ถ้วยกีฬา ทำไมถึงแจกสำหรับผู้ชนะการแข่งกีฬา และเหตุใดจึงต้องเป็นถ้วย

ถ้วยกีฬา ทำไมถึงแจกสำหรับผู้ชนะการแข่งกีฬา และเหตุใดจึงต้องเป็นถ้วย

ถ้วยกีฬา ทำไมถึงแจกสำหรับผู้ชนะการแข่งกีฬา และเหตุใดจึงต้องเป็นถ้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เขียนมักได้รับคำถามแปลกๆ ทางโซเชียลมีเดียเนื่องจากเล่นทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ซึ่งผู้เขียนก็ชอบที่จะหาคำตอบเพราะสนุกดี  เมื่อไม่นานมานี้มีคำถามที่สนุกมาก ดังนี้ครับ

"ทำไมรางวัลชนะเลิศการแข่งขันกีฬาอาชีพทัวร์นาเมนต์ต่างๆ จึงต้องเป็นถ้วย ขณะที่รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นเป็นแค่เหรียญคล้องคอ มีโทรฟี่ที่แปลกออกไปบ้าง เช่น ถาด-เทนนิสวิมเบิลดันโล่เข็มขัด-ชกมวย ขันน้ำพานรอง-ประกวดนางสงกรานต์ ถือว่ามีน้อย รางวัลส่วนใหญ่ยังเป็นถ้วย ถ้วยรางวัลมีกำเนิดอย่างไรคับ จะเดาว่ามีมาจากการแข่งขันตำน้ำพริกตำส้มตำ มันก็ไม่เห็นมีรางวัลเป็นครก เป็นสากกระเบือบ้างเลยนะ"

เบาะแสแรกจากสัญลักษณ์

การค้นหาคำตอบตามหลักวิชาก็ต้องอ้างอิงตามหลักวิชาสัญลักษณ์ศาสตร์ (Symbolism) ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นไปในทุกภูมิภาคของโลกและบ่อยครั้งเรื่องสัญลักษณ์นี้มีความหมายตรงกันข้ามกันในต่างสถานที่กัน

ในเมืองจีนนั้นคนจีนถือว่าเมฆบนท้องฟ้าเป็นสัญลักษณ์แห่งความยั่งยืนสถาพร เนื่องจากบรรดาดวงดาวทั้งปวงรวมทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จะหายไปตามช่วงเวลาของกลางวันและกลางคืน แต่เมฆจะอยู่บนท้องฟ้านิรันดร์ ดังนั้นชาวจีนจึงนิยมมีชื่อ มีแซ่หรือสมญานามว่าเมฆอยู่มาก เช่นกวนอู วีรบุรุษแห่งสามก๊กก็มีฉายาว่า "อวิ๋นฉาง- ผู้ยั่งยืนเสมอเมฆ"

ในขณะที่ฝรั่งตะวันตกถือว่าเมฆคือสัญลักษณ์ของความไม่แน่นอน (Ever Changing) จนมีคำพูดเป็นสุภาษิตว่า "As changeable as a cloud"

เรื่องอย่างนี้แหละที่ทำให้ตีความกันตามหลักวิชาสัญลักษณ์ศาสตร์จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้ริเริ่มซึ่งหากคิดสัญลักษณ์ยากนักก็จะเกิดปัญหาที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ คือ คนรุ่นหลังมักจะตีความมั่วเอาเอง ยกตัวอย่างเช่นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่กลางถนนราชดำเนินที่จะไปยังสนามหลวงนั่นนะครับ มีสัญลักษณ์ซ่อนอยู่เต็มไปหมด ต้องเอาเทปวัดระยะหรือตลับเมตรไปทำการวัดความยาว ความสูง และเครื่องคิดเลขไปบวกลบจำนวนปืนใหญ่โบราณที่ฝังเอาปากกระบอกลงดินแล้วค่อยๆ อนุมานเอาก็จะได้คำตอบว่าสัญลักษณ์ของอนุสาวรีย์ก็เกี่ยวกับวันเดือนปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทั้งนั้นแหละ

ขอแถมเรื่องที่ผู้เขียนชอบมากเป็นการส่วนตัวคือ ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอรรถาธิบายเรื่องเจดีย์ตามแบบสัญลักษณ์ศาสตร์ ไว้ดังนี้

"เจดีย์เป็นเครื่องแสดงปรัชญาทางพุทธศาสนา: ฐานเขียงแสดงลักษณะของโลก บัว 3 ชั้นคือภูมิ 3 ปล้องไฉนเป็นชั้นของสวรรค์ ลูกแก้วเป็นอรูปพรหม หยาดน้ำค้างเป็นพระนิพพาน"

เจดีย์แห่งหนึ่งในกรุงเนปิดอว์ ของเมียนมาStanley Chou/Getty Imagesตั้งตระหง่าน: เจดีย์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักสถานที่หนึ่ง ซึ่งองค์นี้ตั้งอยู่ระหว่างศูนย์กีฬาวัณณะเต้ะดิและศูนย์กีฬาเซ่หย่าตี่ริในกรุงเนปิดอว์ ของเมียนมา

สืบย้อนไกลถึงปกรณัมกรีก

คราวนี้ก็ต้องอ้างอิงวิชาประวัติศาสตร์ด้วย กล่าวคือ หัสเดิมเริ่มแรกหากเราเอาประเทศกรีซเป็นที่เริ่มแรกของการกีฬา โดยโมเมตามที่ฝรั่งเขาว่าตำนานของกีฬาโอลิมปิกที่ว่ากันว่าเริ่มในกรีซอย่างว่า

ชาวกรีกโบราณเขาชอบเล่นกีฬาประเภทกรีฑากันเป็นส่วนใหญ่ คือ ขว้างจักร พุ่งแหลน วิ่งเร็ว วิ่งทน แล้วก็มวยปล้ำ คนที่ชนะเลิศก็ได้มงกุฎที่ทำด้วยกิ่งใบมะกอกฝรั่ง (ไม่ใช่ต้นมะกอกน้ำอย่างบ้านเรา) ก็แค่นั้นเอง

ภาพจากหนังสือพิมพ์ยุคเรอเนสซองส์ตอนปลาย แสดงให้เห็นถึงผู้คนที่กำลังชมมวยปล้ำในการแข่งขันโอลิมปิคสมัยโบราณHulton Archive/Getty Imagesชมมวยปล้ำ: ภาพจากหนังสือพิมพ์ปลายยุคเรอเนสซองส์หรือต้นสมัยใหม่ แสดงผู้คนที่กำลังชมมวยปล้ำในการแข่งขันโอลิมปิคโบราณราว 774 ปีก่อนคริสตศักราช โดยมีรูปปั้นเทพเจ้าซูสขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ส่วนข้อความภาษาเยอรมนีด้านล่างบรรยายเกี่ยวกับประวัติ ลักษณะการจัดงาน และการจัดตารางการแข่งขัน

เขามีตำนานเล่ากันว่ามีการแข่งขันกันระหว่างเทพโปไซดอน(เทพแห่งมหาสมุทร)กับเทพอะพอลโลว่าจะหาของวิเศษอะไรให้กับโลกที่ดีกว่ากันได้ โดยเทพโปไซดอนได้สร้างม้าขึ้นมาจากน้ำทะเล ซึ่งม้าคือสัตว์ที่มีประโยชน์มากทีเดียว นอกจากเอาไว้ขี่ไปไหนมาไหนได้สะดวกรวดเร็วแล้ว เวลาขี่ม้าออกสงคราม หัวม้ากับคอม้าก็จะบังผู้ขี่เอาไว้จากอาวุธนาๆ ชนิดโดยอัตโนมัติ แถมยังใช้บรรทุกของได้อีก

ส่วนเทพอะพอลโล (เทพแห่งดวงอาทิตย์) ได้สร้างต้นมะกอกฝรั่ง (Olive tree) ซึ่งใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เป็นพืชเศรษฐกิจของพวกกรีซและชาวยุโรปใต้รวมไปถึงตะวันออกกลางเลยทีเดียว เทพอะพอลโลก็เลยได้รับการตัดสินจากทวยเทพให้ชนะไป  ดังนั้นกิ่งใบมะกอกฝรั่งจึงมาเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะในการแข่งขัน

พูดก็พูดเถอะมงกุฎกิ่งมะกอกมันก็มีความหมายแห่งชัยชนะดีอยู่หรอกในตำนาน แต่มันออกจะกระจอกเกินไปในโลกแห่งความจริงเพราะมงกุฎกิ่งมะกอกมันจะอยู่ได้นานสักกี่วันกันไม่คุ้มกับที่อุตส่าห์ฟิตตัวลำบากยากเย็นเกือบเป็นเกือบตาย พอชนะเลิศแล้วก็ได้แค่มงกุฎกิ่งมะกอกมันก็ไม่ไหว จึงเริ่มมีการหารางวัลชนะเลิศที่มันค่อยสมน้ำสมเนื้อแต่มีความหมายที่พอรับกันได้ก็เลยเริ่มคิดกัน ก็พวกคนกรีกนั่นแหละ

นัยยะความเป็นหญิง

ที่มาตกลงเห็นดีเห็นงามว่ารางวัลชนะเลิศนี่น่าจะเป็นถ้วยก็ต้องดูที่ความหมายนะครับ โลกของเรานี่ถือว่าเป็นเพศหญิงซึ่งทั้งทางตะวันออกและทางตะวันตกก็เห็นพ้องต้องกันคือเรียกเป็นแม่พระธรณีและ Mother Earth คือยกให้เป็นแม่ของทั้งสองซีกโลกเลย

อีทีนี้ถ้วยนี่เป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิง เพราะรูปทรงถ้วยเป็นรูปทรงเดียวกับมดลูก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการให้กำเนิด และการเอาโลหะอันมีค่าเช่นแร่เงินมาทำเป็นถ้วยรางวัลชนะเลิศก็ดูออกจะสมศักดิ์ศรีเป็นการให้เกียรติเหมือนสมัยนี้คนที่เก่งจัดๆ หรือดีเด่นในทางใดทางหนึ่งเค้าก็ยกให้เป็น "ตัวแม่" แบบนี้ละมังครับ นอกจากนี้ การที่ถ้วยรางวัลผลิตจากแร่มีค่าก็ยังมีความยั่งยืนเอาไว้อวดชาวบ้านได้ชั่วลูกชั่วหลาน

 นิโกลา เมกติก และเวสลีย์ โคลฮอฟ ถือถ้วยรางวัลรายการ Nitto ATP World Tour FinalsClive Brunskill/Getty Imagesชนะคู่: นิโกลา เมกติก จากโครเอเชีย และ เวสลีย์ โคลฮอฟ จากเนเธอร์แลนด์ ถือถ้วยรางวัลหลังจากเอาชนะคู่ของ เยือร์เกน เมลเซอร์ จากออสเตรีย และเอดูอาร์ โรเชร์-วาสแลง จากฝรั่งเศส ในรอบชนะเลิศการแข่งขัน Nitto ATP World Tour Finals ที่สนามโอทูอารีนา ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร วันที่ 22 พ.ย. 2563

ว่าไปอีกทีถ้วยก็เป็นสัญลักษณ์ของดวงจันทร์ซึ่งมีเทพไดแอนาผู้เป็นเจ้าแห่งยามค่ำคืนและเทพีแห่งการล่าสัตว์ซึ่งเป็นน้องสาวของเทพอะพอลโลอีกด้วย การเปลี่ยนรางวัลจากช่อมะกอกมาเป็นถ้วยก็เข้าทำนองว่าเปลี่ยนจากสัญลักษณ์ของพี่ชายมาเป็นสัญลักษณ์ของน้องสาวก็คงพอจะรับได้นะครับ

นี่ถือว่าเป็นเรื่องของกรีกโบราณซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของอารยธรรมตะวันตกในแง่ของมนุษย์นิยม เนื่องจากเทพเจ้าของกรีกก็เหมือนมนุษย์นั่นแหละเพียงแต่เป็นอมตะคือไม่ตายแต่มีกิเลสมากมายเป็นต้นแบบของมนุษย์เราโดยแท้

คงพอสรุปได้แล้วนะครับว่า ทำไมจึงแจกถ้วยในการแข่งขันกีฬา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook