เลื่อนขั้นสู่...เรฟูจีชั้นดี

เลื่อนขั้นสู่...เรฟูจีชั้นดี

เลื่อนขั้นสู่...เรฟูจีชั้นดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : นิภาพร ทับหุ่น

นานมาแล้วที่พวกเขาทิ้ง บ้าน โดยไม่คิดจะหันหลังกลับ ยอมใช้ชีวิตยากลำบากเพื่อหาบ้านหลังใหม่ และพยายามทำให้ทุกคนยอมรับว่าพวกเขาคือคนคุณภาพ

นานมาแล้วที่พวกเขาทิ้ง 'บ้าน' โดยไม่คิดจะหันหลังกลับ ยอมใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเพื่อหา 'บ้าน' หลังใหม่ และพยายามทำให้ทุกคนยอมรับว่า พวกเขาคือคนคุณภาพ

"เหงา"

พร้อมๆ กับเสียงที่เปล่งออกมาแบบไม่เต็มคำ น้ำตาเจ้ากรรมก็รื้นขึ้นจนเธอต้องหลบตาจากคู่สนทนา เพราะเกรงว่าจะมีใครมองเห็นความอ่อนแอที่ฝังลึกอยู่ในหัวใจของผู้หญิงพลัด ถิ่นคนหนึ่ง

แตะแตะ หญิงสาวชาวกะเหรี่ยง วัย 40 ปี พาตัวเองหนีบ้านเกิดอันแสนโหดร้ายในฝั่งพม่า มาฝังตัวอยู่บนผืนแผ่นดินไทยบริเวณพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา

อาจจะถูกจำกัดพื้นที่จนสะกดคำว่า "อิสระ" ไม่ถูก แต่เธอกลับพูดได้อย่างเต็มปากว่า "ดีใจ" และส่ายหน้าอย่างรวดเร็วเมื่อถูกถามว่า อยากกลับไป...อีกหรือเปล่า

บ้านใหญ่หลังไฟสงคราม

บนทางหลวงหมายเลข 105 สายแม่สอด-แม่สะเรียง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 57-60 ภูผาที่ตั้งตระหง่านอยู่ทางด้านซ้ายมือห่มล้อมด้วยเพิงพักหลังคามุงใบตองตึง ขนาดย่อม ตั้งลดหลั่นกันไปตามเชิงเขา เมื่อมองผ่านม่านน้ำฝน หมู่บ้านนั้นช่างสวยงามโรแมนติกเหมือนหมู่บ้านในฝัน แต่พลันที่ได้ลงไปสัมผัสและเห็นความเป็นอยู่ของคนด้านใน...

"ฝันสลาย" เป็นคำพูดที่มีอยู่จริง

นี่คือสถานที่ตั้งของ "ค่ายอพยพ" หรือที่ทางการกำชับให้เรียกว่า "พื้นที่พักพิงชั่วคราว"

บ้านแม่หละ เป็นพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จากทั้งหมด 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ราชบุรี ตาก และแม่ฮ่องสอน

ใหญ่ที่สุดไม่ได้แปลว่าดีที่สุด ในทางกลับกันพื้นที่พักพิงฯ บ้านแม่หละดูเหมือนจะเจอสารพันปัญหาจนปลัดอำเภอคนปัจจุบันถึงกับสาธยายไม่หมด

"เยอะ" ฉลองชัย อร่ามรุ่งโรจน์ ปลัดอำเภอหมาดๆ เว้นเสียงนิดหนึ่งก่อนจะค่อยๆ เล่าให้ฟัง ไล่ตั้งแต่ปัญหาการเพิ่มของประชากรจากอัตราการเกิดเฉลี่ยเดือนละ 70-80 คน ปัญหาการลักลอบเข้ามาของราษฎรพม่า ปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อม ปัญหาผลกระทบกับราษฎรไทยที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่พักพิงฯ ปัญหาผู้หนีภัยและราษฎรพม่าที่ลักลอบออกนอกพื้นที่พักพิงฯ

"ไม่มีใครอยู่ในพื้นที่พักพิงฯ 100 เปอร์เซ็นต์หรอก สมมติในครอบครัวมี 5 คน ก็จะมีบางคนลักลอบออกไปทำงานที่แม่สอดบ้าง ที่กรุงเทพฯ บ้าง แม้การกินอยู่จะดีพร้อม แต่ปัจจัย (เงิน) ไม่มี เขาก็ต้องดิ้นรนออกไป บางคนลักลอบออกนอกพื้นที่แล้วไปสร้างปัญหาอื่น เช่น ไปรับจ้างตัดไม้ทำลายป่า ลักขโมย ก่ออาชญากรรม ค้าแรงงาน เคลื่อนย้ายแรงงานสู่เมือง แล้วก็นำไปสู่การค้ายาเสพติด ซึ่งถ้าเราพบว่าทำความผิดอันดับแรกจะประนีประนอมก่อน แล้วถ้าไม่ได้ก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม"

นับตั้งแต่เหตุการณ์กองทัพพม่าปะทะกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ในปี 2527 ชาวบ้านที่ทหารพม่าเรียกว่า "ชนกลุ่มน้อยที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล" หนีทะลักเข้ามาฝั่งไทยจนรัฐบาลต้องจัดตั้งพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้กับ "ผู้หนีภัยการสู้รบ" ตามคำเรียกของรัฐบาลไทย หรือ "ผู้ลี้ภัย" ตามคำเรียกของสหประชาชาติ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนราษฎรพม่าอาศัยอยู่ราว 50,000 คน แยกเป็น กลุ่มผู้หนีภัยการสู้รบและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่ง สหประชาชาติ (UNHCR) จำนวน 20,445 คน ผู้พลัดถิ่น จำนวน 11,493 คน และผู้ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกกว่าหมื่นคน

"ตอนนี้นโยบายคือ 1.ผลักดันให้ไปอยู่ในประเทศที่สาม 2.รอให้เหตุการณ์ปกติแล้วส่งกลับ และ 3.ดูสถานการณ์ในประเทศไทยว่าจะมีทิศทางและแนวนโยบายอย่างไร"

อยู่อย่างมีความหวัง

สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงฯ บ้านแม่หละ ดูจะไม่ต่างจากพื้นที่พักพิงฯ อื่นๆ ที่ตั้งกระจายอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า แต่สิ่งหนึ่งที่พิเศษกว่า นั่นก็คือ สมาชิกหลายคนที่นี่มีโอกาสได้เรียนรู้ ฝึกอาชีพและสร้างรายได้ให้กับตัวเอง

โครงการฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงฯ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ส่งเสริมด้านการสร้างอาชีพและการศึกษาแก่ผู้หนีภัย ZOA Refugee Care (โซอาร์) เพื่อหวังยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้หนีภัย

Brian Solomom Country Director ของโซอาร์ บอกว่า การศึกษาช่วยเสริมสร้างทักษะในการดำเนินชีวิตให้กับผู้หนีภัยฯ ถ้าเทียบจากตอนที่อยู่พม่า คนเหล่านี้ไม่มีทั้งโอกาสและเงิน ดังนั้นเมื่อพวกเขาอพยพตัวเองมาอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว การฝึกอาชีพน่าจะเป็นโอกาสหนึ่งที่ผู้หนีภัยฯ จะได้รับเพื่อเพิ่มทักษะและเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง และเป็นผู้หนีภัยการสู้รบที่มีคุณภาพ

"ตอนเราเข้ามาดูในพื้นที่พักพิงฯ ไม่มีอะไรเลย พวกเขาไม่มีอาชีพ พวกที่ไปเรียนหนังสือก็ไป แต่ก็เท่านั้น ไม่มีงานที่ก่อให้เกิดรายได้ เราก็เข้ามาดู แล้วคุยกับทางสารพัดช่างว่ามาช่วยกันนะ" ไบรอัน บอก

ด้าน ณ สรวง ผิวผ่อง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า โซอาร์ ทำหน้าที่สนับสนุนวัตถุดิบ อุปกรณ์การเรียนการสอน และประสานงานภายในพื้นที่พักพิงฯ ส่วน สอศ. จะจัดครูเข้ามาฝึกอบรม

"เราจัดครูเข้ามาฝึกอบรมคนในพื้นที่พักพิงฯ ให้เป็นครูน้อย ครูพี่เลี้ยง ทำให้มีอาชีพมากกว่าที่เป็นอยู่ คนในนี้เดิมไม่รู้จะทำอะไรเลย เราเลยเอาความรู้มาสอน วิชาที่มาสอนก็มีหลากหลาย ทั้งงานเครื่องยนต์ งานตัดเย็บ งานซ่อมไฟฟ้า ซ่อมวิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ สิ่งที่เราหวังคือ เขาสามารถประกอบอาชีพได้ และช่วยยกระดับชีวิตให้มีคุณค่ามากกว่าเดิม จากที่ทำอะไรไม่เป็นเลยก็ทำเป็น ซ่อมเครื่องยนต์ ทำเป็นหมด ดูแลเด็กๆ และคนแก่ได้ เป็นความรู้ติดตัวเมื่อเขาไปประเทศที่ 3 สามารถนำความรู้ไปต่อยอด อาจจะเรียนต่อ ถ้าไม่มีความรู้ก็จะใช้แรงงานได้เพียงอย่างเดียว จะใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่ 3 ได้ไม่ดี"

โครงการนี้เป็นการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น หลักสูตร 30-150 ชั่วโมง ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 ถึงวันนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว มีผู้หนีภัยที่ผ่านการอบรมไปแล้วหลายรุ่น บางคนมีโอกาสได้ไปประเทศที่ 3 และใช้ความรู้ที่มีในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตัวเองมากกว่าแค่ขายแรงงาน

"มีไปหลายประเทศแล้ว ไปอเมริกา อยู่ในอู่ซ่อมรถยนต์ เพราะซ่อมเป็นแล้ว ค่าแรงก็สูง ช่างฝีมือในต่างประเทศไม่ต้องใช้วุฒิบัตรมากมาย แค่ซ่อมได้ มีความเป็นมืออาชีพ ค่าแรงเผลอๆ เป็นแสน บ้านเราจะดูที่ใบวุฒิบัตร ดูปริญญา แต่ที่เรามาสอนเป็นอาชีพระยะสั้น เป็นความรู้ติดตัวไป แต่ละหลักสูตรก็ใช้เวลาเรียนประมาณ 150 ชั่วโมง 25 วัน สอนความรู้พื้นฐานให้เกิดทักษะการทำงาน ทำได้ ทำเป็น ทำจริง บอกต่อ สอนได้ ครูที่มาสอนก็จะมีล่ามคอยแปลเป็นภาษากะเหรี่ยงอีกที"

สำหรับหลักสูตรที่เปิดสอนปัจจุบันมี 10 สาขาวิชา ได้แก่ แต่งเล็บ ซอยผม ตัดผมหญิง, ตัดผมชายเบื้องต้น, ตัดเสื้อเบื้องต้น เสื้อสมัยนิยม เสื้อผ้าทั่วไป, ทำอาหารและขนม, ซ่อมเครื่องยนต์แก๊สโซลีนเล็ก, ซ่อมเครื่องยนต์ดีเซลเล็ก, อิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น, ซ่อมรถจักรยานยนต์, เชื่อมงานผลิตภัณฑ์, และงานดูแลเด็กและผู้สูงวัย

"วิชาที่เปิดสอนเราได้ทำการสำรวจมาจากความต้องการของผู้เรียน คือถ้าคนในแคมป์สนใจอะไรก็จะเปิดสอน แต่จะกำหนดว่าสอนวิชาละไม่เกิน 20 คน เราต้องคัดเลือกเอาคนที่สนใจจริงๆ อบรมแล้วสอบจนได้ครูน้อย ครูผู้ช่วย เพื่อกลับมาสอนคนในแคมป์อีกที ซึ่งครูน้อยจะได้ค่าตอบแทนจากโซอาร์เป็นรายเดือน เดือนละ 1,000 บาท เขาอยู่ได้ เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร และเมื่อครูน้อยไปต่างประเทศ ครูพี่เลี้ยงก็จะเป็นผู้ฝึกสอนแทน"

พลังแห่งการก้าวเดิน

"ภูมิใจ"

แตะแตะ เผยความรู้สึกอีกครั้งในฐานะ "ครูน้อย" พร้อมๆ กับน้ำตาที่กำลังหลั่งริน เธอว่า ทุกครั้งที่มีคนเรียก "ครู" ความรู้สึกภาคภูมิใจก็จะปรี่เข้ามาประทับอยู่ในอกทุกที อาจไม่มีวุฒิบัตร ปริญญาบัตร เทียบเท่าข้าราชการคนอื่นๆ แต่คำว่า "ครู" ช่างศักดิ์สิทธิ์นัก สำหรับผู้หนีภัยที่ไม่มีทั้งโอกาส และบ้านจะซุกหัวนอนอย่างเธอ

"เป็นครูสอนตัดผม ตอนฝึกอบรมแรกๆ ก็ยากอยู่ พออบรมเสร็จก็ฝึกไปอีก 2 เดือน เสร็จแล้วก็มาสอบ พอสอบผ่านแล้วถึงจะได้มาสอบทำกับหัวคนจริงๆ ทั้งหมดประมาณ 3 เดือน เสร็จแล้วก็จะได้ประกาศนียบัตร TOA (Training of Trainer) ให้เป็นครูน้อย"

รายได้ 1,000 บาทต่อเดือนแม้จะน้อยนิดในสายตาคนอื่นทั่วไป แต่สำหรับครูแตะแตะมันมีค่ามหาศาล เพราะเงินจำนวนนี้ทำให้เธอดำรงชีวิตแต่ละวันได้อย่างพอเพียง

"เราอยู่ในแคมป์ไม่มีงานทำ ไม่มีความรู้อะไรเลย พอได้โอกาสนี้เราก็จะได้สอนเด็กๆ ด้วย มีความสุขนะ ดีใจที่ได้สอนเด็กให้มีความรู้ มีลูกศิษย์ 5 รุ่นแล้ว ได้ไปต่างประเทศแล้ว 2 คน เรายังไม่ได้ไปก็สอนต่อไป ได้เรียนรู้ ได้ช่วยชีวิตตัวเอง ช่วยเหลือคนข้างๆ จะฝึกไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้มีโอกาสไปประเทศที่สาม"

ประเทศที่ 3 ที่แตะแตะหวังจะไป คือ ออสเตรเลีย เพราะสามีของเธอได้รับเลือกให้ไปอยู่ที่นั่นตั้งแต่เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน ถ้าย้อนเวลาไปก็หลังจากที่แตะแตะหนีเข้าเมืองไทยมาได้ไม่กี่เดือน

"อยู่ที่โน่น(พม่า) ลำบากมาก ใครมีไร่นาก็ไม่อยากทำ เพราะทำนาได้ข้าว 4 กระสอบ ต้องให้พม่า 2 กระสอบ อยู่พม่าไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากเลย มาอยู่ที่นี่ยังมีโอกาส ถ้าอยู่โน่น ไม่มีเส้นสายก็ไม่มีโอกาสได้เห็นเงินเลย พอดีว่าเราไม่มีใคร พ่อแม่เสียหมดแล้ว ก็เลยติดต่อกับแฟน(ที่อยู่ในพื้นที่พักพิงฯ) แล้วก็หนีเข้ามา มาแต่งงานได้แป๊บเดียวแฟนก็ได้ไปออสเตรเลีย ตอนนี้เขาพยายามทำเรื่องกับทางสถานทูตออสเตรเลียขอให้เราไป เขาไปตั้ง 1 ปี 8 เดือนแล้ว ตั้งแต่เพิ่งมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ เลย ตอนนี้อยู่คนเดียว เหงามาก(น้ำตาไหล)"

ถึงวันนี้แตะแตะก็ยังมีความหวังว่าสักวันจะได้มีโอกาสถูกเลือกให้ไป ประเทศที่ 3 ต่างจาก อวง ยา ซิน ครูช่างยนต์ชาวกะเหรี่ยงวัย 51 ปี ที่ตั้งใจว่าจะอยู่เมืองไทยต่อไป เพราะตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในรั้วพื้นที่พักพิงฯ ภายใต้ผืนแผ่นดินแห่งความร่มเย็นของไทย เขารู้สึกสบายใจจนไม่อยากย้ายตัวเองไปไหนอีกจริงๆ

"อยากอยู่ประเทศไทย ไม่อยากไปไหนเลย อยู่มาไม่เคยคิดหนีออกไป เพราะรู้ว่าผิดกฎหมาย เคยได้ยินเหมือนกันนะ แม่สอด กรุงเทพฯ แต่ยังไม่เคยออกไปจากที่นี่ ไม่รู้ว่าเป็นยังไง" ครูน้อยช่างยนต์ ว่า

เพราะมีพื้นฐานจากการเป็นเด็กร้านซ่อมเครื่องยนต์ตั้งแต่สมัยอยู่ในฝั่ง พม่า อวง ยา ซิน จึงเลือกลงทะเบียนเข้าคอร์สฝึกอบรมวิชาช่างยนต์ ด้วยหวังจะเติมเต็มความรู้ให้กับตนเอง พร้อมเผยแพร่สู่บุคคลอื่นหากมีความสามารถพอเพียง

"ทำไมไม่เรียนรู้ที่พม่าต่อ จริงๆ ทำได้ แต่มันลำบากมาก ไม่มีเวลาทำงานเลย รัฐบาลชอบจับเราไปใช้แรงงานอยู่เรื่อยๆ ถ้าขัดขืนก็โดนทำร้าย เราเลยมาอยู่ที่นี่ ตอนนั้นมีสงครามเราเลยหนีเข้ามาฝั่งไทย ไม่อยากไปไหนแล้ว เรามีความรู้ มีลูกศิษย์ รุ่นนี้ 23 คน อนาคตเด็กในแคมป์จะได้มีความรู้ สักวันถ้าเขาได้ไปประเทศที่ 3 หรือกลับไปพม่าจะได้มีความรู้ สบายใจที่ได้เป็นครู" เขายิ้ม

ดูเหมือนจะราบเรียบ แต่ปัญหาหนึ่งที่ยังข้ามไม่พ้น นั่นคือ การนำวิชาชีพไปใช้งานในชีวิตจริง ถ้าบางคนฝึกอบรมแล้วได้ไปประเทศที่ 3 โครงการนี้ก็ไม่ถือว่าเปล่าประโยชน์ แต่ในกรณีที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศไทย และไม่มีการฝึกมืออย่างต่อเนื่องด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ จะมีสิ่งใดรับประกันความสามารถของพวกเขาได้

 

 

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ เลื่อนขั้นสู่...เรฟูจีชั้นดี

เลื่อนขั้นสู่...เรฟูจีชั้นดี
เลื่อนขั้นสู่...เรฟูจีชั้นดี
เลื่อนขั้นสู่...เรฟูจีชั้นดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook