่ไปชี้หน้าด่าเขา”
แล้วถ้าเป็นเช่นนี้ เมื่อคนในสังคมตระหนักรู้เรื่องความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctness หรือ PC) มากขึ้น จะส่งผลให้การทำงานในฐานะนักแสดงตลกยากขึ้นหรือไม่ นพนันท์ก็มองประเด็นนี้ว่า การตื่นรู้ของคนไม่ได้ส่งผลต่อการเล่นมุก ในทางกลับกัน นักแสดงยังสามารถไต่ระดับของการเล่นมุกได้มากขึ้น เพราะคนในปัจจุบันเริ่มรับอะไรได้มากกว่าคนสมัยก่อน แต่ทั้งนี้ เขาเองก็ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ และพยายามที่จะลดการสร้าง “ดราม่า” ให้มากที่สุด
“อย่างเรื่องกุมารทองหรืออะไรแบบนี้ เราก็จะแจ้งผู้ชมว่าเราไม่ลบหลู่นะ เราแค่จะเล่าให้ฟังเฉยๆ บางทีเราห้ามความคิดใครไม่ได้ แต่ผมคิดว่า สิ่งที่ผมพูดออกไป มันก็เป็นสิ่งที่เขาคิดเหมือนกัน เพียงแต่เขาจะพูดมันออกมาไหมแค่นั้นเอง” นพนันท์กล่าว
“WTF ชะนีออนไลน์??”
แม้การแสดงสแตนด์อัพคอเมดี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ต้องยอมรับว่าการแสดงตลกรูปแบบนี้ยังไม่ได้รับความนิยมเมื่อเทียบกับการแสดงตลกแบบอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น สแตนด์อัพคอเมดี้ก็แทบจะผูกขาดอยู่กับ “โน้ต อุดม” ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกวงการนี้ในประเทศไทยไปแล้ว ประกอบกับพื้นที่ในการแสดงก็ยังมีไม่มากพอเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ จึงทำให้กระแสสแตนด์อัพคอเมดี้ในบ้านเราไม่ถูกพูดถึง หรือถูกพูดถึงในวงเล็กๆ เท่านั้น ทว่าก็ยังมีคนมากมายที่พยายามเดินตามความฝัน เพื่อเข้ามายืนบนเวทีและได้เล่าเรื่องตลก สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม
“ต้องตลก หน้าด้าน กล้าที่จะโดนวิจารณ์ แล้วต้องมีความคิดประหลาดไม่เหมือนชาวบ้าน” นพนันท์ตอบ เมื่อเราถามถึงคุณสมบัติของการเป็นสแตนด์อัพคอเมเดี้ยน
แน่นอนว่าความตลกของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน จึงต้องมารอลุ้นกันว่า “WTF ชะนีออนไลน์??” ในครั้งนี้จะติดตราตรึงใจและสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมได้มากแค่ไหน
“สำหรับคนที่อยากลองเดตออนไลน์ คนที่สงสัยว่าเดตออนไลน์เป็นอย่างไร หรือคนที่กำลังเดตออนไลน์อยู่ หรือคนที่แอนตี้ก็ตาม พวกคุณทุกคนมาฟังได้หมด ผมว่ามันเป็นความรู้ใหม่ เป็นสังคมแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น มันอาจจะเป็นทางเลือกที่ให้คุณไปลองเดตออนไลน์ดู หรือมันอาจจะเป็นทางเลือกที่ทำให้คุณถอยหนี แต่มีความรู้ใหม่ก็ไม่ได้เสียหายอะไร และรับประกันว่าฮาแตก และไม่เคยได้ฟังจากที่ไหนแน่นอน” นพนันท์ทิ้งท้าย
ตามไปฟังเรื่องราวสุดพิศวง ที่จะทำให้คุณตื่นเต้นและตลกขบขัน จากประสบการณ์ตรงของนพนันท์ได้ที่งาน เทศกาลละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Festival 2020) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน 2563 เวลา 17:00 – 17:30 น. และวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2563 เวลา 17:30 – 18:00 น. ฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่าย