เปิดอกคุย "หนุ่ม กรรชัย" ใช้ชีวิตบนคำวิจารณ์ และเส้นทางสื่อสไตล์ตัวพ่อ

เปิดอกคุย "หนุ่ม กรรชัย" ใช้ชีวิตบนคำวิจารณ์ และเส้นทางสื่อสไตล์ตัวพ่อ

เปิดอกคุย "หนุ่ม กรรชัย" ใช้ชีวิตบนคำวิจารณ์ และเส้นทางสื่อสไตล์ตัวพ่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรียกว่ามาแรงสุดๆ ในวงการสื่อ สำหรับชื่อของ นักแสดง-พิธีกรชื่อดัง หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย ที่หันเหจากเส้นทางการเป็นนักแสดงสู่การเป็นพิธีกรเต็มตัว ซึ่งเจ้าตัวใช้เวลาพิสูจน์ฝีมือผ่านคำวิพากษ์วิจารณ์มากมาย จนตอนนี้หนุ่มได้พารายการ "โหนกระแส" ทะยานขึ้นแท่นรายการสุดฮอต เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้คนที่เดือดร้อนทุกแวดวง ทุกระดับ ที่ได้สลับสับเปลี่ยนกันมาเปิดเผยเรื่องราวของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านธรรมดา คนดัง หรือ คนในวงการไหนๆ ที่กำลังมีประเด็น ก็ไม่พลาดที่จะต้องมานั่งเคลียร์ใจกันในรายการ

ฮอตแบบฉุดไม่อยู่ขนาดนี้ sanook.com ขอบุกไปหาพิธีกรตัวพ่อ หนุ่ม กรรชัย เพื่อพูดคุยถึงเส้นทางการทำงานบนคำวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ความกดดันของการเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ที่เดือดร้อน และค้นความหมายของคำว่า "สื่อ" สไตล์ กรรชัย ว่าเป็นแบบไหน พร้อมกับเปิดเรื่องราวบทบาทใหม่ในชีวิตการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองว่าเป็นยังไงบ้าง

ตอนนี้อยู่ในวงการมากี่ปีแล้ว?

"อู้หู! จริงๆ ไม่เคยมีใครถามเลยนะ น่าจะประมาณสัก 30 ปี เริ่มจากเล่นละครเรื่องแรกกับทางช่อง 3 ถ่ายเรื่องแรกเลย คือ เรื่อง "เดือนดับที่สบทา" แต่ได้ออนแอร์เรื่องแรก คือ เรื่อง "เขาวานให้หนูเป็นสายลับ" 

เรามาเริ่มต้นกับงานในวงการบันเทิงจากช่องทางไหน?

"ตอนนั้นผมได้รู้จักกับนักแสดงผู้หญิงท่านนึง เป็นอดีตเพื่อนสนิท ผมก็ไปรับไปส่งเขา แล้วบังเอิญได้เจอ คุณ จิ๋ม-มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช แกเลยบอกให้เราลองมาเล่นละครดู มาทดลองดูหน่อย ตอนแรกผมก็หนีเพราะไม่กล้า แต่ทางพี่จิ๋มแกส่งบทมาให้ที่บ้าน บอกว่ายังไงก็ต้องเล่นเพราะพรุ่งนี้จะถ่ายแล้ว เราก็ อ้าว! สุดท้ายก็เลยลองดู" 

"จำได้เลยวันแรกไปถ่ายที่เขาดิน คนอื่นเขาอาจจะไหว้พระ ไหว้ศาล หรือ ไหว้อะไรก็แล้วแต่ แต่ผมไหว้ต้นไม้ที่เขาดิน เป็นการเบิกฤกษ์ (หัวเราะ) พี่จิ๋มแกให้ไปจุดธูปไหว้กับต้นไม้ขอให้ทำงานราบรื่น ประสบความสำเร็จ พอเราลองเล่นแล้วพี่จิ๋มแกก็บอกว่า เออ ก็เล่นได้นิ ก็เลยให้เล่นยาวๆ เลย ในเรื่อง เขาวานให้หนูเป็นสายลับ ก็เลยเริ่มเล่นละครตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมาครับ"

จากนักแสดง จุดไหนทำให้เราหักเหมาทางสายงานพิธีกร และ งานข่าว?

"มันเริ่มมาเป็นสเต็ป เป็นขั้น เป็นตอน ผมได้รับโอกาสจากทางช่อง 3 ที่เป็นเหมือนบ้านของผม เริ่มจากละคร และ อยู่กันยาวมา แต่เป็นคนเดียวในยุคนั้นที่ไม่ได้เซ็นสัญญา ก็เลยมีแหกคอกไปเล่นช่องอื่นบ้าง และหลังๆ เริ่มหลุดไปไกล แต่สำหรับช่อง 3 ผมไม่ใช่ได้รับโอกาสแค่งานละคร เพราะได้รับโอกาสเป็นพิธีกรครั้งแรกจากช่อง 3 ด้วย คือ รายการ "ดาวล้านดวง" ของ  พี่ไก่ วรายุฑ หลังจากนั้นก็ได้ทำรายการกับที่อื่นๆ ช่องอื่นๆ เป็นการสะสมประสบการณ์ เรียกว่าเวลาผ่านไปเป็นสิบๆ ปี จนทำรายการมาแทบจะทุกรูปแบบแล้ว"

"สุดท้ายผมมาค้นพบตัวเองตอนที่ผมตัดสินใจเลิกเล่นละคร เพราะค้นพบว่าเราคลิกกับงานพิธีกร การสัมภาษณ์คนที่มีประเด็นในกระแสสังคม เรารู้สึกว่าสิ่งนี้แหละเป็นสิ่งที่เรากำลังค้นหา ก็เลยตัดสินใจเลิกเล่นละครมามุ่งทำรายการอย่างเดียว แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ ในรายการต่างๆ ส่วนมากจะเป็นรายการแนวทอล์กธรรมดา แต่หลังๆ จะเริ่มเป็นฮาร์ดทอล์ก อย่างรายการ "ปากโป้ง" เป็นต้นมา"

"และได้รับโอกาสอีกครั้งจากทางช่อง 3 ให้ได้ทำรายการ "โหนกระแส" ตอนแรกอยู่ช่อง 28 ซึ่งก็มีคนชื่นชอบ พอช่อง 28 หายไป ก็ได้ย้ายมาอยู่ช่อง 33 แต่ก่อนหน้านั้นก็ได้โอกาสครั้งสำคัญอีกครั้งในการรับหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวของ "เที่ยงวันทันเหตุการณ์" สำหรับผมการเป็นพิธีกร กับการเป็นผู้ประกาศข่าวมันต่างกันมาก พูดภาษาชาวบ้านเลย คือ การสัมภาษณ์คน คือ การให้คนอื่นเขามาเล่าให้เราฟัง เราก็ฟังเขา ถามเขา แต่การเป็นผู้ประกาศข่าว คือ การเอาเรื่องของเขาไปเล่าให้คนอื่นฟัง ตอนแรกๆ ผมก็ไม่ทำนะ ผมเป็นคนชอบการสัมภาษณ์คน เพราะผมเป็นคนเ-ือก อยากฟังเรื่องโน้นเรื่องนี้ พอวันนึงได้มาทำโหนกระแสมันเลยกลายเป็นตัวเรามากกว่า เพราะเราก็ฟังเขาและถาม ถามแบบที่เราไม่รู้ ถามแบบที่เราอยากจะถาม ไม่ต้องมีชั้นเชิง"

"ผมอาจจะโชคดีที่ว่าผมไม่ใช่คนข่าวมาตั้งแต่แรก เราเป็นนักแสดง เป็นพิธีกร เป็นคนที่คนเคยเห็นเราทำให้คนรู้สึกเข้าถึงเราง่าย ผมรู้สึกว่าเขาไว้ใจผมว่าผมคือคนของเขา เวลาเราคุยกับเขาเหมือนเป็นการละลายพฤติกรรมกัน ทำให้การพูดคุยมันง่ายอะไรแบบนั้นมากกว่าครับ"

พอตัดสินใจมาเต็มตัวด้านนี้ ผลตอบรับมายังไงบ้าง?

"ในเรื่องของการสัมภาษณ์ผมว่าผมไม่มีปัญหา เพราะอย่างที่บอกผมเป็นคนชอบเ-ือก แต่ละครั้งที่ถาม ผมถามด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถามเพื่อให้สิ้นสงสัย บางคนอาจจะรู้สึกว่าทำไมถึงถามแบบนั้น พิธีกรโง่เหรอ จริงๆ แล้ว ผมต้องบอกว่า

"พิธีกร คือ คนที่ต้องโง่ที่สุด พิธีกรไม่จำเป็นต้องฉลาด คนที่สัมภาษณ์คนไม่จำเป็นต้องฉลาดนะ คุณจำเป็นต้องรู้ แต่ไม่จำเป็นต้องรู้มากกว่าแขก ต้องให้เขาพูด ให้เขาคุยกับเรา ถ้ารู้ไปหมดก็ไม่ต้องเอาเขามาคุยสิ ก็เล่าเองไปเลย" แต่บางทีเราเห็นพิธีกรหลายๆ ครั้งเป็นแบบนั้น คือ รู้ข้อมูลของเขา และพยายามอวดอ้างว่ารู้ ผมว่าคนที่จะประสบความสำเร็จในการสัมภาษณ์คนได้จริงๆ คือ คนที่ไม่รู้อะไรเลยมากกว่า"

กว่าจะจับจุดได้ล้มลุกคลุกคลานมาเยอะไหม?

"แน่นอน สำหรับผม ทุกวินาทีในการสัมภาษณ์ระหว่างผมและแขกรับเชิญมัน คือ ประสบการณ์ มีทั้งผิดและถูก ทั้งเคยถูกด่า ถูกวิจารณ์ ทำไมถามแบบนั้น ทำไมถามแบบนี้ แต่ในใจผมคิดแค่ว่า "ผมถามเเพื่อให้สิ้นสงสัย"  

"แต่ในบางเรื่อง เช่น มีแม่คนหนึ่งที่ลูกเพิ่งเสียชีวิต แล้วรายการต้องเปิดคลิปเหตุการณ์แล้วถามเขาว่า นี่ใช่ไหมครับ วินาทีที่ลูกคุณถูกรถชนมา ถ้ามันต้องทำแบบนั้นแล้วเราทำ เท่ากับเราลืมอะไรรู้ไหม เราลืมนึกถึงความรู้สึกของคนที่เขาเพิ่งเสียลูกไป และสิ่งที่เขากำลังดูในคลิปนั่น คือ ลูกเขานะ มันเป็นการตอกย้ำความรู้สึกของเขา แต่สิ่งที่ผมต้องทำ คือ เราถามเขาเลยว่า คุณดูได้ไหม ถ้าคุณดูไม่ได้ผมไม่เปิด"

"เราต้องถามความสมัครใจเขา ผมต้องแคร์ความรู้สึกคนที่มานั่งคุยกับเราเป็นอันดับหนึ่ง ผมไม่ได้เรทติ้งจากคลิปนี้ ไม่เป็นไร แต่คนที่มานั่งกับผมเขาต้องสบายใจ เราไม่สามารถทำร้ายจิตใจเขาได้ สิ่งเหล่านี้ คือ ประสบการณ์ที่ผมได้เรียนรู้มา เพราะบางคนไม่ได้คิดแบบนั้น บางคนคิดแค่ว่า ถามไปเลย ขยี้ไปเลย ให้คนดูเห็นว่าคนนี้น่าสงสาร เรียกดราม่า เรียกเรทติ้ง สำหรับผมผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ สำหรับผมมันต้องใจเขาใจเรา"

หลายๆ กรณีเป็นความขัดแย้งของผู้คน เคยมีกรณีที่ความขัดแย้งส่งผลกระทบมาถึงตัวเราไหม?

"ก็มีนะ แต่ผมเชื่อว่าผมก็มีเจตนาที่ดี การที่ผมให้คนสองคนมาคุยกันในรายการ เจตนาเราไม่ได้พาเขามาเพื่อทะเลาะกันอยู่แล้ว ต้องหาจุดกึ่งกลาง มานั่งคุยกันว่าใครมีข้อมูลยังไง สุดท้ายทะเลาะแล้วคุณสามารถอโหสิกรรมให้กันได้ไหม แต่เรื่องกฎหมายต้องเป็นไปตามกฎหมายนะ เพราะผมไม่ใช่ศาลเตี้ย มันต้องมีทางลง ไม่ใช่ว่าพาคนสองคนมานั่งทะเลาะกันหน้าจอแล้วก็จบไม่ได้ ปล่อยให้ค้างคาและสร้างความเกลียดชังเพิ่มขึ้น แบบนั้นผมจะไม่ทำ"

ทำรายการจนถูกฟ้องร้องก็มี?

"มี ผมก็ถูกฟ้องต้องไปขึ้นศาล (ยิ้ม) จริงๆ ต้องบอกว่าผมก็ต้องทำใจประมาณหนึ่ง เพราะรายการโหนกระแสเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน เพราะฉะนั้นเวลามีคนเข้ามาร้อง มาขอความช่วยเหลือ เราก็ต้องให้เขามาพูด แต่บางครั้งคู่กรณีเขาก็ไม่ได้มา แต่เราบอกเสมอว่าให้เขามาทีหลังก็ได้ แต่บางทีเขาไม่มาแต่เลือกที่จะไปฟ้องร้องเรา แต่เราไม่ได้มีเจตนา เราไม่ได้โกรธเกลียดอะไรเขามาก่อน แต่คนที่เข้ามาขอความช่วยเหลือเขาเดือดร้อนมา เขามาขอให้เราช่วย แต่สุดท้ายแล้วถ้าสิ่งที่เขาบอกไม่เป็นความจริง คุณก็เข้ามาแก้กับเราได้ ทุกครั้งผมจะพยายามไม่เอ่ยชื่อ เพราะถ้าผมมีเจตนาที่จะเล่นงานเขาจริงผมต้องเอ่ยชื่อเลย แต่ผมไม่ ผมก็พยายามเซฟทุกอย่าง"

เที่ยงวันทันเหตุการณ์เที่ยงวันทันเหตุการณ์

การเป็น "สื่อ" สไตล์ "กรรชัย" เป็นแบบไหน?

"ผมว่าการเป็นสื่อที่ดีมันไม่ใช่แค่การเป็นสื่อกลางอย่างเดียว ในบางเรื่องอาจจำเป็นที่จะต้องมีจริยธรรมของความเป็นมนุษย์ที่จะสามารถช่วยเหลือคนบางคนได้ ถึงแม้เราไม่สามารถช่วยคนทั้งประเทศ หรือ ทั้งโลกได้ เพราะเราไม่ใช่ซูเปอร์แมน แต่เรื่องบางเรื่องที่เราคิดว่าเราช่วยเขาได้ ถ้าเราช่วยแล้วมันจะทำให้อะไรมันดีขึ้น ชีวิตเขาดีขึ้นมาได้บ้างไม่มากก็น้อย ถ้าช่วยได้เราก็ช่วย" 

"ผมเคยมีกรณีที่โดนคนมาว่าว่า "สื่อเป็นสื่อกลางได้ แต่เป็นคนกลางไม่ได้"  เขาก็ด่าผมในโซเชียลต่างๆ ผมก็รู้สึกนะ แต่ผมคิดในใจแค่ว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เราผ่านไปเห็นแล้วเรารู้สึกว่าเราช่วยได้ มันไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง"

"อย่างกรณีของ "แพรวา" ที่ขับรถชนบนโทลเวย์ ทางผู้เสียหายต้องการเงินเยียวยาครอบครัวของเขา ปรากฎว่าครอบครัวแพรวาเขาติดต่อผมมาให้เป็นสื่อกลางให้ในการเจรจา ซึ่งผมยินดีนะ แต่จะให้ผมเป็นแค่สื่อกลางก็ไม่ได้ คุณต้องทำตามกระบวนการ คือ เยียวยาผู้เสียหายด้วย ซึ่งทางครอบครัวแพรวาเขาบอกว่าเขาไม่มี ผมก็เลยถามเขาว่ามีที่ดิน มีบ้านไหม เขาก็บอกว่ามี ผมก็เลยเสนอว่าถ้าอย่างนั้นเอาที่มา เดี๋ยวผมขายให้" 

"ตอนนั้นถ้าจำได้ก็ คือ ผมพยายามเอาที่ดินครอบครัวแพรวาไปเร่ขาย โดยผมไม่ได้ค่านายหน้านะ แต่สิ่งที่ผมต้องการ คือ ปลายทาง เพราะถ้าที่ดินนี้ขายได้ คนที่ได้ประโยชน์ที่สุด คือ ผู้เสียหาย ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผมก็พยายาม แต่สุดท้ายในเมื่อขายไม่ได้ ผมก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นคุณไปกู้หนี้ยืมสินมา เอาที่ดินไปวางกับใครก็ได้เอาเงินมาก่อน เขาก็ทำตามในสิ่งที่ผมขอ จนกระทั่งเขาหาเงินมาได้ 50 ล้าน และเขาบอกว่าไหนๆ ผมเข้ามาช่วยแล้ว ขอให้ช่วยเป็นคนกลางเอาเงินไปให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตหน่อย ผมก็ต้องเอาเงินจำนวนนั้นไปวางที่ศาล แต่ก็มีข่าวออกมาผมเป็นนั้นเป็นนี่ ต่างๆ นานา" 

"ผมก็มานั่งคิดในใจนะว่า เขาขอให้ผมช่วย แต่มีคนมาบอกผมว่า เป็นสื่อกลางได้แต่เป็นคนกลางไม่ได้ ผมก็แปลกใจกับคำนี้ ผมงงว่า ถ้าวันนั้นผมเป็นแค่สื่อกลางเหมือนกับที่คุณนิยามไว้นั่นหมายความว่าผมไม่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้เลย"

"สิ่งที่ผมทำ คือ ผมไปขอเขาให้เขาทำวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้เงินมาเยียวยาผู้สูญเสียทุกอย่างจะได้จบ ถ้าวันนั้นผมไม่ทำอะไรจะเกิดขึ้นรู้ไหม เขาต้องไปฟ้องกันใหม่ ไปไล่ยึดทรัพย์ อีกนาน พูดเลยว่าถึงวันนี้ยังไม่รู้ว่าครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินหรือยัง เพราะฉะนั้นถ้าย้อนกลับไปที่คำถามที่ว่า คำว่าสื่อที่ดีสำหรับผมคืออะไร ผมว่ามันต้องไม่ใช่การเป็นเพียงแค่สื่อกลางอย่างเดียว ถ้ามีโอกาสช่วยคนได้มันก็ต้องช่วยให้สุดทาง"

ระหว่างทางที่เราเป็นกระบอกเสียง เอาตัวเองไปช่วยคน ก็มีฝ่ายที่เข้ามาด่า ตอนนั้นเรารู้สึกยังไง?

"ด่าก็ด่าไป เมื่อก่อนผมเคยแคร์นะ แต่แคร์แล้วก็ไม่ได้สร้างความสุขให้กับชีวิตผม ถ้าเราทำอะไรแล้วเรารู้สึกสบายใจเราก็ทำ คิดซะว่าผมเป็นคนชอบเ-ือกก็แล้วกัน"

ในฐานะ "สื่อ" เราต้องระวังเรื่องอะไรเป็นพิเศษไหม?

"สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุด คือ "การชี้นำ" เพราะเวลาเราเป็นสื่อแล้ว การจะทำ หรือ นำเสนออะไรสักอย่างออกไปสังคมเขาจะจับตามอง มันต้องมีความน่าเชื่อถือ เพราะถ้าหากเขาเชื่อถือเราแล้ว แล้วเราไปชี้นำบางสิ่งบางอย่างให้กับสังคม คนที่เขาเชื่อเราอยู่ เขาจะไปทำตามในสิ่งที่เราชี้นำ ซึ่งอาจจะไปส่งผลไม่ดีให้กับชีวิตของเขา นี่คือสิ่งที่ผมต้องระวังมากที่สุด"

"เอาง่ายๆ ถ้าวันนึงผมต้องเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับอะไรสักอย่าง ผมต้องดูดีๆ เลยว่าสิ่งนั้นมีโอกาสจะส่งผลเสียอะไรให้กับสังคมบ้าง อย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ติดต่อเข้ามาให้รีวิวผมต้องลองใช้ก่อน ถ้ามันดี ใช้ได้ผลผมจะรีวิว ไม่งั้นถ้าผมเห็นแก่เงินผมก็คงรับหมดทุกสินค้าที่ติดต่อเข้ามาเป็นร้อยๆ ตัว เรามาอยู่ตรงนี้แล้ว เป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนก็ไม่ควรจะเป็นกระบอกเสียงในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร"

รายการโหนกระแสรายการโหนกระแส

จากคนที่โดนด่า โดนวิพากษ์วิจารณ์มามากมาย จนตอนนี้ ไม่ว่าจะเกิดกระแสอะไรขึ้น คนจะคิดถึง"หนุ่ม กรรชัย" เป็นอันดับแรก เรารู้สึกยังไง?

"ผมก็ต้องขอบคุณครับที่คิดถึงผม ผมก็ไม่คิดว่าผมจะมาถึงวันนี้เหมือนกัน แต่ผมก็ต้องบอกแบบนี้ครับว่า ผมก็เป็นแค่คนคนนึงผมไม่สามารถช่วยเหลือทุกๆ คนในประเทศนี้ได้ ผมไม่สามารถช่วยคนแบบที่เกินกำลังความสามารถของผมได้ อย่าคาดหวังกับตัวผมว่าผมต้องช่วยเหลือใคร เพราะมันเป็นการสร้างความกดดันให้ผมด้วย แต่ว่าอันไหนที่ผมรู้สึกว่าผมทำให้ได้ แก้ไข หรือช่วยได้ผมก็จะช่วยเต็มที่"

"แต่ถ้าบางอย่าง เช่น กรณีเรื่องที่ผมช่วยค่าเทอมลูกของ "ลัลลาเบล" ผมแค่รู้สึกว่าผมทำข่าวลัลลาเบลเยอะมาก ผมเอ่ยชื่อเขาติดๆ กันทุกวันหลายอาทิตย์มาก ภาพผู้หญิงคนนึงโดนลากขึ้นลิฟท์ หมดสติ มันออกจากปากผมไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ถึงแม้จะเป็นข่าว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่ผมก็รู้สึกไม่ดีเหมือนกัน"

"วันนึงผมรู้ว่าครอบครัวเขาเดือดร้อน ลูกเขาต้องเรียน ในขณะที่แม่ไม่อยู่แล้ว ที่บ้านไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ผมก็ให้เงินเขาไป 6 หมื่น เป็นค่าเทอมปีแรก ปีต่อไปถ้าต้องการค่าเทอมให้คิดถึงผมเป็นคนแรก ผมจะจ่ายให้เอง คนถามว่า "มึงทำไปทำไม อยากเอาหน้าเหรอ"  ผมบอกไม่ใช่ ผมไม่เคยคิดจะบอกใคร แต่บังเอิญว่าย่าเขาเป็นคนบอกเรื่องนี้ในเฟซบุ๊ก คนถึงได้รู้"

"ที่ผมให้เขาเพราะผมคิดว่าผมได้จากลัลลาเบลมาเยอะมาก ทั้งเรทติ้ง ทั้งคนดู และอะไรๆ ก็แล้วแต่ แล้ววันนึงถ้าผมจะคืนให้ลูกเขาบ้างมันแปลก หรือ มันผิดเหรอ เงิน 6 หมื่นไม่ได้ทำให้ชีวิตมล่มจม แต่มันจำเป็นสำหรับเด็กคนหนึ่ง สิ่งที่ผมยึดไว้ในชีวิตอย่างหนึ่งตั้งแต่เด็กจนโต และสอนลูกผมเสมอ คือ ชีวิตคนเรามันได้อย่างเดียวไม่ได้หรอก มันต้องคืนกลับไปด้วย เราได้อะไรมา เราก็ต้องคืนกลับไปห้กับคนอื่นๆ ในสังคมด้วย"

หนุ่ม กรรชัยหนุ่ม กรรชัย

สิ่งที่ทำ ที่เป็นอยู่ตอนนี้ตอบโจทย์ชีวิตเราหรือยัง?

"ผมชอบนะ ผมชอบในสิ่งที่ผมทำอยู่ ถึงมันจะเป็นเพียงกระบอกเสียงเล็กๆ ที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมาย แต่อย่างน้อยผมก็ภูมิใจกับมันที่เราสามารถช่วยเหลือได้ ผมไม่ได้หวังแค่จะทำข่าวอย่างเดียวแล้วผ่านไป หรือแค่จะเอาเรทติ้งอย่างเดียวแล้วไม่มีจุดจบให้กับมันไปวันๆ ถ้าอันไหนที่ผมทำแล้วมันจบเรื่องให้ผู้เสียหายเขาได้ ผมก็จะทำ"

"ถามว่างานที่ทำตอนนี้ คือ สิ่งที่ใช่สำหรับตัวเองแล้วใช่ไหม ผมคงตอบไม่ได้ แต่ผมอยากจะบอกไปถึงหลายๆ คนว่า งานบางงาน หรือ เรื่องบางเรื่องเราอาจจะไม่ถนัดมันเลย แต่วันนึงในเมื่อเราต้องมาทำมัน สิ่งหนึ่งที่อยากจะแนะนำทุกคนก็ คือ เราต้องศรัทธากับสิ่งที่เรากำลังจะทำมัน อย่าไปคิดแค่ว่าทำแค่ผ่านๆ ไป เมื่อไหร่ที่คุณศรัทธากับสิ่งที่คุณต้องทำ คุณจะได้สิ่งตอบแทนกลับมาจากสิ่งที่คุณต้องทำ"

นอกจากบทบาทการเป็นกระบอกเสียงให้คนเดือดร้อนแล้ว ตอนนี้มีอีกหนึ่งบทบาทนั่น คือ การเป็นเจ้าของธุรกิจ?

"ธุรกิจใหม่ที่ทำมันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับยาสระผม ที่ผมมองว่าเป็นเหมือนบุพเพสันนิวาส คือ ตอนแรกมีคนติดต่อผมให้ไปเป็นพรีเซนเตอร์ยาสระผมยี่ห้อหนึ่ง ผมก็ไม่ได้สนใจ เพราะอย่างที่บอกว่า ผมจะเป็นคนระวังเรื่องการชี้นำสังคมมาก อะไรที่ผมไม่เคยใช้ ไม่เคยทดลอง ผมจะไม่รับ ไม่เอาไว้ก่อน ผมก็ปฏิเสธไป ก็มีคนโทรมาหาผมเยอะมาเลยว่าทำไมไม่รับอย่างงั้นอย่างงี้"

"จนกระทั่งมีผู้ใหญ่ที่ผมเคารพท่านหนึ่งโทรมาว่าทำไมไม่ลองคุยเรื่องยาสระผม ผมก็คิดว่า ไอ้ยาสระผมนี่มันอะไรนักหนาวะ (หัวเราะ) ทำไมต้องมีคนโทรมาเยอะแยะ ก็ผมบอกแล้วว่าไม่ชอบชี้นำสังคม แต่ที่บอกว่ามัน คือ บุพเพสันนิวาสเพราะหลังจากผมปฏิเสธไปแล้ว ผมต้องกลับไปดูว่ามันคือยาสระผมอะไร"

"ปรากฏว่ามันเป็นยาสระผมที่ชื่อว่า "ไลโอ" มัน คือ ยาสระผมที่ผมใช้มาก่อนตั้งนานแล้ว ใช้มาตั้งแต่ตอนเด็กๆ เพราะจริงๆ มีมา 18 ปีแล้วนะ ตอนวัยรุ่นไปซื้อจากร้านขายยามาใช้ พอเราใช้แล้วเราชอบ แต่มันหายไปเพราะเขาทำตลาดน้อย ก็เลยไม่รู้ว่าจะต้องหาซื้อที่ไหน ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น ในขณะที่ก็พยายามหาว่ามันหาซื้อได้จากที่ไหนอีก"

"พอวันนึงผมมาเจอมันอีกผมก็ เห้ย! มันมาได้ยังไง ก็เลยกลับไปตอบตกลงกับคนที่ติดต่อมาว่าผมจะทำ แต่ไม่ขอเป็นพรีเซนเตอร์ แต่จะขอเป็นเจ้าของ ผมต้องเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ ไม่งั้นผมไม่ทำ ที่ผมไม่อยากเป็นแค่พรีเซนเตอร์เฉยๆ เพราะผมรู้สึกว่าสิ่งที่เรามี เรามั่นใจเพราะเราใช้มาแล้ว และได้ลองเอากลับมาใช้อีกทีนึงด้วยว่ายังได้ผลเหมือนเดิมไหม ปรากฎว่าเมื่อก่อนผมเป็นคนที่ผมร่วง มันเป็นความทุกข์ใจนะ พอเอากลับมาลองใช้แล้วมันดีขึ้น ผมไม่ร่วงแล้ว ทำให้ผมยิ่งมั่นใจและขอเป็นพาร์ทเนอร์ ซึ่งเขาก็โอเค และเป็นที่มาที่ไปที่ทำให้ผมหันมาลองทำธุรกิจแบบจริงๆ จังๆ สักที"

คาดหวังกับบทบาทใหม่อย่างการเป็นนักธุรกิจของเราในครั้งนี้ไว้ยังไงบ้าง?

"ผมค่อนข้างเป็นคนที่รู้จักตัวเองดีว่า เวลาผมทำอะไรแล้วผมตั้งใจทำจริงๆ ถ้าจะไม่ทำก็ คือ ไม่ทำเลย ไม่ใช่คนที่จะมาทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ยกเว้นบางอย่างที่เราตั้งใจแต่แรกแล้วว่าจะทำแค่ก๊อกๆ แก๊กๆ ก็จะทำแค่นั้น เหมือนเป็นคนมีหลานสเต็ปในชีวิต แต่สำหรับสเต็ปของไลโอเนี้ยผมเอาจริง เพราะผมใช้แล้วผมมั่นใจ แต่ก็ต้องบอกนะครับว่า สิ่งที่ผมพูดไปทุกคนก็ต้องลองใช้ด้วยตัวเองก่อน ลองใช้แล้วสังเกตดูว่าผมที่เคยร่วงมันยังจะร่วงอยู่ไหม ใช้ได้ทั้งหญิง ชาย แล้วก็มีตัวเซรั่มด้วย"

"แต่ที่สำคัญ คือ คนที่เป็นกรรมพันธุ์ หัวล้านอยู่แล้วไม่ต้องซื้อครับเพราะใช้ไม่ได้ผล เปลืองเงินเปล่าๆ อันนี้ผมต้องบอกตรงๆ ผมไม่มานั่งโกหกแน่นอนว่าคนเป็นกรรมพันธุ์ก็สามารถใช้ได้ ผมไม่อยากตอแ-ล ผมจะบอกแค่สิ่งที่ผมเจอ สิ่งที่ใช้แล้วได้ผล แล้วผมได้ปรึกษากับเภสัชกรแล้ว เพราะไลโอเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบโดยเภสัชกรโดยตรงเลยครับ"

สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงแฟนๆ ของเราเองและแฟนๆ ของรายการโหนกระแสบ้างไหม?

"ก็อยากบอกว่าผมตั้งใจทำรายการเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับคุณๆ ทุกคนที่ดูกันอยู่นี่แหละ เพียงแต่ว่ารายการเพียงแค่ราบการเดียววันนึงออนแอร์แค่ครึ่งชั่วโมง มันอาจจะไม่สามารถซัพพอร์ตคนทั้งประเทศที่มีปัญหา หรือ แฟนๆ รายการทั้งหมดได้ แต่ผมก็พยายามที่จะนำเคสที่หนักหนาสาหัส หรือ เคสที่เราจำเป็นต้องช่วยเขาจริงๆ มาเป็นอันดับแรกๆ ก่อน ถ้าคนไหนๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือแต่เรายังไม่สามารถไปช่วยได้ผมต้องขอโทษด้วย ไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ช่วยนะครับ แต่บางครั้งอาจจะมีคนที่สาหัสกว่าเราก็จำเป็นต้องช่วยคนที่สาหัสก่อน ต้องขออภัยด้วยจริงๆ นะครับ"

"ผมก็ฝากรายการ และฝากไลโอไว้ด้วย ตอนนี้ก็มาเป็นเจ้าของธุรกิจเองแล้ว อยากจะให้ลองใช้ดูจริงๆ ถ้าใช้แล้วไม่ดีอย่าด่าผมนะครับ (หัวเราะ) เพราะผมก็แค่เป็นคนคนนึงที่อยากจะหยิบยื่นสิ่งที่ผมใช้แล้วผมว่าดีให้ได้ลองใช้กันดูครับ"

 หลังจากได้พูดคุยกับคนจริงอย่าง หนุ่ม กรรชัย แล้ว บอกได้คำเดียวว่า ตัวพ่อคนนี้สมแล้วกับที่เขาเป็นคนที่แฟนๆ ให้ความไว้วางใจให้เป็นกระบอกเสียงในวันที่เดือดร้อน เพราะนอกจากหน้าที่สื่อแล้วเขายังทำหน้าที่เป็นที่พึ่งให้ผู้ที่เดือดร้อนได้อย่างดีและรอบด้านเลยทีเดียว

อัลบั้มภาพ 35 ภาพ

อัลบั้มภาพ 35 ภาพ ของ เปิดอกคุย "หนุ่ม กรรชัย" ใช้ชีวิตบนคำวิจารณ์ และเส้นทางสื่อสไตล์ตัวพ่อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook